info@icons.co.th 02 810 8892-6 52.15.35.129

ธรรมนัส ลุยภูเก็ต ติดตามโครงการการเร่งจัดน้ำสำหรับการเกษตรกรรม

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

“ธรรมนัส” รมว.เกษตร ผนึก “อรรถกร” นำคณะลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ติดตามโครงการทำนบดินบ้านควนตาแท่นพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและเพื่อการเกษตรของประชาชน เร่งจัดน้ำสำหรับการเกษตรกรรม

วันที่ 15 มิถุนายน 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่มาตรวจราชการ และพบปะรับฟังปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่หมู่ 2 บ้านลิพอนบางกอก วิสาหกิจชุมชนแรงใหญ่ทุเรียนตำบลศรีสุนทรอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

โดยมีนายกองเอก อดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับและรายงานข้อมูล โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP) แก่ เกษตรกร จำนวน 9 ราย

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้มีการติดตามประเด็นข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ได้แก่ โครงการทำนบดิน บ้านควนตาแท่นพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและเพื่อการเกษตรของราษฎรในพื้นที่ หมู่ที่ 2 บ้านลิพอนบางกอก (บ้านควนตาแท่น) ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ให้มีน้ำสำหรับการเกษตรกรรมและช่วยส่งเสริมการใช้น้ำร่วมกันกับแหล่งน้ำที่มีอยู่ใน พื้นที่ปัจจุบัน คือ บ่อบาดาล และสระเก็บน้ำ

อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตร ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเกิดความไม่มั่นคงทางปัจจัยการผลิต การขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ปัญหาการขาดแคลนน้ำและระบบชลประทาน การถือครองที่ดินอย่างเท่าเทียมกัน การสืบทอดอาชีพการเกษตร การเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลทั้งผลิตภาพและคุณภาพของสินค้าเกษตร

จังหวัดภูเก็ต จึงได้บูรณาการหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้เป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ว่า “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เป้าหมาย “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่สูง และทรัพยากรเกษตรยั่งยืน โดยเน้นการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในการผลิตและการแปรรูปที่ได้ คุณภาพ เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าและเข้าสู่ตลาด สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาที่มุ่งเน้นความยั่งยืน การปรับตัวตามบริบทการเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความเป็นธรรมในผลประโยชน์สำหรับทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ยังได้มีการบูณาการการเตรียมการรองรับและแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ (อุทกภัย/ภัยแล้ง)ไว้ตลอดเวลา เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ด้วย

ขณะเดียวกัน นายสุทธิกิตติ์ ตามชู ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลศรีสุนทร กล่าวว่า “เดิมพื้นที่ปลูกทุเรียนของหมู่ 2 ตำบลศรีสุนทร ยังไม่มีการรวมกลุ่มและทำสวนทุเรียนต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษ ไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาการมากนัก

ต่อมา ในปี 2564 สำนักงานเกษตรอำเภอถลาง จัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลศรีสุนทร ดำเนินการจนถึงปัจจุบันมีสมาชิก 64 ราย พื้นที่เข้าร่วมโครงการ 296.5 ไร่ โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต บูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามภารกิจ ทำให้เกิดผลสำเร็จ 5 ด้านตามนโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ คือ

1.การลดต้นทุน จากเดิมปี 2563 ต้นทุน 20,900 บาท/ไร่/ปี ปี 2566 ต้นทุนลดลงเป็น 17,700 บาท/ไร่/ปี ลดลงได้ 15.31% ภายใน 3 ปี

2.การเพิ่มผลผลิต จากเดิมปี 2563 ผลผลิต 300 กก/ไร่/ปี ปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 325 กก/ไร่/ปีเพิ่มขึ้นเป็น 8.33% ภายใน 3 ปี

3.การพัฒนาคุณภาพ จากเดิมปี 2563 ไม่มี GAP ปัจจุบัน เกษตรกรได้ GAP รวม 45 ราย คิดเป็น70% ของสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่

4.การบริหารจัดการกลุ่ม จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน มีการประชุมและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

และ 5.ตลาด มีการจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น จากการพัฒนาทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ เป็นที่รู้จักมากขึ้นส่งผลให้ราคาจำหน่ายทุเรียน จากเดิมก่อนเป็นแปลงใหญ่ 60 บาท/กก ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80 – 100 บาท/กก

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์สภาพภูมิอากาศแปรปรวน การขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรการไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน พื้นที่ทำการเกษตรที่ลาดชัน ก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นข้อจำกัดในการทำการเกษตรหากการมีแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรได้โดยการส่งเสริมการทำ

เกษตรผสมผสาน การปลูกผักพื้นบ้านร่วมในสวนไม้ผล เพื่อให้มีรายได้เสริมด้วยกลไกขับเคลื่อน ภายใน 4 ปีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า

ร้อยเอกธรรมนัสยังได้ได้พบปะและซักถามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเป็นกันเอง และกล่าวว่า พร้อมพัฒนาทุเรียนบ้านลิพอนบางกอกเป็นสินค้า GI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มพร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาดออนไลน์ สำหรับความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องการเอกสารสิทธิ์ ได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประสานข้อมูลในการช่วยเหลือและผลักดันเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดินของประชาชนให้ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยก่อนเดินทางกลับร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ปลูกต้นทุเรียนในพื้นที่ หมู่ 2 บ้านลิพอนบางกอก วิสาหกิจชุมชนแรงใหญ่ทุเรียนตำบลศรีสุนทรอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตด้วย

15/6/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 15 มิถุนายน 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS