info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.227.134.165

นับถอยหลัง 22 พ.ค. 67 วัดใจเอราวันฯ ยื่นบีโอไอลุยไฮสปีดเทรนต่อหรือพอแค่นี้

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

เดตไลน์ 22 พฤษภาคม 2567 ลุ้น “เอเชีย เอรา วัน” บริษัทลูกซีพี ยื่นขอออกบัตรส่งเสริมการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับบีโอไอ ด้าน EEC และ รฟท. เห็นตรงกันพร้อมตัดเชือกสั่งออก NTP ต้องเริ่มตอกเสาทันที หากยังไม่สามารถทำได้ คาดอาจนำไปสู่การยกเลิกสัญญา

วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 รายงานข่าวระบุว่าในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 จะเป็นวันสุดท้ายที่ทาง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท ต้องยื่นขอออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งเอราวันฯ ได้สิทธิในการก่อสร้างและลงทุนในโครงการฯ นี้มาเกือบ 5 ปีแล้ว

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ายังไม่สามารถตอบได้ว่าทางเอราวันฯ จะยื่นขอให้ออกบัตรส่งเสริมหรือไม่ ซึ่งอยากให้รอถึงวันดังกล่าวก่อน

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือไฮสปีดเทรนเป็น 1 ในอภิมหาโปรเจ็กต์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก (EEC) หลังจากได้ปลุกฟื้นการลงทุนใน 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) ขึ้นมาอีกครั้งในช่วงปี 2560 และมีกฎหมายขึ้นมาควบคุม

จากนั้นได้เดินหน้าผุดโครงการสำคัญที่จะเป็นโครงสร้างพื้นที่ของประเทศขึ้นมารองรับการลงทุน “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ที่มีมูลค่าการลงทุน 224,544.36 ล้านบาท ใช้รูปแบบการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน (PPP) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เริ่มมีการเชิญชวนผู้เข้าร่วมประมูลทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้ดำเนินงานร่วมกับเอกชนในรูปแบบ PPP-Net Cost ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ครบสัญญาทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐบาล

เมื่อเริ่มเปิดขายซองประมูลโครงการ มีเอกชนแสดงความสนใจเข้าซื้อซองประมูลทั้งหมด 31 ราย มีเอกชนยื่นข้อเสนอเป็นกิจการร่วมค้า 2 ราย จาก 8 บริษัท ซึ่งกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 70% เป็นผู้นำการประมูล, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หุ้นรวมกัน 15%, China Railway Construction Corporation Limited หุ้น 10% และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หุ้น 5% เป็นผู้ชนะการประมูล ในราคาที่ 117,227 ล้านบาท

จากนั้นจึงได้เริ่มเข้าสู่การรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยใช้ระยะเวลาการพิจารณาผ่านการเห็นชอบเพียง 2 สัปดาห์ และในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 การรถไฟแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ในเครือ ซี.พี.)

ในระหว่างที่กำลังจะเริ่มดำเนินงานตามแผนต่าง ๆ โครงการดังกล่าวกลับต้องชะงักลงด้วย บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ขอแก้ไขสัญญา ด้วยการขอขยายกรอบเวลาการทำงานออกไป เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้ผู้โดยสารในส่วนของแอร์พอร์ตลิงก์ลดลง โดยเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมาเอราวันฯ ยังขอแก้ไขสัญญาอีก 4 ข้อ ทำให้การดำเนินโครงการยิ่งล่าช้าออกไปอีก

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ให้สัมภาณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนหน้านี้ว่า ต่อให้เอราวันฯ ไม่ยื่นขอออกใบส่งเสริมกับบีโอไอ โครงการไฮสปีดเทรนก็ยังต้องมีแน่นอน แต่อาจจะล่าช้ากว่าแผนเดิมประมาณ 2 ปี เนื่องจากต้องเริ่มเปิดประมูลเพื่อหาผู้ลงทุนใหม่ หรืออาจเป็นการให้ รฟท. เป็นผู้ลงทุนเอง หากวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เอราวันฯ ยังไม่ยื่ขอออกบัตรส่งเสริมกับทางบีโอไอ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในส่วนอื่นๆ เช่น การเวนคืน การเคลียร์พื้นที่ การรื้อท่อก๊าซ สายไฟ ตามเส้นทางที่จะก่อสร้างรางของรถไฟฟ้าก็ทยอยดำเนินการ รวมถึงการมอบพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้าง

ทั้งนี้ โครงการไฮสปีดเทรน จำเป็นต้องยื่นขอการส่งเสริมและออกบัตรส่งเสริมกับทางบีโอไอตามเงื่อนไขในสัญญา

โดยเอราวันฯ ได้ทำเรื่องขอขยายเวลาแล้วครบ 3 ครั้ง ซึ่งจากการขอความเห็นกับทาง EEC และ ร.ฟ.ท. ซึ่งได้ระบุว่าความล่าช้าของโครงการจะส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน ดังนั้นจึงต้องมารอลุ้นกันว่าเอราวันฯ จะยื่นหรือไม่ และหากไม่ยื่นทาง รฟท.สามารถออหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ได้เลย หากยังไม่สามารถทำได้ก็จะนำไปสู่การยกเลิกสัญญา

19/5/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 19 พฤษภาคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS