ปตท. งัดงบลงทุน 20,000-30,000 ล้านบาท ลุย 8 โครงการปี 2567 เผยโรงงานประกอบรถ EV ฮอริษอน พลัส เสร็จปี 2568 ชี้จีนแข่งราคาทำฝุ่นตลบ เกิดตลาดเรดโอเชียน พร้อมลุยแบตเตอรี่ต่อตามแผน
วันที่ 25 มีนาคม 2567 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนการลงทุน ว่า ภายใต้เงินลงทุน 89,203 ล้านบาท ตามแผน 5 ปี (2567-2571) ซึ่งจะแบ่งเงินลงทุนไว้สำหรับปี 2567 ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท โดยจะใช้เพื่อเดินหน้า 8 โครงการ คือ
โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดเแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 หลังจากที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์มากว่า 30 ปี
โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8
โครงการท่อส่งก๊าซบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้
โครงการท่อส่งก๊าซบนบกเส้นที่ 5 ที่เหลือก่อสร้างเพียง 2-3 กิโลเมตร
โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
โรงงานประกอบแบตเตอรี่
ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3
ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3
สำหรับแผนการลงทุนทั้งหมด 5 ปีนั้น จะถูกแบ่งออกไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท หรือ 34% ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท หรือ 17% ธุรกิจธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท หรือ 14% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท หรือ 4% บริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% อีก 27,822 ล้านบาท หรือ 31%
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (INNOBIC) กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 1/2567 ปตท. ได้เริ่มลงทุนโครงการตามแผนไปแล้วส่วนหนึ่ง เช่น โรงงานประกอบรถยนต์ EV ของ บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (บริษัทลูก ปตท.) กับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (ฟ็อกซ์คอนน์) ได้เริ่มลงทุนและก่อสร้างไปแล้ว ตั้งแต่ปลายปี 2565 ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ซึ่งคาดว่าจะเสร็จปี 2568
โดยจะเป็นการเพื่อสร้างอุปกรณ์การผลิตรถยนต์ และการประกอบรถ EV ที่จะมีกำลังการผลิต 50,000 คันต่อปี และจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 คันต่อปี ที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดรถ EV ในอาเซียนเพิ่มขึ้น
เราไม่จำเป็นต้องเร่งเพราะมันต้องดูตลาด แม้ว่าตอนนี้ความต้องการรถ EV สูงขึ้นอย่างมากเทียบจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด แต่ตอนนี้เราจะเห็นว่าค่ายรถจีนเข้ามาเล่นในตลาดไทยมาก แข่งขันด้านราคาแบบฝุ่นตลบ ออกรุ่นมาให้เลือกมากถือเป็นช่วงเรดโอเชียน เราก็ต้องรอให้มันสงบลงด้วยซึ่งถึงเวลานั้น เชื่อว่าโรงงานเราก็สร้างเสร็จพอดี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนโรงกลั่น CFP ของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายกำลังการกลั่นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน
ส่วนธุรกิจใหม่ ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรม New s-curve อย่างธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) เช่น ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) รวมถึงธุรกิจค้าปลีก Non-oil ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization) ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business)
25/3/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 25 มีนาคม 2567 )