ยักษ์ค้าปลีก เซ็นทรัล-เดอะมอลล์-โรบินสัน ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการช็อป ตบเท้าเพิ่มความถี่แผนรีโนเวตห้าง-ศูนย์การค้าแทบทุกปี เซ็นทรัล ลุยสร้างเอกลักษณ์รายสาขา ชิงตำแหน่งศูนย์กลางแต่ละย่าน เดอะมอลล์ รุกปรับพื้นที่ขายสู่แบรนด์ช็อปตอบโจทย์ทั้งลูกค้า-คู่ค้า ด้าน โรบินสัน ผุดธุรกิจใหม่เสริมทัพทั้งตลาดนัด-สนามเด็กเล่น ก้าวสู่เป้าหมายมิกซ์ยูส
ปัจจุบันการรีโนเวตพลิกโฉมห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าครั้งใหญ่ไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบทศวรรษอย่างที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และรูปแบบเมืองที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวตามให้ทัน
โดยยักษ์ค้าปลีกทั้งเครือเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ ได้ลงทุนรีโนเวตห้าง-ศูนย์การค้าถี่ขึ้น จากเดิมใช้เวลาประมาณ 8-7 ปี/ครั้ง มาอยู่ในระดับไม่ถึง 5 ปี/ครั้ง และหลายครั้งต่อปีในบางกรณี ซึ่งความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของวงการค้าปลีกอย่างมาก
สร้างเอกลักษณ์ชิงผู้นำย่าน
นายชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล Chief Development and Commercial Officer บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนรุ่นของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ของทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ Catchment Area หรือพื้นที่ในรัศมีให้บริการของศูนย์การค้าหลายแห่ง ทั้งด้านไลฟ์สไตล์และดีมานด์สินค้า รวมถึงกำลังซื้ออย่างรวดเร็ว และมีลักษณะเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นปิ่นเกล้า, แจ้งวัฒนะ, บางนา, กระบี่, เชียงใหม่ โดยมีลักษณะคล้ายกับการเกิดย่านต่าง ๆ ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น
ส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องเพิ่มความถี่ของการรีโนเวตสาขาจากเฉลี่ยทุก 7 ปี เป็นทุก 3 ปี หรือน้อยกว่า รวมถึงรีโนเวตให้แต่ละสาขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในพื้นที่ทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สาขาปิ่นเกล้าซึ่งกำลังรีโนเวตอีกครั้งในปีนี้ หลังรีโนเวตครั้งล่าสุดไปเมื่อปี 2566 ด้วยงบ 1,779 ล้านบาท นับเป็นการรีโนเวต 2 ปีติดกัน
ตอนนี้ความต้องการของนักช็อปเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก โดยเฉพาะความต้องการสัมผัสประสบการณ์ในการใช้บริการที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ระยะเวลาในการรีโนเวตหรือการปรับโฉมใหญ่ต้องสั้นลงตามไปด้วย นายชนวัฒน์กล่าวและว่า
โดยศูนย์การค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า โฉมใหม่จะเน้นตอบโจทย์ครอบครัวด้วยร้านอาหาร โรงภาพยนตร์คอนเซ็ปต์ใหม่ รวมถึงสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาสกิลมากกว่า 50 สถาบัน
ขณะที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ จะเน้นความครบครันทั้งการช็อปปิ้ง สวนสนุก ร้านอาหาร ไปจนถึงงานศิลปะและอีเวนต์ เพื่อตอบโจทย์การเป็น CBD ใหม่ที่เต็มไปด้วยกลุ่ม Expat, พนักงานออฟฟิศ และครอบครัวกำลังซื้อสูง
ส่วนศูนย์การค้าเซ็นทรัล บางนา โฟกัสกับความหรูที่จับต้องได้ โดยเพิ่มแบรนด์หรูราคาเข้าถึงง่าย และแบรนด์หรูยุคใหม่รวมกว่า 120 แบรนด์ ผู้ประกอบการด้านสุขภาพองค์รวม และยังมีสวนน้ำที่ใหญ่ที่สุดของย่านอีกด้วย เนื่องจากพื้นที่นี้รายล้อมด้วยโครงการที่อยู่อาศัยระดับลักเซอรี่กว่า 5,000 ยูนิต มีโรงเรียนนานาชาติระดับท็อปกว่า 20 แห่ง และประชากรมีรายได้สูงกว่าย่าน CBD บางย่าน
รวมถึงเตรียมปรับโฉมศูนย์การค้าเซ็นทรัล พัทยา เพื่อรองรับกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยว
ตอบโจทย์ทั้ง ลูกค้า-คู่ค้า
สอดคล้องกับนายรัชตะ สุทธาพัฒน์ธานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริหารสินค้า เพาเวอร์ มอลล์ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ที่กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคทุกระดับกำลังซื้อตั้งแต่แมสถึงพรีเมี่ยมเปลี่ยนแปลงไป ตัดสินใจซื้อสินค้ายากและซับซ้อนขึ้นและคำนึงปัจจัยต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น ความคุ้มค่า ความทนทาน อายุใช้งาน ฟีเจอร์ที่จำเป็น ฯลฯ โดยเห็นได้ชัดในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งแบรนด์ที่มีชื่อเสียงด้านความทนทานแม้จะราคาสูงกว่าคู่แข่งแต่ยังสามารถทำยอดขายได้ดี
สถานการณ์นี้ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกไม่เพียงแค่ต้องรีโนเวตตัวศูนย์ถี่ขึ้น แต่ยังต้องรีโนเวตย่อยเป็นรายโซนให้บ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน พร้อมวางเป้าให้สามารถตอบโจทย์ทั้งของผู้บริโภคและคู่ค้าไปพร้อมกันแบบวิน-วิน เพื่อเพิ่มศักยภาพการขายให้สูงที่สุด ซึ่งเจ้าของพื้นที่ต้องผนึกกำลังกับคู่ค้าจัดกิจกรรมและแคมเปญสร้างประสบการณ์ในการช็อปปิ้ง เช่น มีความสนุกในการเลือกซื้อสินค้า ความรู้สึกอยากได้ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจด้วย
สร้างความสนุก-รู้สึกอยากได้
นายรัชตะกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทเดินหน้ารีโนเวตโซนต่าง ๆ ทั้ง เพาเวอร์มอลล์, สปอร์ตมอลล์, บีเทรนด์, วอชแกลเลอเรีย และคิดส์ แพลเนต ของศูนย์การค้าเดอะมอลล์อย่างต่อเนื่องด้วยความถี่ที่อาจถึงระดับมากกว่า 1 ครั้งต่อปี สอดคล้องกับตัวห้างที่ลดเวลาระหว่างการรีโนเวตจากประมาณ 5 ปี/ครั้ง เป็น 3 ปี/ครั้ง
รูปแบบการรีโนเวตจะปรับรูปแบบพื้นที่ขายการสร้างแบรนด์ช็อป และแบรนด์คอร์เนอร์ ซึ่งแต่ละแบรนด์จะมีร้านค้าย่อยที่รวมสินค้าของตนไว้ในที่เดียว เช่น แบรนด์ช็อปของแอลจี ซัมซุง ไนกี้ อาดิดาส ฯลฯ แทนที่จะกระจายไปอยู่ในหมวดสินค้าต่าง ๆ แบบเดิม ซึ่งจะตอบโจทย์ด้านความสะดวกของผู้บริโภค และความต้องการโชว์จุดเด่นด้านนวัตกรรมและไลน์สินค้าของแบรนด์ นายรัชตะกล่าวและว่า
ด้านรูปแบบและสัดส่วนของแบรนด์ช็อป-แบรนด์คอร์เนอร์จะแตกต่างกันตามฐานผู้บริโภคในพื้นที่ เช่น สยามพารากอนจะเน้นโพซิชั่นศูนย์รวมแฟลกชิปสโตร์ของแบรนด์ต่าง ๆ เอ็มโพเรียม จะใช้โมเดลช็อปอินช็อป ส่วนสาขาบางกะปิ บางแค และโคราช จะเน้นแบรนด์คอร์เนอร์ เป็นต้น
คาดหนุนการเติบโต 30%
ในส่วนของกำหนดการรีโนเวตนั้น การรีโนเวตสปอร์ตมอลล์สาขาสยามพารากอนจะเสร็จเดือนตุลาคมนี้ จะมีความเป็นแฟลกชิปที่อยู่ในดีพาร์ตเมนต์สโตร์อย่างชัดเจน ส่วนเพาเวอร์มอลล์สยามพารากอนจะปรับพื้นที่อีกครั้งในปี 2568 ขณะที่สาขาในเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน จะปรับช่วงปลายปี 2567 นี้ เช่นเดียวกับในสาขาท่าพระที่กำลังปรับโซนไอทีและมือถือ หลังก่อนหน้านี้ปรับพื้นที่ของสาขาบางกะปิและบางแคไปก่อนแล้ว
นอกจากนี้ยังต้องสร้างประสบการณ์ด้านความสนุก และความรู้สึกอยากได้ ด้วยการร่วมมือกับแบรนด์จัดกิจกรรมหลากรูปแบบทั้งภายในพื้นที่ขาย เช่น บีเทรนด์ จะเน้นแนวสนุกสนาน ส่วนวอชแกลเลอเรียจะเน้นย้ำความหรูตามกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันยังต้องมีซิกเนเจอร์อีเวนต์ของบริษัท เพื่อย้ำโพซิชั่นศูนย์รวมสินค้าและการจดจำแบรนด์เพาเวอร์มอลล์ สปอร์ตมอลล์ด้วย
เชื่อว่าการรีโนเวตและการผนึกกำลังกับคู่ค้าจะช่วยผลักดันยอดขายเฉลี่ยของทั้ง 5 บียูให้เติบโตถึง 30% ตามเป้าที่วางไว้แน่นอน นายรัชตะกล่าว
แตกไลน์ธุรกิจก้าวสู่มิกซ์ยูส
ขณะที่นายเลิศวิทย์ ภูมิพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า นอกจากการปรับพื้นที่ บรรยากาศ หรือไลน์อัพร้านค้าในศูนย์แล้ว การรีโนเวตยังเป็นโอกาสเพิ่มธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาในทั้งสาขาปัจจุบันและสาขาใหม่เพื่อเป็นแม็กเนตดึงดูดลูกค้าอีกด้วย
โดยบริษัทเตรียมเพิ่มตลาดนัดกลางคืน ที่มีแคแร็กเตอร์เฉพาะตัว ด้วยสีสันและการตกแต่งตามสไตล์ท้องถิ่นนั้น ๆ, โซนช็อปปิ้งเอาต์ดอร์ รวมถึงเพลย์กราวนด์ หรือสนามเด็กเล่น ซึ่งบริษัทพัฒนาธุรกิจเพลย์กราวนด์ในชื่อ Sunday เพื่อเข้ามาเปิดให้บริการในศูนย์ด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ตั้งทีมงานออกหา คัดเลือกและเชิญชวนผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีศักยภาพเข้ามาทดลองเปิดร้านในศูนย์ พร้อมกับให้การสนับสนุนด้านการตลาดเพื่อสร้างยอดขาย
รวมถึงเสนอโอกาสต่อยอดไปยังสาขาอื่น ๆ ของบริษัทด้วยอย่าง ขนมเปี๊ยะซอย 9 ที่จังหวัดตรัง ควบคู่กับไลน์อัพคู่ค้าแบรนด์ใหญ่แบรนด์ดัง จากทั้งในและนอกเครือเซ็นทรัล เช่น ชุมชนที่มีดีมานด์ด้านอาหารอาจเลือกแบรนด์จาก CRG อย่าง ชินคันเซ็นซูชิ หรือภายนอกอย่างสุกี้ตี๋น้อย เข้ามา เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกในการเดินทางของผู้บริโภคในพื้นที่
นายเลิศวิทย์กล่าวด้วยว่า แนวทางนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของโรบินสันไลฟ์สไตล์ที่จะเป็นศูนย์รวมของดีของท้องถิ่นนั้น ๆ แบบวันสต็อปช็อปปิ้ง และก้าวเข้าสู่ความเป็นมิกซ์ยูสตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง
ธุรกิจรูปแบบใหม่เหล่านี้จะมาช่วยให้ศูนย์สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และเชื่อว่าสุดท้ายจะกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้บริโภครู้สึกว่าสามารถมาเดินได้ทุกวัน ซึ่งเราก็จะทดสอบทดลองอะไรอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ นายเลิศวิทย์กล่าว
26/9/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 26 กันยายน 2567 )