info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.146.176.214

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มหลัง BEM ชนะประมูล มีสถานีใดบ้าง ใช้ได้เมื่อไร

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ผ่านมติ ครม.เรียบร้อยแล้ว สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายหลังที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน และเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

โดยที่บริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ซึ่งปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายกฟ้องในทุกคดีและร่างสัญญาร่วมลงทุนได้ผ่านการตรวจพิจารณาของอัยการสูงสุดแล้ว

ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะจัดพิธีลงนามในสัญญาร่วมกับบริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ชนะการประมูล ซึ่งพิธีดังกล่าวจะมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนาม ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567

สายสีส้มมีกี่สถานี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งออกเป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี ดังนี้

สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

สถานีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

สถานีวัดพระราม ๙

สถานีรามคำแหง 12

สถานีรามคำแหง

สถานีการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)

สถานีรามคำแหง 34

สถานีแยกลำสาลี

สถานีศรีบูรพา

สถานีคลองบ้านม้า

สถานีสัมมากร

สถานีน้อมเกล้า

สถานีราษฎร์พัฒนา

สถานีมีนพัฒนา

สถานีเคหะรามคำแหง

สถานีมีนบุรี

สถานีแยกร่มเกล้า

นอกจากนี้ 17 สถานี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีสถานีหลักที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นอีก 3 สาย ประกอบไปด้วย

-เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ตรงสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถเดินทางระหว่างสถานีหัวลำโพง-สถานีบางซื่อ-สถานีหลักสอง

-เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีเหลือง ตรงสถานีแยกลำสาลี สามารถเดินทางระหว่างสถานีสำโรง-สถานีลาดพร้าว

-เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีชมพู ตรงสถานีมีนบุรี สามารถเดินทางไประหว่างสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

สายสีส้มเสร็จเมื่อไร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ รฟม. เร่งรัดเอกชนให้เร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น และเป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน

โดยคาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร (กม.) ภายในเดือนมกราคม 2571 ซึ่งจะเร็วขึ้นกว่าเดิมที่กำหนดไว้ว่า จะเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2571

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กม. จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2573 อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น กระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า จะเข้าร่วมมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสาย

สุริยะ ยัน เข้าร่วม 20 บาทตลอดสาย

วันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ที่สำนักงานการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่าง รฟม. และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)

นายสุริยะ กล่าวว่า การลงนามสัญญาร่วมลงทุนในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันเดินหน้างานก่อสร้างโครงการฯ ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีแนวเส้นทางอยู่ใต้ดินทั้งหมดและลอดผ่านพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง

ตนจึงได้เน้นย้ำให้ รฟม. ดำเนินการส่งมอบเข้าพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนงานและตามระเบียบกฎหมาย กำกับควบคุมงานก่อสร้างอย่างเคร่งครัด รักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้สูงสุด ต้องดำเนินมาตรการไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ที่เป็นโบราณสถาน ชุมชน สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ให้มีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า ได้ให้ รฟม. และ BEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนตะวันออกได้ก่อนภายในต้นปี 2571 และเร่งเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตกให้แล้วเสร็จก่อนกำหนดการในเดือนพฤศจิกายน 2573 ต่อไป

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าได้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งบรรเทาปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ ตลอดจนช่วยขยายความเจริญจากกรุงเทพฯ สู่ปริมณฑล และยืนยันว่าจะดำเนินการให้รถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าร่วมมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 20 บาท หรือ 20 บาทตลอดสายด้วย

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ในปีแรกของการเปิดให้บริการฝั่งตะวันออกในปี 2571 นั้น จะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 150,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน และจะมีผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกประมาณ 400,000 คนต่อเที่ยวต่อวัน

16/7/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 16 กรกฎาคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS