info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.119.164.231

SCG ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ปรับตัว 360 องศา เดินหน้าลงทุนไทย-ตปท.

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

ทำให้ยักษ์คอร์ปอเรตไทย “SCG” สร้างผลประกอบการในไตรมาส 2/67 ทั้งยอดขายและกำไรเพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาส 1/67 โดยเติบโตจากรายได้ในตลาดเวียดนามและอินโดนีเซีย รวมทั้งการลงทุนนอกประเทศอื่น ๆ เป็นตัวแปรทำให้สามารถจบตัวเลขผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 2.52 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าจบได้สวยงาม ประเมินจากความยากลำบากของภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองระดับรุนแรงที่ผู้ประกอบการทุกคนและทุกวงการล้วนเจอะเจอเหมือนกัน

ครึ่งปีแรกรายได้ 2.5 แสนล้าน

โดยซีอีโอคนที่ 12 “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลประกอบการเอสซีจีในไตรมาส 2/67 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1/67 จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของเอสซีจี เคมิคอลส์ กำลังซื้อในตลาดอาเซียนดีขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย รวมทั้งมีรายได้เงินปันผลจากการลงทุนในธุรกิจอื่น ส่งผลให้มีรายได้ 128,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อน กำไรสำหรับงวด 3,708 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53%

ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรก 2567 มีรายได้รวม 252,461 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน แบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายจากเอสซีจี เคมิคอลส์ 39% เอสซีจีพี 27% เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชั่น 16% เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่งและเอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล 13% และเอสซีจี เดคคอร์ 5%

ทั้งนี้ เอสซีจีได้รับผลกระทบจากวัฏจักรปิโตรเคมีโลกยังอยู่ในช่วงขาลง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันสูงจากสินค้าจีนตีตลาดในประเทศ และเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อที่อ่อนแอในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย

กาง 5 แผนขันนอตธุรกิจ

นางจันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน SCG กล่าวเพิ่มเติมว่า กลยุทธ์การปรับตัวของเอสซีจี เร่งเพิ่มความฟิตทางธุรกิจ สร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน ดังนี้

1.บริหารต้นทุนพลังงาน อาทิ ธุรกิจซีเมนต์ในไทยเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงทดแทน 47% 2.โฟกัสธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น มุ่งธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ครบวงจรสำหรับตลาดที่อยู่อาศัย โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม 3.ปรับปรุงการจัดเก็บ ขนส่ง กระจายสินค้า เช่น ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลวางแผนการจัดส่ง ตรวจรับสินค้า ช่วยลดเวลาทำงาน ลดความเสียหาย ลดโอกาสผิดพลาดในการรับ-ส่ง 4.ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

5.มุ่งส่งมอบโซลูชั่นที่ฟังก์ชั่นและราคา ตรงกับความต้องการของลูกค้า อาทิ CPAC รถโม่เล็ก ขนาดกะทัดรัด สำหรับงานก่อสร้างในเมืองที่มีซอยเล็ก บรรทุกคอนกรีตได้มากสุด 2 คิวต่อเที่ยว ช่วยบริหารปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ได้ง่าย ลดการเหลือทิ้งในไซต์ก่อสร้าง

ไฮไลต์ในครึ่งปีแรก มีการพัฒนาสินค้าใหม่ (NPD-New Products Development) สร้างยอดขาย 38,690 ล้านบาท สัดส่วน 20% ของยอดขายรวม ขณะที่สินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA-High-Value Added Products & Services มียอดขาย 77,037 ล้านบาท คิดเป็น 39% ของยอดขายรวม และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCG Green Choice มียอดขาย 136,124 ล้านบาท สัดส่วนสูงถึง 54%

ด้านการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมส่งออกจากไทย ครึ่งปีแรก 2567 มียอดขาย 111,367 ล้านบาท คิดเป็น 44% ของยอดขายรวม

“นูซันตารา” หนุนรายได้อินโดฯ

เทรนด์ครึ่งปีหลัง 2567 ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีความท้าทายต่อเนื่อง เอสซีจีดำเนินกลยุทธ์เน้นความคล่องตัวและมั่นคง มีเงินสดและกระแสเงินสด 78,907 ล้านบาท ในภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัว ความต้องการสินค้าลดลงตามฤดูกาล และการจัดสรรงบประมาณของรัฐที่ล่าช้า

ทั้งนี้ “กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซีเมนต์และการก่อสร้าง” ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจของเวียดนามและอินโดนีเซียที่กลับมาฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง กำลังซื้อกลับมาจากแรงหนุนของรัฐบาลอินโดนีเซียเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสร้างเมืองหลวงใหม่ “นูซันตารา” รวมทั้งรัฐบาลเวียดนามผลักดันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI-Foreign Direct Investment

“เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชั่น” เร่งผลักดันปูนคาร์บอนต่ำ เจเนอเรชั่น 2 สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 15-20% เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์เดิม โดยขยายสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกาที่สามารถผลักดันการส่งออกได้มากกว่า 1 ล้านตัน กับตลาดออสเตรเลีย

ล่าสุด เปิดตัวปูนคาร์บอนต่ำรายแรกในเวียดนาม “SCG Low Carbon Super Cement” ขณะที่ในไทยตลาดโตต่อเนื่อง สัดส่วนการใช้ทดแทนปูนแบบเดิมเกิน 86% พร้อมหนุนงานโครงการก่อสร้างภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ได้ออกผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์หลากหลายรุ่น คุณภาพและราคาเหมาะสม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าครอบคลุมมากขึ้น เช่น แบรนด์ “5 STAR” ในกัมพูชา, “BEZT” ในอินโดนีเซีย, “ADAMAX” ในเวียดนาม และแบรนด์ “แรด” ในไทย

บุกหนักทั้งรีเทล-ผนังมวลเบา

“เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล” ลุยเสิร์ฟสินค้าและบริการเรื่องบ้านผ่านร้านค้าปลีก 87 ร้านในอาเซียน โดยครึ่งปีแรกได้ขยายโมเดิร์นเทรด “Mitra10” ผู้เชี่ยวชาญตลาดค้าปลีกในอินโดนีเซีย เพิ่มอีก 2 สาขา ที่เกาะสุมาตราและเกาะชวาตะวันตก นำเสนอสินค้า 65,000 รายการ รองรับลูกค้ามากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน ตั้งเป้าขยาย 100 สาขาภายในปี 2573 จากปัจจุบันเปิดแล้ว 50 สาขา

“เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง” รุกนำเสนอนวัตกรรมวัสดุตกแต่งภูมิทัศน์ อาทิ กระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น เอสซีจี หนุนรับนักท่องเที่ยว สามารถออกแบบลวดลายเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคการพ่นสีเฉพาะ เช่น ลายดอกโบตั๋น สำหรับทางเท้าย่านเยาวราช พร้อมทั้งเปิดตัวนวัตกรรมระบบบำบัดอากาศเสีย Air Scrubber สำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก ภายใต้แบรนด์ ONNEX by SCG Smart Living เจาะกลุ่มลูกค้างานอาคารและสำนักงาน ขนาดพื้นที่ใช้สอยขนาดน้อยกว่า 3,500 ตารางเมตร ตั้งเป้าขยายบริการครอบคลุมอาเซียนและตะวันออกกลาง

“SCGD-เอสซีจี เดคคอร์” ผลักดันแผนสร้างการเติบโต 2 เท่าภายในปี 2573 ด้วยการเริ่มเดินการผลิตโรงงานแผ่นปูพื้น SPC LT by COTTO กำลังผลิต 1.8 ล้านตารางเมตรต่อปี ตั้งเป้าชิงส่วนแบ่งตลาด 500 ล้านบาท และเดินหน้าก่อสร้างโครงการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง กลุ่มกระเบื้องพอร์ซเลน สวยงาม แข็งแรง เป็นที่นิยม 3 โครงการใหญ่ในเวียดนามและไทย คาดเริ่มเดินการผลิตปี 2567 นี้

ขณะเดียวกัน เอสซีจีขยายตลาดวัสดุก่อสร้างสู่อินเดีย โดย SCG International ร่วมกับบริษัท บิ๊กบล็อก คอนสตรัคชั่น จำกัด ลงทุนเปิดโรงงานแผ่นผนังมวลเบาหรือ AAC Walls ภายใต้แบรนด์ “Zmartbuild Wall by NXTBLOC” แห่งแรกในรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่การก่อสร้างมูลค่าสูงและเติบโตต่อเนื่อง

รู้เพื่อรอด-LEARN to EARN

“เอสซีจีตระหนักถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่กระทบความเป็นอยู่ของผู้คนในวงกว้าง จึงร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ทำโครงการ Go Together ให้ความรู้ สร้างเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs โดยเริ่มจากโรงงานสระบุรี พร้อมขยายผลไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่เอสซีจีมีโรงงานตั้งอยู่ เช่น กาญจนบุรี ลำปาง ขอนแก่น นครศรีธรรมราช เป็นต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยการปรับปรุงและนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต ลดต้นทุน นำของเหลือใช้มาสร้างประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นวัตถุดิบ เชื้อเพลิง รวมทั้งใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

ควบคู่กับมูลนิธิเอสซีจี ส่งเสริมแนวคิด “LEARN to EARN เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” เน้นการเรียนรู้เพื่อมีงานทำ โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบ 3,000 ทุนต่อปี ในสาขาที่ตอบโจทย์ตลาด เช่น ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ เป็นต้น ผลลัพธ์สุดท้ายสัดส่วนมากกว่า 90% มีงานทำ

บรรทัดสุดท้าย บอร์ด SCG อนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2567 ในอัตรา 2.50 บาทต่อหุ้น เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท กำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 23 สิงหาคม 2567 กำหนดวันที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผล (XD) 7 สิงหาคม 2567 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 8 สิงหาคม 2567

5/8/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 สิงหาคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS