info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.147.78.185

นับหนึ่ง ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ วางกรอบ 15 พ.ย. ทุบค่าไฟลดฮวบ 50%

Power Plant News / ข่าวหมวดโรงไฟฟ้า

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของไทยได้ฤกษ์นับหนึ่ง กกพ.เตรียมเซ็นเอ็มโอยูกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 15 พ.ย.นี้ ตั้งคณะกรรมการศึกษา-วางกรอบดำเนินการ พร้อมทำประชาพิจารณ์ ตอบโจทย์พลังงานสะอาด-ต้นทุนต่ำ มุ่งเน้นให้ความรู้ความเข้าใจ เล็งรูปแบบโรงเล็กไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ เผยเทคโนโลยี SMR ความปลอดภัยสูง รัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร ส.อ.ท.เผยต้นทุนค่าไฟจะลดฮวบจาก 4 บาทเหลือแค่ 2 บาทต่อหน่วย

ตั้งทีมศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ทั่วโลกกำลังต้องการ และปัจจุบันเทคโนโลยีถูกทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น หากเทียบกับในอดีต ซึ่งในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 กกพ.เตรียมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา

ประกอบด้วย กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวางกรอบการดำเนินงาน แผนการศึกษา รูปแบบความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

รวมถึงด้านกฎหมายที่อาจต้องมีการร่างกฎหมายขึ้นมาควบคุม ดูแล และกำกับให้ครบทุกด้าน และการทำประชาพิจารณ์ ขณะที่ กกพ.อาจจะเป็นผู้กำกับเรื่องการออกใบอนุญาต และกำกับดูแลเหมือนเช่นกับโรงไฟฟ้าอื่นทั่วไป

สำหรับประเทศไทยในแผน PDP 2024 (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ) ได้กำหนดเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในช่วงปลายแผน คือ ปี 2580 โดยกำหนดให้มีในสัดส่วนที่ 1% ของพลังงานสะอาด (51%) แล้ว ในอนาคตไทยจะต้องมีไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดเกิดขึ้นแน่นอน

SMR ทางเลือกของไทย

เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า ไทยเหมาะที่จะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ Small Modular Reactor (SMR) ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ต่อโมดูล เนื่องจากมีต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำ ใช้พื้นที่เล็ก และเครื่องปฏิกรณ์ที่นำมาใช้ในกระบวนการจะมาในรูปแบบสำเร็จรูป ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากกว่านำมาก่อสร้างเอง ขณะที่เชื้อเพลิงหลัก คือ แร่ยูเรเนียม ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีแร่ดังกล่าว โดยสามารถนำเข้าได้จากหลายประเทศ เช่น มองโกเลีย ยูเครน ออสเตรเลีย

สำหรับข้อกังวลมีเพียงเรื่องเดียว คือ ความรู้และความเข้าใจของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้เรื่องราวความเสียหายจากในอดีตมาเป็นตัวตัดสินว่าควรเกิดหรือไม่เกิด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ประเทศยูเครนระเบิด และเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะระเบิด ซึ่งทำให้เกิดกัมมันตภาพรังสีแผ่กระจาย ส่งผลต่อประชาชนในวงกว้าง

กฟผ.เดินแผนเตรียมพร้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ พยายามมองหาพลังงานทางเลือกใหม่ที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย ได้นำคณะสื่อมวลชนดูงานและเยี่ยมชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ณ มณฑลไห่หนานสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่รัฐบาลกลางจีนตั้งเป้าหมายภายในปี 2568 พลังงานที่ใช้ในมณฑลไห่หนาน 50% ต้องมาจากพลังงานสะอาด

สู่การเป็น “เกาะพลังงานสะอาด” ภายในปี 2573 โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็น 54% พลังงานแสงอาทิตย์ 20% และพลังงานลม 15%

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า ทั่วโลกมีความต้องการไฟฟ้าสีเขียว ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความเสถียร ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ขณะที่ต้นทุนค่อนข้างสูง กฟผ.จึงมองหาพลังงานทางเลือกใหม่และบรรจุไว้ในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า

นั่นคือเทคโนโลยี “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก” หรือ SMR ที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และที่สำคัญเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความปลอดภัย นอกจากนี้ SMR มีรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร จึงสามารถทำแผนฉุกเฉินครอบคลุมภายในบริเวณรอบรั้วโรงไฟฟ้าได้

โดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้ แม้จะใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนประมาณ 2-3 เท่า แต่เมื่อเทียบกับอายุการใช้งานนานถึง 60 ปี และมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ต่ำมาก สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องนานถึง 24 เดือน จึงจะหยุดเดินเครื่องเพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงบางส่วน ย่อมคุ้มค่ากับการลงทุน

ได้ไฟมากกว่าถ่านหินแสนเท่า

นางสาวนทีกูล เกรียงชัยพร วิศวกรระดับ 10 กฟผ. ผู้เชี่ยวชาญด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR เป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 300 เมกะวัตต์ มีลักษณะเป็นโมดูลที่ผลิตและประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานผู้ผลิต สามารถขนย้ายโดยรถบรรทุกหรือรถไฟ เพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่ที่ต้องการได้อย่างสะดวก

เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่สำคัญ คือ แร่ยูเรเนียม ที่จะปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิสชั่น (Fission) เพื่อสร้างความร้อนแทนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน ซึ่งเมื่อเทียบการใช้ปริมาณเชื้อเพลิงที่เท่ากันกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ยูเรเนียมจะผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าถ่านหินถึง 100,000 เท่า และมากกว่าก๊าซธรรมชาติ 50,000 เท่า

สำหรับยูเรเนียมในธรรมชาตินั้น จะประกอบด้วย 3 ไอโซโทป คือ ยูเรเนียม-238 มีปริมาณ 99.28% ยูเรเนียม-235 มีปริมาณ 0.71% และยูเรเนียม-234 มีปริมาณ 0.005% โดยยูเรเนียมที่สามารถเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิสชั่นและนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนใหญ่คือยูเรเนียม-235

ทั้งนี้การนำแร่ยูเรเนียมมาใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จะต้องผ่านกระบวนการผลิตเพื่อแปลงสภาพและเสริมสมรรถนะ (Enriched Uranium) ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนของไอโซโทปยูเรเนียม-235 จากที่มีอยู่ตามระดับธรรมชาติ 0.71% ให้เพิ่มเป็น 3-5% ปัจจุบันประเทศที่เป็นแหล่งผลิตแร่ยูเรเนียมที่สำคัญ ๆ ของโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา คาซัคสถาน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย นามิเบีย สำหรับประเทศไทยไม่มีแหล่งแร่ยูเรเนียมที่จะทำเหมืองได้

กฟผ.คาดใช้ยูเรเนียม 8-9 ตันต่อปี

นางสาวนทีกูลอธิบายว่า เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลจากตัวอย่างโรงไฟฟ้า Hainan Changjiang SMR ของประเทศจีน ที่มีกำลังการผลิตขนาด 125 เมกะวัตต์ ใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน หรือ PWR แบบ ACP100 ใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน จะใช้ยูเรเนียมประมาณ 3 ตันต่อปี ดังนั้นหากจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 300 เมกะวัตต์ จะใช้ยูเรเนียมประมาณ 8-9 ตันต่อปี โดยขึ้นอยู่กับการใช้งานและประสิทธิภาพของเทคโนโลยี

นอกจากยูเรเนียมแล้วยังมีธาตุโลหะอื่น ๆ เช่น ทอเรียม (Thorium) พลูโทเนียม (Plutonium) ที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าได้ แต่พลูโทเนียมเป็นธาตุโลหะที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ จะต้องสกัดจากเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องปฏิกรณ์ ขณะที่ทอเรียมเป็นธาตุโลหะที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ต้องผ่านกระบวนการเพื่อให้สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงที่เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิสชั่นได้

ปัจจุบันการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่มีข้อกฎหมายห้ามให้เอกชนดำเนินการ เพียงแต่ไทยจะต้องมีความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์ การรับรู้และความเข้าใจของสาธารณชน รวมทั้งการยอมรับของชุมชน เพื่อจะเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาได้ โดย กฟผ.ในฐานะหน่วยงานของรัฐ จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในช่วงแรก

ยูเรเนียมราคาลดลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์ซื้อขายแร่ เปิดเผยราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแร่ยูเรเนียมในตลาดโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงปรับตัวลดลง ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ 76.55 ดอลลาร์/ปอนด์ เทียบกับช่วงต้นราคาพุ่งสูงถึง 106 ดอลลาร์/ปอนด์

อย่างไรก็ตาม หากดูจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 พบว่าตัวเลขระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งเป็นการคำนวณจากกำลังผลิตไฟฟ้า ที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้จริงของโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดในช่วงที่จะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) เทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด พบว่า ประเทศไทยยังคงมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ประมาณ 25.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่มีกำลังผลิตสำรองประมาณ 30.9%

พบยูเรเนียมในไทยแต่น้อยเกิน

ด้านนายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า หากดูจากข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ในประเทศไทยพบแร่ยูเรเนียมกระจายอยู่ทั่วประเทศและมีหลายชนิด ซึ่งเป็นแร่ยูเรเนียมทุติยภูมิเปอร์เซ็นต์สูง สำรวจพบที่เหมืองยิบอินซอย บ้านทุ่งโพธิ์ จังหวัดสงขลา และที่บ้านขุนทองหลาง อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ส่วนแร่ยูเรเนียมเปอร์เซ็นต์กลางพบในพื้นที่เหมืองตีนเป็ด จังหวัดพังงา และแร่ยูเรเนียมเปอร์เซ็นต์ต่ำพบในเขตอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี นอกจากนี้ ยังพบแร่ยูเรเนียมในหินทรายที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณแร่ที่พบมีจำนวนน้อย ไม่มากพอที่จะเปิดการทำเหมืองได้ ทำให้ปัจจุบันจึงยังไม่มีเหมืองแร่ยูเรเนียมในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตหากการสำรวจพบแหล่งแร่ยูเรเนียมที่ใหญ่มากพอที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุ้มกับการขุดขึ้นมา กพร.ก็จะสามารถเปิดให้ขออาชญาบัตรสำรวจ และประทานบัตรเพื่อเปิดทำเหมืองได้ เพราะมีความหวังว่าแร่ยูเรเนียมที่อยู่ในหินทราย แม้จะน้อยแต่ก็อาจเป็นแนวทางที่จะพบแหล่งใหญ่ได้ในบริเวณพื้นที่ราบสูง จังหวัดนครราชสีมา

ลดค่าไฟเหลือหน่วยละ 2 บาท

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ประเทศไทยควรมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะมีความเสถียรมากกว่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยสามารถผลิตไฟได้ 24 ชั่วโมงเทียบเท่ากับฟอสซิล แต่ควรเป็นขนาดเล็ก (SMR) หรือแบบไมโคร (MMR) เนื่องจากต้นทุนถูก เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าของไทยถูกลงเหลือเพียง 2 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย

พื้นที่เหมาะสมควรตั้งอยู่ห่างไกลชุมชน อาจอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเกาะ หรือเป็นรูปแบบฝังดิน เช่นเดียวกับที่ต่างประเทศ เพียงแต่ต้องเข้มงวดเรื่องของความปลอดภัย

สำหรับประเทศไทยเองยังคงไม่รีบร้อนที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในตอนนี้ เพราะยังต้องใช้เวลาในการศึกษา มีข้อมูลมาประกอบอีกเป็นจำนวนมาก และต้องทยอยปรับส่วนเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซธรรมชาติลง แต่เชื่อว่าภายใน 10 ปีจะเห็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นแน่นอน เช่นเดียวกับที่เยอรมนี ญี่ปุ่น อเมริกา

นอกจากนี้ พลังงานไฮโดรเจนก็เป็นอีกพลังงานทางเลือกที่ดีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย ต้องให้ กฟผ.เป็นผู้ลงทุนดำเนินการ นอกจากจะเป็นการปรับสัดส่วนให้ กฟผ.มีส่วนในการผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศแล้ว จากเดิม 32% เป็น 50% เพื่อให้กำไร 50% กลับคืนสู่รัฐ

บีโอไอยังไม่ให้สิทธิประโยชน์

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งหากจะให้สิทธิประโยชน์ต้องดูทิศทางของแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าฉบับใหม่ และนโยบายรัฐบาลประกอบการพิจารณาก่อน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า ในประเภทกิจการที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนนั้น ในหมวด 7 สาธารณูปโภค ประเภทกิจการสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐานนั้น มีสำหรับกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ มีเพียงกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะหรือเชื้อเพลิงจากขยะ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานอื่น

13/11/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 13 พฤศจิกายน 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS