สงครามการค้าสหรัฐ-จีน เป็นปัจจัยหลักที่ผลักให้นักลงทุนจากจีนเคลื่อนทัพออกมาขยายการลงทุนนอกประเทศ โดยเฉพาะการกระจายการลงทุนมายังอาเซียน จึงเป็นโอกาสให้กับ ไทย ในการดึงดูดเงินลงทุน
ประชาชาติธุรกิจ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเข้าเยี่ยมชม บริษัท ไมเดีย จำกัด (Midea) ทุนจากจีนที่ตัดสินใจมาปักหมุดฐานผลิตแอร์ที่ประเทศไทยเมื่อปี 2020 จนกระทั่งปัจจุบัน ไมเดียเข้าซื้อโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายแบรนด์ ทั้ง โตชิบา ฮิตาชิ และยังอยู่ระหว่างขยายฐานผลิตทั้งแอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า รวม 5 โรงงาน ใน จ.ชลบุรี ปทุมธานี กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และกำลังก่อสร้างโรงงานใหม่อีก 2 แห่งที่ จ.ระยอง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้
Vincent Cai (วินเซนต์ เจีย) กรรมการผู้จัดการ เล่าถึงภาพรวมธุรกิจ ไมเดีย กรุ๊ป เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนที่มีอายุ 60 ปี ในปี 2566 ที่ผ่านมา ไมเดียกรุ๊ปมีรายได้ 3,737 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 7.67% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 2,911 ล้านหยวน โดยมีกำไรสุทธิ 337 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 13.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 277 ล้านหยวน
วินเซนต์ เจีย
ปัจจุบันมีการจ้างแรงงาน 1.6 แสนคนทั่วโลก เป็นบริษัทที่ติดอันดับแบรนด์เทคโนโลยีที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก อันดับ 36 และอยู่ในรายชื่อ Fortune Global 500 มาเป็นเวลา 6 ปี
ไมเดีย กรุ๊ป ผลิตสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเครื่องใช้ภายในบ้านอัจฉริยะ ให้กับแบรนด์ดัง ๆ ทั่วโลก เช่น COLMO โตชิบา EUREKA Comfee เป็นต้น ผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วนในอุตสาหกรรม เทคโนโลยีอาคารเรือน หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทำธุรกิจด้านนวัตกรรม
หากดูเฉพาะ แผนกเครื่องปรับอากาศในครัวเรือน ไมเดีย กรุ๊ป รวมการวิจัยและพัฒนา การผลิต การขายและการออกแบบ การบริการหลังการขายเข้าไว้ด้วยกันแบบครบวงจร ปีก่อนมีรายได้ 1,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท มีพนักงาน 33,000 คน มีฐานลูกค้าที่ทำตลาดมากกว่า 200 ประเทศ โดยเฉพาะตลาดหลักคือ สหรัฐ
สปีดผลิตแอร์ 4 ล้านเครื่อง
ไมเดียเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย เป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะในครัวเรือน ตั้งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยใช้เงินลงทุนครั้งแรกมากกว่า 1 พันล้านหยวน หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่ 208,000 ตารางเมตร (136 ไร่) แบ่งดำเนินการก่อสร้างเป็น 3 เฟส ปีแรก 2020 ถึงปีที่ผ่านมา 2023 มีความสามารถในการผลิต 3 ล้านเครื่อง มีทั้งแอร์เครื่องแยก แอร์หน้าต่าง แอร์เคลื่อนที่ ส่วนปีนี้มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 ล้านเครื่อง ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นฐานผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
เหตุผลที่เลือกลงทุนในไทย คือมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม มีท่าเรือแหลมฉบังสามารถนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกสินค้าที่ผลิตสำเร็จรูปแล้วไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอในระดับ A2 พลัส และมีสิทธิในที่ดินด้วย
5G โรงงานอัจฉริยะ
ล่าสุดบริษัทได้พัฒนาระบบโรงงานอัจฉริยะ โดยการนำระบบดิจิทัล 5G และ AI มาใช้ระบบโรงงานในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
เรานำ 5G จากเครือข่าย AIS มาใช้ครอบคลุมทั้งโรงงานซัพพอร์ตให้งานโฟลว์มากขึ้น สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์ ไม่ต้องมารออัพเดตว่าเมื่อไรข้อมูลจะมาถึง โดยระบบ 5G ที่นำมาใช้ครอบคลุมทั้งกล้องเอไอ ตรวจจับการทำงานของรถ พนักงาน มีเอจีวีคาร์ (สำหรับใช้เคลื่อนย้ายวัตถุดิบแต่ละชิ้นส่วน ไปยังโรงงานภายในส่วนต่าง ๆ)
การนำระบบอัตโนมัติ 5G และ AI มาใช้นี้เกิดจากนโยบายของบริษัทแม่ที่จีนที่วางระบบให้เหมือนกันทั่วโลก ซึ่งระดับความรวดเร็วของการใช้ระบบอัตโนมัติทำให้การผลิตเครื่องปรับอากาศทั้งเครื่องใช้เวลาเพียงแค่ 5-6 นาทีเท่านั้น และยังเก็บข้อมูล Big Data ส่งกลับไปยังบริษัทแม่ได้ด้วย ทำให้ไม่ต้องรอข้อมูลจากโรงงานแต่ละโรง เพื่อรู้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ สามารถตรวจสอบคิวซีความผิดพลาดในการทำงานและแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อยอดขอสิทธิ
ในช่วงแรกบริษัทได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอตามประเภท A2 พลัส เช่น ได้ระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8+3 ปี ซึ่งช่วง 3 ปีแรกของการก่อสร้างโรงงานติดปัญหาโควิด ทำให้ขนส่งเครื่องจักรเข้ามาไม่ได้ในช่วงนั้น
ล่าสุดตอนนี้จะขอสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นหลังจากที่ได้นำระบบออโตเมติก AI และ 5G มาใช้ยกระดับการผลิตในโรงงานให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายว่าปี 2568 จะเป็นโรงงานระดับไฮเอนด์ และที่สำคัญ บริษัทมีแผนจะพัฒนาและฝึกอบรม เพื่อเพิ่มจำนวนคนไทยขึ้นมารับมอบงานแทนคนจีนมากขึ้น โดยเฉพาะในตำแหน่งสูง ๆ เช่น ระดับผู้จัดการโรงงาน
ขณะเดียวกันในอนาคตมีแผนจะเพิ่มการใช้วัตถุดิบในไทยมากขึ้น โดยการเชิญชวนซัพพลายเออร์เข้ามาลงทุนในไทย จากปัจจุบันที่ใช้วัตถุดิบในไทยประมาณ 50% เช่น เหล็ก ส่วนอีก 50% สำหรับบางชิ้นส่วนที่ไทยไม่มีวัตถุดิบ จำเป็นต้องนำเข้าจากจีน
และกำลังขยายโรงงานใหม่ในระยองอีก 2 โรงงาน จากเดิมที่ 3 โรงงาน คือ โรงงานโตชิบาที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี และที่นี่ (ชลบุรี) ซึ่งหากก่อสร้างเสร็จ จะมี 5 โรงงาน โดยในส่วนของแอร์ 2 โรงงานจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแห่งละ 1 ล้านเครื่อง รวมเป็น 6 ล้านเครื่องต่อปี
ซึ่งแต่ละฐานผลิตจะแยกการผลิตสินค้าแตกต่างกัน เช่น ไมเดีย โตชิบาจะผลิตตู้เย็น และเครื่องซักผ้า นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปเทกโอเวอร์โรงงานฮิตาชิ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผลิตคอมเพรสเซอร์ตู้เย็น หากเทียบกับฐานผลิตที่จีนแล้ว โรงงานในไทยถือเป็นฐานผลิตที่มากที่สุด ส่วนที่จีนก็จะลงทุนเพิ่มอีก 2 โรงงาน
ดึงทุนจีนต้องใช้มาตรการโดนใจ
ตอนแรกที่เข้ามาลงทุนที่ไทย เราใช้การขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอก่อน เราไม่เข้าใจว่าบีโอไอกับอีอีซีแบ่งเป็น 2 หน่วยงานใช่หรือไม่ ต้องขอสิทธิประโยชน์แยกกันหรือไม่อย่างไร และตอนนั้นไม่มี 5G แต่ตอนนี้เรามีการขยายโครงการ จึงมีแผนจะเจรจาขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีเพิ่มให้สอดรับกับรูปแบบการลงทุน ทั้งเรื่องการยกระดับเทคโนโลยี 5G และการพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานให้คนไทยมากขึ้น
สิทธิประโยชน์ที่ต้องการเพิ่มนั้นเรามองถึงโอกาสจะขอเรื่องการลดหย่อนภาษีในการนำ 5G มาใช้ การทำ Work Permit การทำฟรีวีซ่าสำหรับพนักงานและครอบครัว เป็นเวลา 10 ปี ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในการทำฟรีวีซ่าสำหรับซัพพลายเออร์คนจีนที่จะเดินทางเข้ามา ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี
ชูมาตรการสั่งตัดดูดทุนจีน
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของอีอีซีนั้นจะเป็นมาตรการในรูปแบบการเจรจาต่อรอง เพื่อให้ตอบโจทย์นักลงทุนที่ให้ประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด เช่น หากมีพัฒนาต่อยอดโดยการใช้เทคโนโลยี การใช้แรงงานคนไทยจำนวนมาก ทางนักลงทุนสามารถยื่นขอสิทธิประโยชน์จากอีอีซีโดยแยกเป็นรายโครงการได้ ซึ่งอาจจะเป็นการแยกเฉพาะในส่วนที่ขยายการลงทุนหรือส่วนที่พัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นได้
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง โดยอีอีซีจะยึดประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับกลับคืนเป็นหลักในการเจรจา
อีอีซีจะเน้นอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนมากขึ้น อาจจะเรียกว่าเป็นมาตรการสั่งตัด เพื่อให้เหมาะสมกับนักลงทุนแต่ละราย เช่น การออกใบอนุญาต Work Permit ควบคู่กับการออกฟรีวีซ่าสำหรับดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของอีอีซีที่เป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจในรูปแบบที่ตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้น
1/6/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 1 มิถุนายน 2567 )