ซับเวย์สปีดธุรกิจ หลังพีทีจีคว้าสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทย เผยยุทธศาสตร์ 10 ปี ทุ่มทุน 2,300-2,500 ล้านบาท ปูพรม 500 สาขาใน 10 ปี ด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่ Fresh Forward 2.0 แห่งแรกในเอเชีย พร้อมขยาย ไดรฟ์ทรู และต่อยอดฐานสมาชิก PT Max Card กว่า 21 ล้านสมาชิกเสริมแกร่งดิจิทัล-CRM ตั้งเป้าชิงท็อป 3 ตลาด QSR ภายใน 3 ปี และรายได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทใน 10 ปี
นางสาวเพชรัตน์ อุทัยสาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลัค จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.พีทีจี (PTG) ได้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์แบรนด์ซับเวย์ (Subway) แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มใช้ยุทธศาสตร์ระยะยาว 10 ปี (พ.ศ. 2567-2576) พร้อมงบฯลงทุน 2,300-2,500 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เฉลี่ยปีละ 230-250 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาร้านซับเวย์อีก 500 สาขา หรือปีละ 50 สาขา จากปัจจุบันมี 148 สาขา
โดยเน้นขยายสาขาในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เมืองท่องเที่ยวและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ โรงพยาบาล ออฟฟิศ สนามบิน ห้างสรรพสินค้า และคอมมิวนิตี้มอลล์ รวมไปถึงสาขาในรูปแบบสแตนด์อะโลนด้วย
ทั้งนี้ ร้านซับเวย์ที่จะเปิดใหม่ภายใต้การดำเนินงานของ โกลัค จะถูกตกแต่งด้วยแนวคิดการออกแบบ Fresh Forward 2.0 ของซับเวย์ ที่จะมีการนำวัฒนธรรมไทย มาผสมผสานในการออกแบบให้ลงตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ตกแต่งด้วยแนวคิดนี้
นอกจากนี้ยังนำรูปแบบ ไดรฟ์ทรู มาใช้ด้วยเช่นกัน โดยจะเปิดซับเวย์แบบไดรฟ์ทรูสาขาแรกในประเทศไทย ภายในสถานีบริการน้ำมันเรือธงของ PT ที่อำเภอนครชัยศรี ภายในไตรมาส 4 ปี 2567 นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคในปัจจุบัน และยังคงมุ่งเน้นทำเลที่สะดวกเข้าถึงง่าย และมองเห็นเด่นชัด
การรุกขยายสาขาครั้งใหญ่ของซับเวย์ มาจากความต้องการเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง ไม่ใช่เพียงการเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แต่เรามองไปถึงตลาดแมส (Mass Market) เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าและสร้างการเข้าถึงร้านซับเวย์ โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ วัยรุ่น คนทำงาน และกลุ่มครอบครัว
นอกจากแผนการขยายสาขาเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้นแล้ว บริษัทยังปิดจุดอ่อนเดิม อย่างการที่ผู้บริโภคไม่กล้าสั่งอาหารหรือใช้เวลานาน เพราะรู้สึกว่ามีขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากความเป็นเมนู DIY ที่ให้เลือกวัตถุดิบได้เอง ด้วยการทำลิสต์เมนูยอดนิยมของซับเวย์ 9 รายการ เช่น แซนด์วิชทูน่า, ไก่เทริยากิ, สเต๊กแอนด์ชีส และอื่น ๆ เพื่อให้ลูกค้าสั่งทานได้ง่ายขึ้น
รวมถึงจะมุ่งเน้นในเรื่อง Value Campaign เพื่อขยายฐานลูกค้า และเพิ่มการกลับมาซื้อซ้ำ โดยจะเสนอขายแบบเป็นชุดหรือ Combo รวมทั้งโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของเมนู เช่น การเพิ่มเมนู Snack และ Finger Food เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทยังสร้างความแข็งแกร่งผ่านการเพิ่มช่องทาง Online, Mobile Application, Self-ordering Kiosk, QR Ordering, Order and Pick up, e-Wallet และ CRM ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ อาศัยข้อได้เปรียบที่สามารถต่อยอดฐานสมาชิกของ PT Max Card จำนวน 21 ล้านราย ซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการทำให้บริษัทรู้จักลูกค้ามากขึ้น
ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ามีรายได้แตะ 5000 ล้านบาทภายใน 10 ปี รวมถึงภายใน 3 ปี ตั้งเป้าขึ้นเป็นท็อป 3 ของตลาด QSR ในไทย จากเดิมอยู่ที่อันดับ 5-6 ของตลาดอาหารจานด่วน (QSR) มูลค่า 47,700 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 4% แบ่งเป็นตลาดไก่ทอด 58% เบอร์เกอร์/แซนด์วิช 23% และพิซซ่า 19%
ด้านนายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ย้ำว่า บริษัท โกลัค จำกัด มีแผนลงทุนในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์อื่น ๆ เพิ่มเติม นอกจากซับเวย์อีกในอนาคต ตามแนวทางผลักดันให้ธุรกิจ F&B เป็น 1 ใน 8 ธุรกิจหลักที่บริษัทตั้งเป้าเข้าลงทุนตามเป้าหมายขยายกลุ่มธุรกิจ Nonoil ให้เติบโตมากขึ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของรายได้... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/marketing/news-1551313
27/4/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 27 เมษายน 2567 )