พิมพ์ภัทรา นำทีมเยือนญี่ปุ่น 21-27 กรกฎาคม 2567 ปักหมุดดูงานพัฒนาการจัดตั้ง นิคมอุตสาหกรรม Circular หารือ NEDO-JETRO ศึกษาแนวทางพัฒนาการลงทุนในไทย เน้นเศรษฐกิจหมุนเวียน มู่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 21-27 กรกฎาคม 2567 กระทรวงอุตสาหกรรมและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมศึกษาดูงานการพัฒนาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม
โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรืออีอีซี) ร่วมกันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยเฉพาะรถยนต์ EV ตามมาตรการสนับสนุนของรัฐ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตั้งฐานการผลิตและลงทุนในประเทศไทย
โครงการนิคมอุตสาหกรรม Circular จะตอบโจทย์ในโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีกำหนดการหารือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (NEDO) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และระดมความคิดไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมถึงการเข้าเยี่ยมชมกระบวนการรีไซเคิลรถยนต์และการกำจัดของเสียในโรงงานของบริษัท Eco-R Japan และศึกษาเทคโนโลยีของบริษัท ไอเอชไอ คอร์ปอเรชั่น (IHI Corporation) รวมถึงการใช้แอมโมเนียแทนก๊าซธรรมชาติ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
พร้อมทั้งเยี่ยมชม กระบวนการรีไซเคิลหลอดฟลูออเรสเซนต์ของบริษัท J-Relights และกระบวนการรีไซเคิล แผงโซลาร์เซลส์ บริษัท Shinryo Corporation ด้วย อีกหนึ่งไฮไลต์ของการเยือนครั้งนี้ คือ การศึกษาดูงานเมืองเชิงนิเวศคิตะคิวชู (Kitakyushu Eco-Town) ซึ่งเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ประสบความสำเร็จและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ รวมทั้งหารือกับสำนักสิ่งแวดล้อมเทศบาลเมืองคิตะคิวชู เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ BCG Model
การเดินทางเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่ทุกประเทศมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
สำหรับการเยือนประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ คณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นางนิภา รุกขมธุ์ รองผู้ว่าการ กนอ. สายงานยุทธศาสตร์ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ กนอ. สายงานพัฒนาที่ยั่งยืน และคณะผู้บริหารกระทรวง ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทย ขณะที่ไทยเป็นอันดับ 6 ของญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาสแรกปี 2566 โตถึง 1.6% มีสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เภสัชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของไทย โดยในปี 2565 มีโครงการลงทุนถึง 293 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท
21/7/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 21 กรกฎาคม 2567 )