“สุริยะ” ลงนามเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มอบนโยบายให้ รฟม.-BEM เร่งรัดดำเนินงาน เพื่อส่งมอบการเดินทางที่สะดวกสบายให้แก่พี่น้องประชาชนโดยเร็ว
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดยมี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง)
นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ รฟม. นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการ BEM พร้อมด้วยผู้แทนคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่าง รัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 9 อาคาร 1 รฟม.
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการต่อขยายโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ประชาชน ให้ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางที่มากขึ้น
ตามนโยบาย “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” โดยพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ที่ทั้งภาครัฐ และเอกชน จะผนึกกำลังร่วมกันอย่างเต็มที่
โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ รฟม. และ BEM ผู้รับสัมปทาน เร่งรัดการดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ให้แล้วเสร็จได้เร็วกว่าที่แผนงานกำหนด พร้อมรองรับการเดินทางเชื่อมต่อของพี่น้องประชาชนได้โดยสะดวก พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ รฟม. กำกับควบคุมงานก่อสร้างด้วยความเอาใจใส่ ต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้สูงสุด และต้องดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะบริเวณเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งมอบการเดินทางที่เชื่อมโยงครอบคลุมและสะดวกสบายให้แก่พี่น้องประชาชนโดยเร็ว โดยที่ผ่านมา รฟม. ได้ดำเนินงานคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 จนแล้วเสร็จ
และคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกดังกล่าว โดยมี BEM เป็นผู้ชนะการคัดเลือก โดยหลังจากนี้ รฟม. จะได้มีหนังสือเพื่อแจ้งให้ BEM เริ่มงานก่อสร้าง ทั้งนี้ ในเบื้องต้น รฟม. มีแผนที่จะเร่งรัดเปิดให้บริการทั้งส่วนตะวันออก ได้ก่อนเดือนพฤษภาคม 2571 และส่วนตะวันตก ก่อนเดือนพฤศจิกายน 2573
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า BEM มีความพร้อมในการดำเนินการหลังจากลงนามสัญญาทันที โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออกนั้น คาดว่าจะสามารถเร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและจัดขบวนรถมาให้บริการได้เร็วกว่ากรอบเวลาที่รัฐกำหนดไว้ และในส่วนตะวันตก BEM มีจุดแข็งคือพันธมิตรอย่างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในงานโยธาและการจัดหาระบบไฟฟ้า มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ จึงมั่นใจว่าการก่อสร้างจะไม่มีปัญหาอุปสรรค และจะเปิดให้บริการได้ภายใน 6 ปี
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร โดยส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
ติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0-2716-4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”
18/7/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 18 กรกฎาคม 2567 )