CIVIL เผยผลงานครึ่งปีแรก 2567 มีรายได้รวม 2,308 ล้านบาท กำไรสุทธิ 46 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้น 9.3% ทิศทางธุรกิจไตรมาส 3/2567 เร่งส่งมอบงานเก่าสะท้อนราคาต้นทุนเดิม เพิ่มโอกาสเข้ารับงานโครงการศักยภาพภาครัฐ-เอกชน ดัน Backlog นิวไฮ 25,700 ล้านบาท รับรู้รายได้ถึงปี 2570
วันที่ 22 สิงหาคม 2567 นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL ผู้นำบริษัทก่อสร้างครบวงจรชั้นนำของไทย เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/2567 บริษัทมีรายได้รวม 1,278 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,171 ล้านบาท จำนวน 107 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9%
ขณะที่ผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรก บริษัทมีรายได้รวม 2,308 ล้านบาท กำไรสุทธิ 46 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 9.3% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 8.5%
สำหรับทิศทางธุรกิจช่วงไตรมาส 3/67 บริษัทมุ่งเน้นการรับรู้รายได้จากความสามารถในการดำเนินงานโครงการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการบริหารสภาพคล่องของแต่ละโครงการ แผนการจัดการต้นทุนก่อสร้างทั้งด้านวัสดุ แรงงาน และพลังงาน
บริษัทมุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสการเข้ารับงานก่อสร้างที่มีคุณภาพ สะท้อนต้นทุนปัจจุบัน และสร้างการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถประมูลงานก่อสร้างสำเร็จในโครงการกลุ่มงานทาง และโครงการอื่น ๆ มูลค่ารวม 5,281 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทสามารถส่งมอบงานสำเร็จจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ งานก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 9 ตอน บางปะอิน-แขวงรามอินทรา และงานเปลี่ยนแปลงความสูงเสาไฟ รถไฟทางคู่ และบริษัทมีแผนเตรียมส่งมอบงานโครงการก่อสร้างจำนวน 5 โครงการ มูลค่ารวม 3,300 ล้านบาท ภายในปีนี้
อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์, โครงการพัฒนาคูน้ำวิภาวดี ตอน 2, โครงการก่อสร้างสนามบินลำปาง สนามบินหัวหิน และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่บางสะพานน้อย-ชุมพร
ปัจจุบันบริษัทมีงานโครงการก่อสร้างในมือ (Backlog) มูลค่ารวม 25,700 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2567) ซึ่งถือเป็นสถิติโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท ประกอบด้วย งานที่บริษัทได้เซ็นสัญญาแล้ว มูลค่ารวม 11,500 ล้านบาท และงานที่อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา มูลค่ารวม 14,200 ล้านบาท สามารถรับรู้รายได้จากงานโครงการทั้งหมดต่อเนื่องจนถึงปี 2570
แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างจะยังคงมีปัจจัยด้านการลงทุนภาครัฐที่ทรงตัวและอยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ตึงตัว และความผันผวนด้านต้นทุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับหลายบริษัทในด้านสภาพคล่องทางการเงินและการดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผน
อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างความได้เปรียบในอุตสาหกรรมจากการมี Backlog ที่สามารถรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง การมีแผนการจัดการต้นทุนที่ดี การใช้ระบบเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
รวมถึงดูแลผู้รับเหมาก่อสร้างอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินงานก่อสร้างตามกำหนด และมีความปลอดภัย พร้อมทั้งมองหาโอกาสในการเข้ารับงานใหม่ที่มีศักยภาพทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้และความสามารถในการทำกำไรให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นายปิยะดิษฐ์กล่าว
22/8/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 22 สิงหาคม 2567 )