DELTA ทุ่มเฉียด 3,000 ล้านบาท ปักหมุดยุทธศาสตร์ดันไทยเป็นฮับอีวีโลก เปิดโรงงานใหม่แห่งที่ 8 R&D Center เจาะตลาดอาเซียน-ออสเตรเลีย รับคลื่นอุตสาหกรรมอีวี ปี 67 ตั้งกรอบลงทุน 300 ล้านเหรียญ ดันไทยเป็นฮับอีวีโลก
วันที่ 22 มีนาคม 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาในการเปิดอาคาร Delta Plant 8 และศูนย์วิจัยและการพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้า (R&D Center) ของบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ว่า เดลต้าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยโรงงานที่เปิดในวันนี้เป็นผลจากการขยายกำลังการผลิต
โดยเฉพาะในภาคยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่จะเสริมสร้างและรักษาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ตลอดจนวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ที่มุ่งขับเคลื่อน 2 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์
ได้แก่ ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) และศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) รวมทั้งบริษัทยังมีความร่วมมือกับภาครัฐผ่านโครงการพัฒนาทุนมนุษย์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยสร้างงานที่มีมูลค่าสูงและโอกาสทางธุรกิจให้กับประเทศอย่างมาก
นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) เปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่บริษัทเปิดโรงงานเดลต้าแห่งที่ 8 และศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ ณ นิคมอุตสาหกรรมบางปู มีเป้าหมายเพื่อรองรับและขยายการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของบริษัทไปยังลูกค้าระดับโลก ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเกือบ 3,000 ล้านบาท
ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ของเราจะช่วยพัฒนาเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่จะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายผลักดันเศรษฐกิจและให้ไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภูมิภาค โดยโรงงานแห่งใหม่และศูนย์วิจัยและพัฒนาทั้ง 2 แห่งนี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 30,400 ตารางเมตร
นายวิคเตอร์กล่าวว่า ตลอด 35 ปี เดลต้ามีลูกค้าระดับโลก ได้แก่ ผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำจากยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น โดยประเทศไทยนับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการผลิตสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ซี่งเรานับเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานอีวีในประเทศไทย เพราะในกระบวนการผลิต เราใช้ชิ้นส่วนจากในประเทศถึง 50% และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะขยายไปถึง 80%
ด้วยเหตุนี้การเข้ามาของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV ค่ายรถจีนเข้ามาตั้งโรงงานในไทย ประกอบกับทิศทางตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเติบโตอย่างมาก ผมคาดว่า ตลาด EV ในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะพุ่งสูงขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 10% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด จึงเป็นโอกาสในการเพิ่มกำลังการผลิต ดังนั้น โรงงานใหม่แห่งนี้จะเสริมรายได้ของบริษัทเติบโตให้เป็น 2 เท่า จากธุรกิจผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอีวี โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ล้านดอลลาร์ จาก 1,200 ล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัทมีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์การจัดการพลังงาน รวมถึงเครื่องชาร์จในตัว, ตัวแปลง DC/DC และผลิตภัณฑ์ระบบส่งกำลัง รวมทั้ง Traction inverter และ Traction motor โซลูชั่นการจัดการความร้อนและอุปกรณ์ที่ทำงานได้ด้วยตัวเอง Passive component ส่วนที่เหลือ เช่น เซมิคอนดักเตอร์เป็นการนำเข้าทั้งหมด
นายวิคเตอร์กล่าวอีกว่า บริษัทวางงบลงทุน 200-300 ล้านดอลลาร์ ในปี 2567 เพื่อก่อสร้างโรงงานใหม่และซื้ออุปกรณ์สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงลงทุนด้านเครื่องจักรอัตโนมัติ อีกทั้งอยู่ระหว่างศึกษาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) โดยเบื้องต้นคาดว่ารายได้ของบริษัทไตรมาส 1 ปี 2567 จะเติบโตขึ้นเล็กน้อย
ทว่านอกเหนือจากการลงทุนขยายกำลังผลิตแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาบุคลากรคนรุ่นใหม่ ซึ่งปีนี้ลงทุนด้านวิจัยถึง 7% เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีป้อนอุตสาหกรรมไฮเทคมากขึ้น ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย
22/3/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 22 มีนาคม 2567 )