BEM กางแผนเดินหน้าลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม มูลค่างาน 1.4 แสนล้านบาท เริ่มเปิดไซต์ก่อสร้างสิงหาคมนี้ ตามแผนก่อสร้างเสร็จปี 2571 กลุ่ม ช.การช่าง แจงรับสัมปทานยาว 30 ปี ต่อจิ๊กซอว์รถไฟฟ้าวงแหวนรอบเมือง สายสีน้ำเงิน-ม่วง-ส้ม ดันรายได้ธุรกิจ New S-Curve สร้างรายได้ยั่งยืน
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในกลุ่ม ช.การช่าง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมอบความไว้วางใจให้บริษัทเป็นผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา BEM ได้ลงนามร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และจัดหา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสำหรับทั้งโครงการ
เม็ดเงินลงทุน 1.4 แสนล้าน
โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงสายสีส้มตะวันออก จากศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรีนั้น มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 3 ปี 6 เดือน ซึ่ง BEM มั่นใจว่าจะสามารถเปิดให้บริการส่วนนี้ได้ก่อนกำหนดอย่างแน่นอน กับช่วงสายสีส้มตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 ปี โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการช่วงตะวันออก
BEM มีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ในส่วนของการก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก BEM มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง CK ที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน โดย CK ได้จัดเตรียมทีมงานและเครื่องจักรอุปกรณ์พร้อมเข้าดำเนินงานได้ทันที จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถดำเนินงานได้แล้วเสร็จตามกำหนดการอย่างมีคุณภาพ และให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยสูงสุด
สำหรับเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 1.4 แสนล้านบาท BEM ได้จัดเตรียมเงินกู้เต็มจำนวนจากธนาคารกรุงเทพ วงเงินกู้ 1.2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้สำหรับก่อสร้างงานโยธาช่วงตะวันตก 90,000 ล้านบาท และงานระบบรถไฟฟ้า 30,000 ล้านบาท ควบคู่กับเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัท และแหล่งเงินทุนอื่น ๆ เช่น หุ้นกู้ โดยคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปีแรกของการให้บริการช่วงตะวันออก อยู่ที่ 1.2 แสนคน/วัน ในอนาคตเมื่อเปิดบริการตลอดเส้นทาง คาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะมีจำนวน 3 แสนคน/วัน สำหรับค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17-44 บาท
จัดหารถเพิ่มเติม 53 ขบวน
ถามว่าทำไมโครงการนี้ถึงใช้เงินมากขนาดนี้ ก็เป็นเพราะแนวรถไฟฟ้ามีเส้นทางตัดผ่านย่านเมืองเก่า ย่านชุมชน และถนนที่มีรถหนาแน่น มีทั้งช่วงก่อสร้างลอดเจ้าพระยาด้วย จึงมีความยากลำยากในการก่อสร้าง เช่น โซนเมืองเก่าก็ต้องมีการเปิดหน้าดินเพื่อขุดค้นทางโบราณคดีก่อน แต่ด้วยความที่ CK มีประสบการณ์และความชำนาญจากการทำรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมาแล้ว จึงมั่นใจว่าการก่อสร้างสายสีส้มจะทำได้อย่างราบรื่น
ส่วนการจัดหา ติดตั้งระบบรถไฟฟ้านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ผลิตเพื่อสั่งซื้อรถไฟฟ้าแบบลอตใหญ่รวม 53 ขบวน แบ่งเป็นรถไฟฟ้าที่ใช้ในสายสีส้ม 32 ขบวน และรถไฟฟ้าสำหรับบริการในโครงการสายสีน้ำเงินเพิ่มเติมอีก 21 ขบวน โดยบริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยเป็นลำดับแรก เห็นได้จากในโครงการที่ผ่านมา บริษัทเลือกใช้ผู้ผลิตจากประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่นเป็นหลัก
ด้าน ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการของ BEM กล่าวเพิ่มเติมว่า ประวัติศาสตร์ของเมืองทั่วโลก พิสูจน์แล้วว่ารถไฟฟ้าวงแหวนรอบเมืองประสบความสำเร็จที่สุดในการใช้งาน ซึ่งรถไฟสายสีส้มมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมือง และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สีชมพู และสีม่วง สามารถเติมผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการให้กับสายสีส้ม รวมทั้งสายสีส้มมีเส้นทางยุทธศาสตร์ในการขนผู้โดยสารเข้ามาเติมให้สายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสายวงแหวนรอบเมือง
ปัจจุบันสายสีน้ำเงินมีปริมาณผู้โดยสารหนาแน่น จึงมีการแนะนำว่าสายสีน้ำเงินควรเพิ่มตู้โดยสารอีกสามตู้ ในอนาคตเราคิดว่าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะเพิ่มสูงมาก ระยะแรกที่เดินรถสายสีส้มคาดว่าจะมีจำนวน 1.2 แสนคนต่อวัน กรณีเปิดเดินรถสีส้มตลอดสายคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการมากถึง 3 แสนคนต่อวัน ยังไม่รวมผู้โดยสารที่ใช้สายสีน้ำเงินและสีม่วงในปัจจุบัน กับแนวโน้มการเชื่อมต่อการเดินทางเข้ามาในเส้นทางสายสีน้ำเงินด้วย เป็นเหตุผลว่าทำไม BEM ต้องซื้อขบวนรถสายสีน้ำเงินเพิ่มพร้อมกับสายสีส้ม 53 ขบวน ซึ่งการเจรจาซื้อลอตใหญ่จะทำให้เราได้ต้นทุนที่ดีกว่า
ต่อจิ๊กซอว์ New S-Curve
ปี 2567 ถือเป็นปีที่ดีของ BEM มีกำไรเติบโตจากการบริหารโครงการสัมปทานที่มีอยู่ ทั้งรถไฟฟ้าและทางพิเศษ หลังจากกำไรที่เคยลดลงไปเมื่อช่วงโควิด-19 ตอนนี้กลับคืนมาแล้ว และยังทำกำไร New High ในทุก ๆ ปี จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ผลประกอบการของ BEM เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การได้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถือเป็น New S-Curve ให้กับ BEM ช่วยเพิ่มความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หนุนรายได้ให้กับสัมปทานตัวเดิมอย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพราะจะส่งผู้ใช้บริการเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้น โดยตั้งแต่เปิดการเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออกนั้นจะมีผู้โดยสารประมาณ 80% เชื่อมเข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทันที อีกทั้งยังทำให้เกิดการบริหารต้นทุนได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ (Economy of Scale) และทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ไฮไลต์ด้านแผนธุรกิจยังรวมถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มสร้างโอกาสในการลงทุนสร้างรายได้คอมเมอร์เชียล ทั้งรายได้โฆษณา พื้นที่เช่า เมโทรมอลล์ อีกทั้งสร้างความเจริญเติบโตของเมืองและด้านเศรษฐกิจตลอดสองฝั่งแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนบูมย่านการค้า การท่องเที่ยว คอนโดมิเนียม ที่คาดว่าจะเกิดตามมาในระยะยาวอีก 30 ปีตลอดอายุสัมปทาน
ดันแบ็กล็อกพุ่ง 3 แสนล้าน
นายพงษ์สฤษดิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดภาระการลงทุนของรัฐ จึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ขณะเดียวกันโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ที่ภาครัฐอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการคัดเลือกเอกชนบริหารงานเดินรถ ก็คาดว่าจะสรุปได้ภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน โดย BEM พร้อมที่จะเจรจาในทุกรูปแบบ
รวมทั้งนโยบายตั๋วร่วม ซึ่ง BEM พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ปัจจุบันบริษัทเตรียมระบบ EMV รองรับการใช้งานไว้แล้ว ส่วนเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายถือเป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์ BEM ก็พร้อมให้ความร่วมมือและเจรจาเหมือนกับโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นไปตามหลักการที่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
ด้านนายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK กล่าวเสริมว่า งานวางระบบรถไฟฟ้าสายส้ม ที่ได้ลงนาม MOU ร่วมกับ BEM ในครั้งนี้ ส่งผลให้จำนวนงานรับเหมาก่อสร้างในมือ หรือ Backlog ของบริษัทขยับมาอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้จะเป็นรายได้ในปี 2567 จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับว่าไม่สูงมากเนื่องจากเพิ่งลงนามสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยจะเริ่มเปิดไซต์ก่อสร้างในช่วงเดือนสิงหาคมนี้
สำหรับแผนธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 บริษัทมีความสนใจโครงการลงทุนภาครัฐอีกหลายโครงการ ดำเนินการควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนในไซต์ก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมั่นใจว่าไม่มีผลกระทบการดำเนินการอย่างแน่นอน
28/7/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 28 กรกฎาคม 2567 )