กรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดข้อมูลครึ่งแรกปี 2567 อนุญาตเปิดโรงงานทะลุ 1,200 โรง มูลค่าเกือบ 200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211% เผยข้อมูลเลิกจ้างแค่ 17,674 คน ปิด 667 โรงเท่านั้น ส.อ.ท. ชี้ลงทุนใหม่ยังไม่ใช่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้าน สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ติง EEC ดีแต่ไม่มีบุคลากรพร้อมใช้งาน
วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 รายงานข่าวระบุว่า จากกระแสการเลิกจ้างพนักงานและปิดกิจการตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว และยังมีแนวโน้มที่จะยังไม่ฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ บวกกับสถานการณ์จากความเสี่ยงของสงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภัยธรรมชาติ ซึ่งข้อมูลจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เปิดเผยให้เห็นว่าแม้จะมีปัจจัยลบค่อนข้างมาก
แต่ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2567) ยังมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบกิจการ หรือเปิดกิจการอยู่ที่ 1,192 โรง เพิ่มขึ้น 47.34% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ครึ่งปีแรกมีมูลค่าการลงทุน 194,999.02 ล้านบาท มีอัตราการจ้างแรงงาน 44,224 คน
โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ และพบว่าเป็นโรงงานประเภท 105 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฎิกูล 106 การนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสีย มาผลิตเป็นวัตถุดิบ ทยอยเพิ่มขึ้น
โรงงานเปิดใหม่มากกว่าหากเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2566
หากเทียบกับครึ่งปีแรกของปีก่อน (มกราคม-มิถุนายน 2566) พบว่า มีจำนวนโรงงานเปิดใหม่ 809 โรง มูลค่าการลงทุน 62,700.65 ล้านบาท จ้างงาน 20,412 คน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานการทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมผลิตภัณฑ์ยิบซัม และโรงงานที่ทำการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน
ขณะเดียวกัน ก็พบว่าในช่วงครึ่งปีแรก 2567 นั้นมีจำนวนโรงงานที่ปิดกิจการอยู่ที่ 667 โรง มูลค่า 18,091.89 ล้านบาท เลิกจ้าง 17,674 คน ส่วนใหญ่ก็เป็นโรงงานกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์เช่นกัน
นอกจากนี้ยังพบว่าเป็นกิจการที่ทำการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดิน และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วก็ยพบว่ามีจำนวนโรงงานที่ผิดกิจการอยู่ที่ 358 โรง มูลค่า 42,084.1 ล้านบาท เลิกจ้าง 7,319 คน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ทำการขุดหรือลอก กรวด ทราย หรือดินเช่นกัน
นายเกรียงไกร เธยรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเทศไทยแม้จะเป็นที่สนใจของนักลงทุน โดยจะเห็นได้จากทั้งการขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หรือการจดทะเบียธุรกิจ โดยตัวเลขการเปิดโรงงานแม้จะสูงกว่าปิด แต่หากดูประเภทกิจการหรือธุรกิจ พบว่าส่วนใหญ่เป็นกิจการที่ไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยต้องการจำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ อุตสาหกรรมใหม่ๆ เพราะไม่เพียงเป็นการสร้างงานแต่ยังเป็นการยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ
นายอธิป อัศวานนท์ Nationnal Technology Officer สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กล่าวว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจทำให้ทราบวว่า มุมมองของนักลงทุนนนั้น มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นที่ ระบบนิเวศน์ต่างๆ แต่กลับไม่มีความพร้อมทางด้านบุคคลากร โดยเฉพาะคนที่จะทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ดังนั้น สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องเร่งทำคือเรื่อง การสร้างคน การอัพสกิล รีสกิล เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและการลงทุนที่กำลังจะเกิดขชึ้น เพราะจากนั้นมันจะส่งผลให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น กิจการดาต้าเซนเตอร์
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวย้ำมาโยตลอดว่า สาเหตุการปิดกิจการโรงงานในปี 2567 มาจากสาเหตุมีคำสั่งซื้อที่ลดลง เนื่องจากสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไป มีการแข่งขันด้านราคาและไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในสินค้าบางประเภท เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น บวกกับด้านการส่งออกลดลงด้วยราคาสินค้าของไทยแพงกว่าประเทศอื่น
อย่างไรก็ตามยังคงมีบางโรงงานที่ปิดกิจการเดิมและเปิดกิจการใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งมีนักลงทุนบางส่วนได้ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่มากขึ้น
13/7/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 13 กรกฎาคม 2567 )