info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.144.99.39

3 นายกอสังหาฯ ฝากโรดแมป 20 ข้อ สร้างโมเมนตัมฟื้นตัวปี’68-แก้ปมจีนลงทุน 0 หยวน

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

โค้งสุดท้ายปี 2567 เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเศษ ดีเวลอปเปอร์ทั่วฟ้าเมืองไทยยังมีความหวังที่จะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

ล่าสุด 3 สมาคมวงการพัฒนาที่ดิน ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้สัมภาษณ์เพื่อร่วมกันหาทางออก และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล

เป้าหมายหลักเพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เป้าหมายรองเพื่อนำเสนอมุมมองให้รัฐบาลพิจารณาภาคธุรกิจที่อยู่อาศัย ในฐานะเป็นเครื่องจักรที่สามารถสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้ จากการมีมูลค่าสูงถึง 15% ต่อจีดีพีประเทศ

สัญญาณบวกลดดอกเบี้ย 1 สลึง

ทั้งนี้ วงการธุรกิจทั่วฟ้าเมืองไทย เพิ่งจะมีข่าวดีจาก กนง. (คณะกรรมการการเงิน) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ลดดอกเบี้ยนโยบายเป็น

ครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยลดลง 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25% โดยให้มีผลทันที

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อเสนอแนะหรือโรดแมปในการประคับประคองตลาดที่อยู่อาศัยให้ก้าวข้ามไตรมาส 4/67 ซึ่งเป็นช่วงเวลาไฮซีซั่นหรือฤดูการขาย และช่วยกันสร้างอนาคตที่สดใสในปี 2568 ผ่านนายกสมาคมทั้ง 3 สมาคม

เริ่มจาก “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” นายกสมาคมอาคารชุดไทย ถึงแม้จะมีสัญญาณบวกจาก กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% แต่เอกชนอยากเห็นความร่วมมือรัฐบาลกับแบงก์ชาติแสวงหาแนวทางลดดอกเบี้ยอีก เพื่อปลดล็อกอย่างน้อย 2 เรื่องสำคัญ คือ ลดภาระค่าผ่อนสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับคนไทย กับกระตุ้นการตัดสินใจรับโอนห้องชุดของลูกค้าต่างชาติ ซึ่งมีมูลค่าการซื้อคอนโดมิเนียมตามกฎหมายในโควตาซื้อ 49% คิดเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ 25-30% ของตลาดรวมในปัจจุบัน

ประเด็นที่เชื่อมโยงภาวะดอกเบี้ยแพงกับเข้าลูกค้าต่างชาติ เพราะการที่ไทยมีดอกเบี้ยแพง ทำให้มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนเก็งกำไร ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทแข็งค่า ยกตัวอย่าง ผู้ซื้อหลักลูกค้าจีนมีการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน 8-10% เงินหยวน 1 หยวนเคยแลกเงินบาทได้ 5.1 บาท ล่าสุด ณ เหลือ 4.6-4.8 บาท ซึ่งหมายความว่าถ้ารับโอนห้องชุดไทยในตอนนี้ จะต้องจ่ายแพงขึ้น 8-10% จึงอาจชะลอการรับโอนออกไปก่อน

เงินกู้พรีและโพสต์ไฟแนนซ์

เรื่องที่ 2 โดย “สุนทร สถาพร” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เสนอให้รัฐบาลและแบงก์ชาติ ออกมาตรการเพื่อให้สถาบันการเงินเอกชน ผ่อนคลายการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดลง รวมทั้งปล่อยวงเงินสินเชื่อสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อพัฒนาโครงการในปริมาณที่มากขึ้น เพราะปัจจุบันในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง แต่ธุรกิจแบงก์ทำกำไรสูง สวนทางกับผู้ประกอบการธุรกิจทุกวงการที่มีแต่ความบอบช้ำเพราะขาดแหล่งทุน ประชาชนขาดโอกาสเข้าถึงสินเชื่อจากปัญหายอดกู้ไม่ผ่านสูงถึง 50-70%

“ทุกวันนี้สภาพคล่องล้นระบบสถาบันการเงิน ในขณะที่สินเชื่อบ้านและคอนโดฯ เป็นสินเชื่อปัจจัย 4 มีหลักประกันที่ปลอดภัย ที่ผ่านมาทางแบงก์รัฐ โดยเฉพาะ ธอส. มีบทบาทในการจัดวงเงินแสนกว่าล้าน ให้ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกต่ำกว่า 3% ปรากฏว่าวงเงินสินเชื่อหมดในเวลารวดเร็ว แสดงถึงมีความต้องการใช้สินเชื่อสูง เพราะพฤติกรรมคนไทยสัดส่วน 90-95% ใช้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้บทบาทของธนาคารมีความสำคัญเป็นอย่างมาก”

ต่อมาตรการรัฐ-เพิ่มลดหย่อนภาษี

เรื่องที่ 3 มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ได้มีมติคณะรัฐมนตรีในยุครัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 สาระสำคัญยกเว้นค่าโอนและจดจำนอง จาก 3% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อและโอนที่อยู่อาศัยไม่เกิน 7 ล้านบาท มีอายุมาตรการถึง 31 ธันวาคม 2567 นี้ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาขาดการสนับสนุนจากภาคการเงิน หรือมีอุปสรรคจากยอดปฏิเสธสินเชื่อระดับสูง ทำให้มาตรการนี้ยังไม่เป็นตัวช่วยในปีนี้มากนัก ข้อเสนอขอให้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ต่ออายุมาตรการออกไปอีก 1 ปี โดยให้หมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2568

เรื่องที่ 4 เสนอให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง พิจารณาเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปัจจุบันมีเพดานวงเงินลดหย่อน 1 แสนบาท คำนวณจากฐานภาษี 10% ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ คิดเป็นมูลค่าลดหย่อนเพียง 10,000 บาท ข้อเสนอขอให้พิจารณาเพิ่มวงเงินลดหย่อนได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เรื่องที่ 5 เสนอให้ผ่อนปรนมาตรการ LTV-Loan to Value (มาตรการบังคับเงินดาวน์แพงสำหรับการขอสินเชื่อซื้อหลังที่ 2 เป็นต้นไป) เนื่องจากตอนออกมาตรการนี้แบงก์ชาติมองว่ามีการเก็งกำไรอสังหาฯสูง แต่วิกฤตเศรษฐกิจซ้ำซากทำให้ไม่มีการเก็งกำไรอีกแล้ว ในขณะที่การซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นความจำเป็นในการใช้ชีวิต เช่น อยู่ในเมืองใกล้โรงเรียนลูก ใกล้ที่ทำงาน เสนอให้ผ่อนปรนออกไปก่อน 2 ปี เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นสามารถกลับมาบังคับได้ใหม่

จัดซอฟต์โลนอุ้มกำลังซื้อรากหญ้า

เรื่องที่ 6 โดย “พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กระเทาะปัญหากำลังซื้อระดับกลาง-ล่าง โดยเฉพาะตลาดแมสระดับรากหญ้า ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจากปัญหาหนี้เสียมากที่สุด ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาเครดิตสินเชื่อ เสนอให้รัฐบาลมีการจัดตั้งกองทุนหรือซอฟต์โลน เพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้

เชื่อมโยงกับเรื่องที่ 7 ปัจจุบันที่อยู่อาศัยราคาถูกให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง มีเพียงหน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบอยู่คือการเคหะแห่งชาติ แต่กำลังผลิตต่อปีไม่เพียงพอกับความต้องการที่มีอยู่มหาศาล ในขณะที่ภาคเอกชนถึงแม้จะมีเงินลงทุนพัฒนาโครงการจำนวน 2,000-3,000 หน่วย แต่สร้างออกมาแล้ว ผู้มีรายได้น้อยซื้อได้แต่ไม่มีสินเชื่อที่จะมาโอนกรรมสิทธิ์อยู่ดี เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนสร้างบ้านราคาถูกขายให้กับผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น

“ปัญหาแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ทำให้เป็นภาคบังคับให้คนต้องเช่าแทนการซื้อ ตอนนี้ผมมีโครงการคอนโดฯ ที่ทำในยุคโควิด ไม่มีคนซื้อก็เลยเปลี่ยนมาทำห้องเช่าแทน ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก อัตราเช่า 90% ค่าเช่าเดือนละ 7,000 บาท ลูกค้ามีทั้งคนไทยและต่างชาติ ในขณะที่จำนวนเงินเท่ากันคนไทยผ่อนที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้”

จัดระเบียบต่างชาติถือครองอสังหา

เรื่องที่ 8 “ประเสริฐ นายกคอนโดฯ” มองว่า ปี 2567 ภาคอสังหาฯ เจอเปอร์เฟ็กต์สตอร์มจากปัจจัยลบรอบด้าน ดังนั้นจึงเป็นจังหวะที่ดีที่รัฐบาลควรถือโอกาสจัดระเบียบการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ โดยเป็นมาตรการระยะยาวที่ควรมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ข้อเสนอให้มีการเก็บภาษีอสังหาฯ ของคนต่างชาติ มี 2 รายการหลัก

ได้แก่ “ภาษีโอน” ปัจจุบันคนไทยมีภาระภาษี 2% เสนอจัดเก็บสำหรับลูกค้าต่างชาติ 4% กับภาษีอีกรายการคือ “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ประเภทที่อยู่อาศัยคนไทยจ่าย 0.02% หรือล้านละ 200 บาท เสนอให้จัดเก็บชาวต่างชาติในฐานภาษีประเภททำการค้า อัตราภาษี 0.3-1% หรือล้านละ 3,000-10,000 บาท

เรื่องที่ 9 เชื่อมโยงกับการเก็บภาษีอสังหาฯ ชาวต่างชาติ โดยนำรายได้ภาษีโอนและภาษีที่ดินฯ ที่เป็นส่วนต่างจากฐานภาษีคนไทย นำมาจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยอาจกำหนดรายได้และราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท กองทุนนี้จะสนับสนุนดอกเบี้ย 0% 3 ปี เป็นต้น คาดว่าจะมีรายได้ภาษีส่วนต่างของชาวต่างชาติเริ่มต้นปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท เป็นเครื่องมือของรัฐในการช่วยรากหญ้าโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน

ล้อมคอกอสังหาฯ จีน 0 หยวน

เรื่องที่ 9 “พรนริศ นายกอสังหาฯไทย” เสนอให้จัดระเบียบลูกค้าต่างชาติสีเทา ที่มีพฤติกรรมใช้ตัวแทนหรือนอมินีในการถือครองอสังหาฯ รวมทั้งมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ผ่านระบบนอมินี ทำให้ไม่เข้าระบบกฎหมายและระบบภาษีไทยอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขณะเดียวกันเสนอให้มีมาตรการออกมาสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติที่ทำถูกกฎหมายไทยด้วย เพื่อให้เป็นตัวช่วยในด้านกำลังซื้อและด้านการลงทุนในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

“เราเคยได้ยินคำว่าทัวร์ 0 เหรียญ วันนี้มีการพัฒนาอสังหาฯ โดยกลุ่มทุนจีน ที่ลงทุน 0 หยวนในเมืองไทย เพราะทุกอย่างขนลงเรือมาจากจีนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้าง จนถึงแรงงานในไซต์ก่อสร้างก็เป็นคนจีน ไม่มีสินค้าไทยหรือแรงงานไทยได้ประโยชน์เลย เป็นปัญหาที่รัฐบาลควรเร่งควบคุมแก้ไขโดยเร็วที่สุด”

เรื่องที่ 10 “สุนทร นายกบ้านจัดสรร” มองว่า กำลังซื้อต่างชาติที่ช็อปซื้ออสังหาฯ ไทย ทาง 3 สมาคมมีความเห็นตรงกันว่ารัฐบาลควรสนับสนุนให้ “เช่าดีกว่าขาย” เพราะการเช่าที่อยู่อาศัยระยะยาวทำให้มีการทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา รัฐก็ได้ประโยชน์ทั้งดาต้าเบสการลงทุนของต่างชาติ และรายได้ภาษีที่แท้จริง เพราะการเก็บภาษีการเช่าจะทำให้รัฐบาลไทยมีรายได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เรื่องที่ 11 สำหรับประเด็นอ่อนไหวในสังคมไทยเกี่ยวกับลูกค้าต่างชาติ ที่ในยุครัฐบาลเศรษฐามีข้อเสนอให้พิจารณา 2 เรื่องหลัก คือ ขยายโควตาซื้อคอนโดฯ จาก 49% เป็น 75% กับขยายสิทธิการเช่าจาก 30 ปี เป็น 99 ปีนั้น ขอให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง อย่าทิ้งเรื่องไว้คาราคาซัง ซึ่งเรื่องค้างอยู่ในการพิจารณาของกรรมาธิการ สิ่งที่เอกชนอยากเห็นคือเมื่อเริ่มต้นนโยบายแล้ว หลังจากศึกษาผลดีผลด้อยอย่างชัดเจนแล้วควรประกาศความคืบหน้า ส่วนจะเยสหรือโนเป็นเรื่องที่รับได้ แต่ไม่อยากให้เป็นเรื่องที่ปล่อยให้อยู่นิ่ง ๆ นาน ๆ โดยรัฐต้องทำให้มีความชัดเจน โปร่งใส ตรงไปตรงมา

เรื่องที่ 12 “ประเสริฐ นายกคอนโดฯ” กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นการขอขยายสิทธิการเช่า จาก 30 ปี เป็น 99 ปีว่า ที่ผ่านมามีกระแสคัดค้านการเช่าระยะยาว 99 ปีเพราะกังวลต่างชาติจะฮุบอสังหาฯ ไทย ข้อเสนอให้อิงโมเดลนโยบายรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่อยู่ระหว่างการให้สิทธิประโยชน์คนต่างชาติ ที่เข้าไปลงทุนในโครงการย้ายเมืองหลวงแห่งใหม่ ได้รับสิทธิการเช่าระยะยาว 80 ปี ซึ่งน่าจะเป็นการพบกันครึ่งทางสำหรับนโยบายนี้

เรื่องที่ 13 สนับสนุนการขยายโควตาต่างชาติซื้อคอนโดฯ จาก 49% เป็น 75% โดยมีเงื่อนไขจำกัดพื้นที่ต่างชาตินิยมซื้อเพียงบางทำเล ในกลุ่มราคาตลาดกลาง-บนเป็นหลัก ที่สำคัญจำกัดสิทธิในการโหวตออกเสียงนิติบุคคลคอนโดฯ หรือ Voting Right ถึงแม้จะถือกรรมสิทธิ์ 75% แต่ออกเสียงได้ไม่เกิน 49% เพื่อให้อำนาจการบริหารจัดการนิติบุคคลเป็นของคนไทย

ข้อดีจะทำให้การลงทุนคอนโดฯ บนทำเลต่างชาตินิยม เช่น สุขุมวิท ภูเก็ต พัทยา ไม่ต้องลงทุนเกินจำเป็น หรือ Over Invest เพราะหากมีความต้องการซื้อเกิน 49% ทำให้ดีเวลอปเปอร์ต้องลงทุนสร้างคอนโดฯ 2 โครงการเพื่อรองรับต่างชาติ แต่กลายเป็นภาระโอเวอร์ซัพพลายเพราะต้องหาลูกค้าคนไทยมาซื้ออีกครึ่งหนึ่ง เป็นต้น

จัดโครงสร้าง Financial Literacy

เรื่องที่ 14 ในภาคความยั่งยืนของตลาดอสังหาฯ “สุนทร นายกบ้านจัดสรร” แชร์มุมมองทุกวันนี้ปัญหาเข้าไม่ถึงสินเชื่อทำให้คนไทยกลายเป็นผู้เช่าแทนที่จะเป็นเจ้าของ โดยสัดส่วนการเช่ามีสูงถึง 25% ข้อเสนอรัฐบาลจะต้องจัดหากลไกให้วงการการซื้อที่อยู่อาศัยมีความยั่งยืน ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติเคยพูดถึง Financial Literacy เพื่อให้คนไทยมีการเตรียมตัวเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน ข้อเสนอรัฐบาลควรจัดบัญชีพิเศษสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จัดให้มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษออกมาสนับสนุน เพื่อจูงใจให้มีการออมเงินสำหรับซื้อบ้านมากขึ้น

เรื่องที่ 15 ยังอยู่ในโมเดล Financial Literacy ข้อเสนอหลังจากรัฐบาลจัดให้มีโครงสร้างการวางแผนภาคการเงินอสังหาฯ เมื่อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองแล้ว สำหรับผู้สูงวัยให้สามารถนำที่อยู่อาศัยเป็นวงจรกลับมาค้ำประกันเงินกู้ก้อนใหม่ หรือรีเวิร์สมอร์ตเกจได้ ปัจจุบันทาง ธอส. มีสินเชื่อตัวนี้ออกมาให้บริการแล้ว แต่ยังมีคนสนใจน้อยมาก ควรเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการใช้สินเชื่อก้อนนี้ในวงกว้าง

เรื่องที่ 16 ปัญหาโลกร้อนที่สหประชาชาติ หรือ UN มีการตื่นตัวออกกติกาให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาลง โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 0 หรือ Net Zero ในปี 2050 อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนมีต้นทุนดำเนินการที่เป็นภาระกับบริษัทรายกลาง-รายเล็ก ข้อเสนอให้พิจารณาปรับปรุงเกณฑ์กติกา TREE ซึ่งเป็นแนวทางอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ปัญหาคือเกณฑ์ TREE ดังกล่าวอาจเหมาะสมกับเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา ในขณะที่ไทยมีเมืองชนบทอีกจำนวนมากและเป็นส่วนใหญ่ด้วย ข้อเสนอควรปรับปรุงให้มีความเหมาะสมตามลักษณะสภาพทำเลและภูมิอากาศที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่เหมาใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศ เพราะกลายเป็นภาระให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้

EIA ล่าช้า-รัฐบาลแก้ได้ตอนกี่โมง

เรื่องที่ 17 ปัญหาการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA-Environment Impact Assessment ล่าช้า เป็นภาระหนักมากของผู้ประกอบการ ปัจจุบันเป็นภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งในระบบและนอกระบบ ข้อเสนอให้ออกมาตรการการพิจารณา EIA ลดการใช้ดุลพินิจ และมีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน เช่น ต้องจบภายใน 60-75 วัน เป็นต้น จากข้อเท็จจริงใช้เวลา 6 เดือน-1 ปีครึ่ง

เรื่องที่ 18 “ประเสริฐ นายกคอนโดฯ” เสนอให้แบงก์ชาติกับกระทรวงการคลังมีความร่วมมือใกล้ชิด เพื่อหาทางปลดล็อกเกณฑ์ LTV จนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างชัดแจ้ง, แสวงแนวทางให้แบงก์เอกชนมีการปล่อยสินเชื่อบ้านมากขึ้น เช่น แบงก์ชาติอาจลดการกันสำรองหนี้ เพื่อให้แบงก์มีรูมในการนำมาปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยสิ่งที่ไม่อยากเห็นแต่เกิดขึ้นแล้วคือธุรกิจแบงก์มีกำไรท่วมท้น แต่ลูกหนี้สินเชื่อแทบจะเอาตัวไม่รอด

เรื่องที่ 19 “พรนริศ นายกอสังหาฯ ไทย” มองเรื่องการใช้พลังงานสะอาดในที่อยู่อาศัย ด้วยการติดตั้งโซลาร์รูฟ แต่มีอุปสรรคที่ไฟส่วนเกินที่ผลิตได้ไม่สามารถขายให้การไฟฟ้าได้ ข้อเสนอให้รัฐบาลออกนโยบายให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีการรับซื้อไฟส่วนเกินจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีการติดตั้งกันมากขึ้น ทั้งยังส่งเสริมให้มีการช่วยลดปัญหาโลกร้อนอย่างได้ผลอีกด้วย

ขอ Game Changing ลงทุนรัฐ

เรื่องที่ 20 “สุนทร นายกบ้านจัดสรร” เสนอว่า ปี 2568 อยากให้รัฐบาลออกมาตรการที่เป็น Game Changing เมกะโปรเจ็กต์รัฐรอบใหม่ โดยสางปัญหาเพื่อให้การลงทุนที่คั่งค้างมีการดำเนินการต่อ ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือโครงการรถไฟฟ้าสามสนามบิน รวมทั้งผลักดันให้มีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไปสู่ภูมิภาคอีสาน เหนือ ใต้ โดยเร็วที่สุด

ปิดท้ายด้วยข้อคิดเห็นของ “ประเสริฐ นายกคอนโดฯ” ที่ฝากความหวังตั้งแต่ไตรมาส 4/67 เป็นต้นไป จะมีความร่วมมือผลักดันแพ็กเกจนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองภาคธุรกิจอสังหาฯ ให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพทำให้ฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2568 ได้อย่างเต็มรูปแบบ และมีโมเมนตัมที่แข็งแรงส่งต่อถึงผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการและผู้บริโภคอสังหาริมทรัพย์

24/10/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 24 ตุลาคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS