info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.146.176.1

รฟม. เตรียมเปลี่ยนล้อประคองใหม่ สายสีเหลือง-สีชมพู มั่นใจปลอดภัย

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

รฟม. นำคณะสื่อมวลชนบุกโรงงานผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง-สีชมพู เตรียมเปลี่ยนล้อประคองชุดใหม่ เพิ่มตัวล็อกและเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ คาดแล้วเสร็จในปี’68 มั่นใจความปลอดภัย

วันที่ 23 ตุลาคม 2567 ที่เมืองอู๋หู (Wuhu) มณฑลอานฮุย สาธารณรัฐประชาชนจีน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานและเยี่ยมชมภายในบริษัท PATS หรือ CRRC Puzhen Alstom Transportation System Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิตและประกอบรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่ให้บริการในประเทศไทย

ภายในโรงงานบริษัท PATS มีทั้งการประกอบตัวรถ องค์ประกอบตัวรถ การทดสอบต่าง ๆ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู เนื่องจากที่ผ่านมารถไฟฟ้าโมโนเรลทั้งสองสายเคยเกิดปัญหาในการให้บริการ ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เกิดเหตุล้อประคองหลุดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. เผยว่า ได้มีการประสานเรื่องเทคนิคกับ Alstom และผู้รับสัมปทาน (บริษัทอีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด) มาโดยตลอด

“การดำเนินการแก้ไขในปัจจุบันนั้นแล้วเสร็จเกือบทั้งหมด รฟม. มีความมั่นใจว่าเมื่อได้รับการแก้ไขและปรับปรุงทางด้านเทคนิคเรียบร้อย จะมีความปลอดภัยและสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวกรวดเร็วต่อไป” นายสาโรจน์ กล่าว

สาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (กลาง)

เปลี่ยนล้อประคองชุดใหม่

นายณัฐภัทริ์ อุณหคงคา ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เผยว่า สำหรับสาเหตุที่ล้อประคองของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดลงมานั้น เกิดจากจาระบีที่เป็นตัวช่วยหล่อลื่นในการลดเเรงเสียดทานโดนความร้อนที่เกิดจากการหมุนของตัวล้อ เมื่อความร้อนเกิดขึ้น ทำให้ชิ้นส่วนเกิดการหดหรือขยายตัว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรถโมเดลเดียวกันที่มีใช้งานอยู่ในต่างประเทศ

โดย รฟม. และผู้รับสัมปทาน รวมทั้ง Alstom ในฐานะผู้ผลิตและประกอบตัวรถได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาล้อประคอง โดยทำการปรับเปลี่ยนล้อประคองชุดใหม่ ทั้งวัสดุภายในดุมล้อ และเพิ่มอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิจาระบีที่อยู่ภายในตัวล้อ

สำหรับล้อประคองที่ได้รับการศึกษาและวิจัยใหม่ Alstom ได้เพิ่มนอตเข้าไปยึดที่แกน และมีนอตอีก 6 ตัวเพื่อล็อกกันล้อประคองหล่นลงมา นอกจากนี้ ยังมีการติดเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิเพิ่มเติม เพื่อดูว่าอุณหภูมิจาระบีสูงขึ้นหรือไม่ ถ้าสูงขึ้นก็จะมีการเตือนไปยังห้องควบคุม และจะหยุดการเดินรถพร้อมแก้ไขทันที

โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่ Alstom ได้นำล้อประคองแบบใหม่มาทดสอบที่กรุงเทพมหานคร ในรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพูอย่างละ 1 ขบวน ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลจากการวิ่งทดสอบเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2568 จากนั้น จะมีการเปลี่ยนล้อประคองชุดใหม่ทั้งหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป โดย 1 ขบวนมี 4 ตู้ แต่ละตู้มี 12 ล้อ

ขณะที่ล้อประคองชุดเดิมที่ยังไม่มีการเปลี่ยน ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ดูแล และเปลี่ยนการตรวจสอบชุดล้อจากปกติรอบละ 15 วัน เป็นรอบละ 2 วัน สำหรับทุกล้อและทุกขบวนที่ออกให้บริการ รวมถึงมีการติดอุปกรณ์เพื่อตรวจวัดความร้อนที่ล้อชั่วคราวด้วย

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่กล่าวมา อยู่ในส่วนของผู้รับสัมปทานและซัพพลายเออร์ ทาง รฟม. ไม่ได้เข้าไปดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ดังนั้น รัฐจะไม่เสียผลประโยชน์ นายณัฐภัทริ์ กล่าว

ทั้งนี้ สายสีชมพูมีผู้โดยสารราว 5-6 หมื่นคนต่อวัน และสายสีเหลืองอยู่ที่ 3-4 หมื่นคนต่อวัน

23/10/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 23 ตุลาคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS