การประกาศ ปิดตำนาน "โรงแรมนารายณ์ สีลม" โรงแรมขนาดใหญ่ 500 ห้อง เลื่องชื่อ ลุยแปลงโฉมเป็นโรงแรมระดับลักชัวรีสมัยใหม่ ปลุก วอลล์สตรีท ไทยแลนด์ ท้าชนแลนด์มาร์กบิ๊กอสังหาฯ ทั้งดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค , สีลมเอจ ขณะ CBRE คาดในอนาคต ทำเลเนื้อหอม ดันราคาห้อง
ข้อจำกัดไร้ที่ดินเปล่าบนถนนสีลม ย่านเศรษฐกิจการค้าเก่าแก่สำคัญของ กทม. อีกทั้งยังนับเป็น ทำเลไข่แดง ของระบบขนส่งมวลชน จุดเปลี่ยนถ่าย การเดินทางรถไฟฟ้า BTS และ MRT ทำให้วันนี้ ถนนสีลม ซึ่งไม่ต่างจาก วอลล์สตรีท ของประเทศไทย เกิดความเคลื่อนไหวด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างน่าจับตามอง ไม่ต่างจากรอยต่อ ถนนพระราม 4 ที่อนาคต กำลังคราคร่ำไปด้วยโปรเจกต์ขนาดใหญ่มากมาย
3บิ๊กโปรเจกต์รอผงาด
ถนนสีลม ที่มีศักยภาพสูงมาก ในนาม ถนนสายธุรกิจ กลับมาคึกคัก ตั้งแต่การลงหลักปักฐานสร้างตำนานบทใหม่ของ โรงแรมดุสิต หัวมุมถนนสีลม-พระราม4 สู่ บิ๊กโปรเจ็กต์ โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มูลค่ากว่า 4.6 หมื่นล้านบาท โดยผู้พัฒนา กลุ่ม ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กับ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา ในนาม วิมารสุริยา หวังปั้นเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และยังคงความเป็นดุสิตธานี ตำนานที่ยังมีลมหายใจระดับสากล เตรียมเปิดบริการ ปี 2567
ขณะในช่วงสถานการณ์โควิด19 อสังหาฯ กลุ่ม เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ในนาม บมจ. เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) เข้าปิดดีล อาคารโรบินสันเก่า พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 71 ตร.ว. หัวมุมฝั่งตรงกันข้าม ด้วยสัญญาเช่าซื้อ จาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ลงทุน 1.8 พันล้านบาท ลุยแปลงโฉมเป็น โครงการ สีลมเอจ มิกซ์ยูสที่น่าจับตามอง มีทั้งอาคารสำนักงาน และ พื้นที่ค้าปลีก รับกำลังซื้อมหาศาล 5-7 แสนคนต่อวัน เตรียมเปิดให้บริการ ก.ย.2565 นี้
ที่ฮือฮาล่าสุด กับการประกาศปิดตำนานโรงแรม นารายณ์ สีลม โรงแรมขนาดใหญ่500 ห้อง เลื่องชื่อ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ Wedding Destination ความโอ่อ่าของห้องจัดเลี้ยง ก่อนยุคโรงแรมดุสิตธานี เปิดดำเนินการมานานนับ 52 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 โดยกลุ่มบริษัท นารายณ์ โฮเต็ล ซึ่งถือหุ้นใหญ่ โดยกิจการกระดาษ ฮั่วกี่เปเปอร์ ของตระกูล นิธิวาสิน ขณะทายาทรุ่นที่ 3 เผย เตรียมอำลาตึกสูงตระหง่าน ซึ่งมีทั้งห้องบอลรูมขนาดใหญ่ และ ห้องอาหารระเบียงทอง ไปสู่การทุบ เปลี่ยนโฉม โรงแรมนารายณ์ ปรับเป็นโรงแรมระดับลักชัวรีสมัยใหม่ และ พื้นที่ส่วนรวม รองรับทราฟฟิคที่คึกคักของสีลมตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน
ทั้งนี้ โรงแรมนารายณ์ ปรับปรุงใหม่จะมีทีมผู้บริหารคนรุ่นใหม่ เข้ามาดำเนินการทั้งหมด ตั้งเป้าเป็น "An Oasis" และปลุกปั้นท้าชน แลนด์มาร์กดัง ของ กทม.อีกครั้ง โดยคาดจะใช้เวลาก่อสร้างราว 4 ปี และจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการธุรกิจโรงแรมไทย โดยจะคงความเป็น One of The Best of Bangkok อีกครั้ง
รุ่น3 นารายณ์ แย้มแผนพัฒนา
นายนที นิธิวาสิน กรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ โฮเต็ล จำกัด เผยเบื้องต้น ความท้าทายในยุคโควิด ประกอบกับเมื่อเจาะงบการเงินของโรงแรม พบ มีผลขาดทุนเกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2561 จน ปี 2564 ตัวเลขอยู่ที่ 452 ล้านบาท กลายเป็นจุดเปลี่ยนธุรกิจ ที่จำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหม่ ซึ่ง 18 ก.พ. นี้ นอกจากจะมีการจัดงาน อำลาภายใน ในหมู่พนักงานเก่าของโรงแรมนารายณ์ โดยจะเป็นการบันทึกความทรงจำร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย และ ใช้โอกาสขอบคุณ แขกผู้ที่เคยเข้ามาใช้บริการตลอด 52 ปี พร้อมกับทำพิธีย้ายศาลองค์พระนารายณ์ ชั้นด้านฟ้าของโรงแรม ไปยังสถานที่ใหม่ เดิมที โรงแรมจะจัดให้สื่อมวลชนเข้าเก็บภาพบรรยากาศภายนอก และ เปิดเผยถึงรายละเอียดของแผนการพัฒนาโรงแรมใหม่ด้วย
แต่ล่าสุด ฝ่ายสื่อสารองค์กรของโรงแรม แจ้งว่า ขณะนี้รายละเอียดของแผนการพัฒนายังไม่สิ้นสุดเรียบร้อย โดยเฉพาะ รูปแบบที่เบื้องต้น จะเป็นการทุบเพื่อสร้างใหม่ทั้งหมด พบบางส่วนอาจจะยังคงไว้ และสัญลักษณ์สำคัญ อย่าง ทับหลังนารายณ์ จะยังคงปรากฎในโรงแรมใหม่ด้วย ระบุ ทีมผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น จะให้ข้อมูลได้อีกครั้งหลังจากนี้
อย่างไรก็ตาม ตามแผนที่ปรากฎออกมาเบื้องต้น นายนที กล่าวว่า จะใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมดราว 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2565 แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. เพิ่มพื้นที่เปิดสำหรับบุคคลภายนอก ประกอบไปด้วย ร้านอาหาร ,พื้นที่พักผ่อน รูปแบบปล่อยเช่า สำหรับพ่อค้าแม่ค้าในละแวกดังกล่าว ขณะเดียวกัน ไฮไลท์ คือ การอัญเชิญ องค์พระนารายณ์ ที่อยู่คู่โรงแรมมาตั้งแต่เริ่มต้น ลงมาไว้ให้คนทั่วไปได้สักการะ หวังให้เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กใหม่ในย่านสีลม 2. โซนห้องพักหรูระดับลักชัวรี ซึ่งคาด จุดเด่นเรื่อง ห้องอาหาร ,ห้องจัดเลี้ยง ,ห้องบอลรูม ขนาดใหญ่ ยังจะเป็นสิ่งที่นารายณ์จะพลิกโฉมต่อยอดเพิ่มเติมด้วย ภายใต้แนวคิดของผู้บริหารรุ่นใหม่ด้วย
สีลมศักยภาพสูง CBRE ดัน ราคาห้องพัก
ขณะ นายอรรถกวี ชูแสง หัวหน้าแผนกธุรกิจโรงแรม ซีบีอาร์อี ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เผย ฐานเศรษกิจ ว่า ความต้องการ ในการปรับปรุง โครงการใหม่ๆ ของภาคอสังหาฯนั้น เกิดขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี และกระแสเงินสดของเจ้าของ ส่วนกรณีโรงแรมนารายณ์ ไม่ได้สะท้อนภาพสภาวะตลาดโรงแรมโดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ตามทฤษฎีแล้ว ช่วงเวลานี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี ในการที่จะปรับปรุงอาคาร เนื่องจากเป็นช่วงที่รายได้ของธุรกิจลดลง และเจ้าของส่วนใหญ่ เริ่มมีความรู้ ความเข้าใจต่อสถานการณ์ ฉะนั้น หากมีเงินสดสำรอง ก็สามารถดำเนินการดังกล่าว เพื่อวางแผนรับโอกาสสำหรับอนาคต
โดยที่ผ่านมา ทำเลสีลม ของกทม. เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เป็นย่านการค้าและมีสำนักงานร่ายล้อมคึกคัก ซีบีอาร์อี คาดว่าความต้องการในพื้นที่นี้จะเติบโตอีก เนื่องจากคุณภาพของโครงการใหม่ๆ ที่เริ่มมีการพัฒนาขึ้น และอาคารเก่าจะถูกปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาใหม่เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งจะกระตุ้นตลาดและเพิ่มราคาห้องพักของโรงแรมได้
" ภายหลังการเกิดโควิด-19 ธุรกิจโรงแรม จะยึดมั่นในมาตรฐาน เกี่ยวกับความสะอาดอย่างเข้มงวด สำหรับการออกแบบ จะเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับการเว้นระยะห่างทางสังคมและการประชุมออนไลน์มากขึ้น เป็นสิ่งที่เราจะได้เห็นในโครงการโรงแรมใหม่ๆ นับจากนี้ "
21/2/2565 ฐานเศรษฐกิจ (21 กุมภาพันธ์ 2565)