info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.189.170.65

บางกอกแอร์เวย์ส ใช้ 2.3 พันล้าน ขยายสนามบิน “สมุย-ตราด”

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

การฟื้นตัวของภาพรวมการเดินทางและการท่องเที่ยวทั่วโลกและในประเทศไทยที่ดีต่อเนื่อง และการเติบโตของดีมานด์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้ “บางกอกแอร์เวย์ส” กลับมาเติบโตและมีกำไรสูงกว่าก่อนโควิดปี 2562 แล้ว

โดยไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมามีกำไรสุทธิ 1.87 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 113.7% หรือคิดเป็นมูลค่า 1 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีกำไรอยู่ที่ 510.8 ล้านบาท หรือสูงกว่าถึงร้อยละ 267.95

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ให้สัมภาษณ์ถึงปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจการบินกลับมาฟื้นตัว แผนการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงแนวโน้มธุรกิจของบางกอกแอร์เวย์สในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ดังนี้

“พุฒิพงศ์” ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ในเดือนมิถุนายน 2567 คาดการณ์การเดินทางทางอากาศในปี 2567 นี้จะยังเติบโตในทุกภูมิภาคของโลก เฉลี่ยประมาณ 10.4% โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นที่ 17.2%

รองลงมาคือ อเมริกาเหนือ 9.2% ตะวันออกกลาง 6.6% ยุโรป 5.9% แอฟริกา 5.6% ละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียน 4.5% และประเมินว่าในปี 2567 อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตได้

สะท้อนถึงความต้องการเดินทางว่ามีแนวโน้มเติบโตดี “บางกอกแอร์เวย์ส” จึงได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางในช่วงครึ่งปีหลังและในอนาคต

“สมุย” ขุมทรัพย์ใหญ่ 59%

สำหรับบางกอกแอร์เวย์ส “พุฒิพงศ์” บอกว่า ขณะนี้ให้บริการเส้นทางบินสู่ 20 จุดหมายปลายทาง (Destination) จำนวน 27 เส้นทางบิน (Routes) แบ่งเป็น ในประเทศ 19 เส้นทางบิน และระหว่างประเทศ 8 เส้นทางบิน โดยเส้นทาง “สมุย” มีสัดส่วนรายได้สูงสุดที่ 59% เส้นทางบินภายในประเทศอื่น ๆ 30% และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 11% โดยจุดหมายปลายทางหลักของเส้นทางระหว่างประเทศคือ กัมพูชา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าเส้นทางสู่กัมพูชามีการแข่งขันสูงมาก ดังนั้นเพื่อกระตุ้นการเดินทางและตอบสนองความต้องการของผู้ที่เดินทางมายังประเทศไทยเป็นประจำ บริษัทมีแผนเปิดตัวบัตรท่องเที่ยว “แคมโบเดีย ทราเวลพาส : Cambodia Travel Pass” มอบประสบการณ์เดินทางฟูลเซอร์วิสแบบไม่จำกัดเที่ยวบิน เป็นระยะเวลา 1 ปี

พร้อมทั้งรับสิทธิประโยชน์มากมาย ในเส้นทางระหว่างพนมเปญ-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) และเสียมเรียบ-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) โดยจะเริ่มเปิดขายระหว่าง 1-25 กรกฎาคม 2567 และสามารถสำรองที่นั่งหรือเดินทางได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567-1 กรกฎาคม 2568

เพิ่มพันธมิตร “โค้ดแชร์”

“พุฒิพงศ์” บอกว่า จากแนวโน้มการเดินทางและการท่องเที่ยวทั่วโลกและในประเทศไทยที่ดีขึ้น และการเติบโตของดีมานด์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้บริษัทฯเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 2 นี้ บางกอกแอร์เวย์สได้ลงนามข้อตกลงในการให้บริการเที่ยวบินร่วมกับสายการบินพันธมิตรอีก 2 แห่ง คือ สายการบินลุฟท์ฮันซ่า และสวิสแอร์ไลน์

โดยความร่วมมือด้านเที่ยวบินร่วมกับลุฟท์ฮันซ่ามีผลไปตั้งแต่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ส่วนสวิสแอร์ไลน์จะมีผลตั้งแต่ 4 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป และเชื่อว่าความร่วมมือด้านเที่ยวบินร่วม หรือ Codeshare Partner นี้จะช่วยให้การเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางบินของบางกอกแอร์เวย์สมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ลงทุน 2.3 พันล้านขยายสนามบิน

ขณะเดียวกันในช่วงเวลา 2-3 ปีนี้ บริษัทยังมีแผนลงทุนพัฒนาศักยภาพการให้บริการของสนามบินภายใต้การบริหาร 2 แห่ง รวมมูลค่า 2,200-2,300 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุย (สุราษฎร์ธานี) มูลค่า 1,500 ล้านบาท เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

โดยวางแผนปรับปรุงสนามบินเพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่พักคอย (Boarding Gate) ภายในอาคารผู้โดยสารอีก 4 อาคาร (Gate) กล่าวคือจากเดิม 7 อาคาร (Gate) เพิ่มเป็น 11 อาคาร (Gate) และเพิ่มเคาน์เตอร์เช็กอินจำนวน 10 เคาน์เตอร์ รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์

“ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการเตรียมการขออนุญาต รวมถึงการออกแบบในรายละเอียดต่าง ๆ”

และเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล ขณะนี้บริษัทได้ดำเนินการเพื่อขออนุญาตเพิ่มจำนวนเที่ยวบินจากปัจจุบันที่ให้บริการอยู่ 50 เที่ยวบินต่อวัน เป็น 73 เที่ยวบินต่อวัน หรือเพิ่มเที่ยวบินให้ได้เต็มศักยภาพในการรองรับของสนามบิน

“ที่ผ่านมารัฐบาลได้เน้นย้ำให้พัฒนาศักยภาพของสนามบินสมุย เพื่อรองรับกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาตามนโยบายวีซ่าฟรี ซึ่งเราก็มั่นใจว่าหากสามารถเพิ่มเที่ยวบินได้ถึง 73 เที่ยวบินต่อวัน น่าจะทำให้สนามบินแห่งนี้รองรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 2 ล้านคนต่อปี จากปีที่ผ่านมาที่มีประมาณ 1.1 ล้านคน”

และ 2.โครงการพัฒนาสนามบินตราด จ.ตราด มูลค่ารวมประมาณ 700-800 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม และขยายระยะทางวิ่ง (Runway) ให้สามารถรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่กว่าเครื่องบินใบพัด อาทิ เครื่องบินแอร์บัส A320 A319 โบอิ้ง 737 เป็นต้น

รวมทั้งพัฒนาให้เป็นสนามบินที่มีศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศในอนาคตได้ด้วย เนื่องจากในช่วงก่อนโควิดมีสายการบินระหว่างประเทศติดต่อเข้ามาจำนวนหนึ่ง แต่ยังติดปัญหาเรื่องรันเวย์ที่ยังรองรับไม่ได้ คาดว่าน่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี

“ในส่วนของสนามบินตราด เรามีแผนก่อสร้างบนพื้นที่ใหม่ประมาณ 200-300 ไร่ (อยู่ในแปลง 1,600 ไร่) ตั้งอยู่ห่างจากอาคารหลังเดิมประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งเราเชื่อว่าด้วยศักยภาพของทำเล ในอนาคตจะสามารถดึงดูดเที่ยวบินระหว่างประเทศให้บินตรงเข้าไปได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นแน่นอน”

บุ๊กกิ้งพุ่งเตรียมรับเครื่องเพิ่ม

“พุฒิพงศ์” บอกด้วยว่า ขณะนี้ยอดการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้า หรือ “Advance Booking” ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในช่วงมิถุนายน-ธันวาคม 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 พบว่า ยอดจองล่วงหน้ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป 13%

โดยในไตรมาส 2 มีการเติบโตขึ้น 3% ไตรมาส 3 เติบโตขึ้น 11% ส่วนไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นและนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมเดินทางช่วงวันหยุดยาวสิ้นปี พบว่ามียอดการจองล่วงหน้าเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 35%

และเพื่อเป็นการรองรับกับดีมานด์การเดินทางที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น “บางกอกแอร์เวย์ส” ได้วางแผนการจัดหาเครื่องบินแบบแอร์บัส เอ 319 เข้ามาเพิ่มในฝูงบินภายในปีนี้อีกจำนวน 2 ลำ จากปัจจุบันมีจำนวน 24 ลำ โดยคาดว่าตลอดทั้งปีนี้ บางกอกแอร์เวย์สจะขนส่งผู้โดยสารรวมประมาณ 4.5 ล้านคน มีรายได้รวมประมาณ 18,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันก็มีแผนจัดหาเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้องปลดเครื่องบินบางส่วนออก เนื่องจากมีอายุการใช้งานมากและหมดสัญญาเช่า

ทั้งนี้ ประเมินว่า “บางกอกแอร์เวย์ส” น่าจะมีฝูงบินรวมประมาณ 30 ลำ ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

16/6/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 16 มิถุนายน 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS