ปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น พลังงานสะอาดจึงเป็นอีกทางเลือกรวมถึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดทั้งพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวลมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาตลาดโซลาร์ในประเทศไทยได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตสูงถึง 20-30%
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประชาชาติธุรกิจ มีโอกาสเข้าชมโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ของ ONNEX by SCG Smart Living ที่เดินหน้าเป็นผู้นำนวัตกรรมและบริการด้านระบบโซลาร์
นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ธุรกิจเอสซีจี สมาร์ทลีฟวิ่ง กล่าวว่า ในปี 2567 คาดว่ามูลค่าตลาดโซลาร์จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 2566 ที่มีจำนวน 3,000-4,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากการติดตั้งระบบโซลาร์มีราคาที่ถูกลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้ายังคงมีราคาสูง
ซึ่งกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมนับว่าเป็นฐานสำคัญที่เป็นตัวเร่งการเติบโตของตลาดโซลาร์ โดยมีปัจจัยบวกจากภาครัฐเริ่มส่งสัญญาณที่ดีผ่านการเดินหน้าแก้กฎหมายปลดล็อกการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก Solar Rooftop และไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เพื่อลดค่าไฟและส่งเสริมให้ภาคเอกชนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
ชู 4 สินค้าหลัก
สำหรับ ONNEX by SCG Smart Living ได้พัฒนานวัตกรรมและบริการด้านระบบโซลาร์มาตั้งแต่ปี 2011 เริ่มต้นจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองภายในโรงงานต่าง ๆ ทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากสุดถึง 40%
โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 4 รูปแบบ คือ โซลาร์บนหลังคาที่จอดรถ (Solar Carport) ซึ่งนำร่องพื้นที่บนหลังคาลานจอดรถสำนักงานใหญ่เอสซีจี บางซื่อ พื้นที่ 3 ไร่ ขนาด 735 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าให้กับสำนักงานใหญ่ ต่อปี 993,000 เมกะวัตต์ ช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 3,525,150 บาทต่อปี ตอบสนองการใช้ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน
ระบบหลังคาโซลาร์ (Solar Rooftop) ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ เปลี่ยนพื้นที่หลังคาให้เป็นพื้นที่สร้างพลังงานสะอาด โดยโซลาร์รูฟเป็นระบบโซลาร์ที่ใช้งบฯลงทุนประหยัดที่สุด เนื่องจากเป็นการติดตั้งกับหลังคาที่ส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างมาตรฐานอยู่แล้ว การติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาก็ทำได้ง่ายกว่าการติดตั้งในระบบอื่น ๆ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าต่อปี 2,700,000 เมกะวัตต์ และนำไปจ่ายไฟฟ้าไปใช้ที่โรงงานหินกองและหนองแค ทำให้ช่วยประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 9,585,000 บาทต่อปี โซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) ต้นแบบตั้งอยู่ที่โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อ.หนองแค จ.สระบุรี บนพื้นที่ขนาด 47.5 ไร่ ขนาด 7.2 เมกะวัตต์ โดยเป็นโซลาร์ฟาร์มที่นำเสนอแพลตฟอร์มการบริหารจัดการพลังงานโรงไฟฟ้าเสมือนจริง (Virtual Power Plant) เป็นพื้นที่ทดสอบประสิทธิภาพของระบบโซลาร์ (Outdoor Experimental Space) ทั้งในด้านคุณภาพและประเภทของแผงโซลาร์, การติดตั้งแผงโซลาร์ในจุดที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ภายในพื้นที่โซลาร์ฟาร์มมีห้องควบคุมหลัก หรือ Inverter Room ขนาด 7.2 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย Invertor ซึ่งทำหน้าที่แปลงกระแสไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสสลับ และ Energy Storage ขนาด 200 เมกะวัตต์ ทำหน้าที่สำรองไฟฟ้าจากระบบโซลาร์ และเก็บไฟฟ้าในช่วงค่าไฟ Off Peak มาใช้ในช่วงค่าไฟ On Peak (Energy Arbitrage) และยังมีฟังก์ชั่นอื่น ๆ เช่น Peak Shaving ที่จะจ่ายพลังงานออกมาจากแบตเตอรี่ในช่วงเวลาที่มีการใช้โหลดไฟฟ้าสูงสุดเพื่อลดภาระค่า Peak Demand จากการไฟฟ้า
ทั้งนี้ โซลาร์ฟาร์มสามารถผลิตไฟฟ้าต่อปี 9,723,600 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จ่ายไฟฟ้าไปใช้ในโรงงานผลิตกระเบื้องได้ 2 โรงงาน คือ โรงงานหนองแค 1 SCG Ceramic และโรงงานหนองแค 2 Sosuco Ceramics ช่วยให้ประหยัดค่าไฟได้สูงถึง 34,518,780 บาทต่อปี รวมถึงได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีที่ดินจากการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ว่างเปล่า และยังได้สิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ถึง 8 ปี ในการลดหย่อนภาษีจากเงินลงทุน รวมถึงสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ที่ทางบริษัทเคยพัฒนาได้สูงสุดอยู่ที่ IRR 34% และระยะเวลาคืนทุนภายใน 3 ปี
สุดท้าย คือ โซลาร์ลอยน้ำ (Solar Floating) ขนาด 999 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ภายในโรงงานผลิตสุขภัณฑ์สยามซานิทารีแวร์ จ.สระบุรี ซึ่งเป็นระบบที่แผงโซลาร์เซลล์สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าระบบโซลาร์อื่นประมาณ 5-20% แม้จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า เนื่องจากต้องทำการติดตั้งแผงด้วยทุ่นลอยน้ำและมีต้นทุนการก่อสร้างทุ่นและระบบยึดโยงทุ่นที่ต้องคำนวณเผื่อระดับการขึ้น-ลงของน้ำตามหน้าที่เหมาะสม แต่ก็มีข้อได้เปรียบเรื่องการระบายอากาศและอุณหภูมิที่เย็นกว่าทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานของแผงโซลาร์เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ Solar Floating สามารถผลิตไฟฟ้าต่อปี 1,350,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ช่วยประหยัดค่าไฟให้กับโรงงานได้ถึง 4,792,500 บาทต่อปี
เดินแผนธุรกิจ EPC+
นายวชิระชัยกล่าวต่อไปว่า บริษัทเตรียมกลยุทธ์ Engineering Procurement and Construction : EPC+ Business Model ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยสร้าง Ecosystem ให้แข็งแกร่ง สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโซลาร์ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ส่งผลดีให้กับกลุ่มผู้บริโภค ประกอบด้วย EPC+F (Finance) เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนระบบไฟฟ้าพื้นฐานมาติดตั้งระบบโซลาร์ ผู้ประกอบการยังได้ประโยชน์จากส่วนลดค่าไฟสูงสุดถึง 40% ซึ่งแผน EPC+F นี้ ทางผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนเอง แต่ทาง ONNEX จะดำเนินการหาผู้ลงทุนให้
EPC+D (Project Development) เหมาะสำหรับนักลงทุน ที่เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ สถาบัน กองทุน ที่สนใจลงทุนในโครงการโซลาร์ แต่ไม่มีประสบการณ์หรือไม่สามารถหาโครงการที่เหมาะสมได้ ทาง ONNEX จะคัดเลือกโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายการลงทุน ขนาดโครงการ ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่มีผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ลงทุน
EPC+ O&M (Operations & Maintenance) เหมาะสำหรับเจ้าของโครงการที่ติดตั้งโซลาร์ในหลายโครงการ และเริ่มมีปัญหาในการบริหารจัดการแบบองค์รวม ทาง ONNEX จะเข้าไปดูแล Efficiency Audit, การทำ Centralized Dashboard ตลอดจนการดูแลระบบให้สามารถผลิตไฟได้ตามเป้าหมาย โดยมีรับประกันด้านประสิทธิภาพของแผงโซลาร์ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่วางแผนไว้
EPC+Alliance รูปแบบความร่วมมือกับพันธมิตร EPC ด้วยกัน ให้มีศักยภาพในการบริหารต้นทุนที่ดีที่สุดในการจัดซื้อโดยมีแผนงานเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาแผงและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบโซลาร์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ได้เริ่มดำเนินการและเปิดรับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความสนใจร่วมกันอยู่ในขณะนี้
และ EPC+Authorized Referral เหมาะสำหรับตัวแทนอิสระ ที่มีเครือข่ายลูกค้าที่มีศักยภาพในธุรกิจโซลาร์ สามารถเข้ามาเป็น Authorized Referral ได้ เพื่อร่วมธุรกิจและรับผลตอบแทนจากโครงการ
5 ปี 1,000 MW
นายวชิระชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมา ONNEX สามารถผลิตพลังงานสะอาดไปแล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 400-500 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด โดยตั้งเป้าภายในระยะเวลา 5 ปี คาดว่า EPC+ Business Model จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งในระบบพลังงานโซลาร์รวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 เมกะวัตต์ มุ่งขยายโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ Solar Farm และ Solar Floating
อย่างไรก็ดี ONNEX ยังมองถึงตลาดต่างประเทศโดยสนใจลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีค่าไฟสูง ประกอบกับเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย
บริษัทวางเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 4-5 ปีนี้ เรามองว่า ONNEX มีศักยภาพและความสามารถในการมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวได้อย่างแน่นอน ผ่านโมเดลหลัก ๆ อย่าง EPC+F และ EPC+D ถึง 80-90% นายวชิระชัยกล่าว
16/10/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 16 ตุลาคม 2567 )