info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.219.46.37

ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน GULF ถมทะเลท่าเรือมาบตาพุดเร็วสุดในอีอีซี

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

เป็นเวลา 5 ปี นับจากปี 2562 ที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เริ่มลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในส่วนการก่อสร้างสถานีขนส่ง LNG, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 (ท่าเรือ F)

ในส่วนการก่อสร้าง การเดินเครื่อง และการบำรุงรักษา ท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6), โครงการบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง บางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)

และยังมีในส่วนของงานออกแบบและก่อสร้างงานระบบ รวมถึงบริการเดินเครื่อง บำรุงรักษา และยังมีโครงการร่วมทุนเพื่อลงทุนและดำเนินงานระบบจำหน่ายไฟฟ้า และระบบทำความเย็นสำหรับโครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

โครงสร้างพื้นฐาน Q1 โตพุ่ง

ล่าสุดในการรายงานผลประกอบการ GULF ในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีรายได้รวม 32,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาส 1/2566 ซึ่งมีรายได้ 26,994 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 4,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีกำไร 3,668 ล้านบาท ทำให้บริษัทคาดว่าการเติบโตของรายได้รวมปี 2567 ว่าจะโต 25-30% จากปีก่อน

โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัทหลักมาจากธุรกิจไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 89.3% ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 2.7% ธุรกิจดาวเทียม 1.9% รายได้จากค่าบริหารจัดการ 0.5% และรายได้อื่น ๆ 2.1%

ขณะที่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ตั้งไข่มา 5 ปีก็มีสัดส่วนถึง 3.5% เลยทีเดียว โดยภาพรวมของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน GULF ได้บันทึก “รายได้ค่าก่อสร้าง” ไว้ในรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ระบุว่า รายได้ค่าก่อสร้างตามสัญญาสัมปทาน สำหรับงานถมทะเล ของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จำนวน 1,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เติบโตขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการ ซึ่งโครงการนี้มีกำหนดจะถมทะเลให้เสร็จในปี 2567 หลังจากกลุ่มบริษัทจะพัฒนาโครงการสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ต่อไป

มาบตาพุดถมทะเลเร็วสุดในอีอีซี

ล่าสุด นายธนญ ตันติสุนทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค GULF กล่าวว่า ความคืบหน้าของการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ขณะนี้ได้มีการถมทะเลมีความคืบหน้าไปประมาณ 80% ซึ่งถือเป็นโครงการเดียวของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่มีความคืบหน้ามากที่สุด

โครงการนี้จะมี 2 เฟส เมื่อถมทะเลแล้วเสร็จจะดำเนินการก่อสร้าง LNG Terminal ในลำดับต่อไป ซึ่งอยู่ในขั้นตอนระหว่างการหารือระหว่างบริษัท และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าจะพิจารณาเริ่มต้นโครงการนี้เมื่อไร

ธนญ ตันติสุนทร

“ในส่วนของกรณีที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2024 ที่อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ ได้ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเป็น 50% จนอาจจะมีผลทำให้ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศในภาพรวมปรับลดลง จาก 4,859 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 4,747 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น เท่าที่มองตามความเข้าใจ ผมเห็นว่าจะไม่ส่งผลต่อธุรกิจ เพราะปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทยก็ปรับลดลงตามลำดับเช่นกัน

ดังนั้นการลงทุนแท็งก์ เป็นไปเพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่เข้ามาเสริมจากที่มีการประเมินว่าการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะมีปริมาณลดลง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ สำหรับความสามารถในการบรรจุอัพทู 15-20 ล้านตันต่อปี ส่วนอีกโปรเจ็กต์เป็นคอนเทนเนอร์พอร์ต”

ทั้งนี้ การลงทุนเป็นการลงทุนตามแผนการลงทุน เพราะคาดว่าจะมีดีมานด์ก๊าซ LNG อยู่แล้วตาม PDP ซึ่งไม่ใช่มีแค่เรื่อง LNG แต่ยังใช้สำหรับทำอย่างอื่นด้วยเช่นกัน โดยในส่วนนี้มีโรงไฟฟ้าสำหรับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ด้วย เพราะบริษัทถมที่ให้ กนอ. ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังอีกโครงการนั้น ซึ่งทางบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งมีกลุ่มกัลฟ์ กลุ่ม ปตท.ร่วมถือหุ้นดำเนินการนั้น ทางบริษัทไม่ได้เป็นผู้ถมเอง

อนึ่ง การลงทุนโครงการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เมื่อ 1 ต.ค. 2562 ซึ่งเป็นพื้นที่ถมทะเล 1,000 ไร่ ในการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) กนอ.ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ที่เป็นผู้ชนะประมูลโครงการดังกล่าว

โดยเป็นสัญญาร่วมทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) Net Cost หรือร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยให้เอกชนได้รับสิทธิในการประกอบกิจการบนพื้นที่ 200 ไร่ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง

โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 ช่วงที่ 1 นับเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ EEC Project List ที่ถือเป็นโครงการแรกในการเซ็นสัญญาร่วมทุน กนอ. โดยโครงการนี้จะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ว่าจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อของไทย เพื่อเชื่อมไปสู่ประตูเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน CLMVT

3 โครงการลุ้นปี’68

นายธนญกล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการก่อสร้างเส้นทางสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ แม้ว่าจะมีการเปิดทดลองใช้เป็นช่วง ๆ แต่บางช่วงยังมีปัญหาความล่าช้าอยู่ ซึ่งเป็นผลจากในส่วนของกรมทางหลวงกับผู้รับเหมา และขั้นตอนการส่งมอบพื้นที่บางจุดมีปัญหาเรื่องพื้นที่ป่า ลุ่มน้ำ ทำให้เกิดความล่าช้า

“ทางบริษัทต้องรอการดำเนินการในส่วนของเขาก่อน ทางเรารับบริหารพื้นที่ ซึ่งในส่วนของรายได้อาจจะล่าช้าบ้าง แต่ไม่ได้เป็นโครงการขนาดใหญ่มากนัก ประกอบกับเป็นเพียงผู้ให้บริการบริหารพื้นที่ไม่ได้รับความเสี่ยง”

อนึ่ง เส้นทางสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ความยาว 196 กม. ที่กรมทางหลวงได้ลงนามในสัญญากับ BGSR ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS)-กัลฟ์-บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON)-บมจ.ราชกรุ๊ป (RATCH) วงเงินโครงการ 21,329 ล้านบาท

และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ความยาว 96 กม. วงเงิน 17,809 ล้านบาท ซึ่งเริ่มทดลองเปิดใช้ตั้งแต่เมื่อ 26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เป็นการชั่วคราว ช่วงนครปฐมตะวันตก-กาญจนบุรี ระยะทาง 51 กม. ทุกสุดสัปดาห์ เฉพาะวันศุกร์ตั้งแต่ 15.00 น.-วันอาทิตย์เวลา 21.00 น. โดยคาดว่าโครงการทั้งสองเส้นนี้จะเสร็จภายในปี 2568

เช่นเดียวกับโครงการใหม่ล่าสุด การสร้างศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ขนาด 20 เมกะวัตต์ ในส่วนของธุรกิจดิจิทัล ที่ระบุตามรายงานผลประกอบการว่าโครงการมีความคืบหน้าไปกว่า 12.9% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 เช่นกัน

One Bangkok ฉลุยปี’67

สุดท้าย คือ โครงการลงทุนระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 240 เมกะวัตต์ และระบบผลิตน้ำเย็นแบบรวมศูนย์ กำลังการผลิต 36,000 ตันความเย็น ในโครงการ “One Bangkok” ซึ่งขณะนี้ทั้งสองส่วนมีความคืบหน้าไปเกินกว่า 90% แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้

13/6/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 13 มิถุนายน 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS