info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.147.56.125

ไทยออยล์ ปรับโครงสร้างผ่าน 3 กลยุทธ์ รุกลงทุนธุรกิจใหม่ New S-Curve

Oil & Gas News / ข่าวหมวดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ไทยออยล์ พร้อมก้าวข้ามความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงาน ผ่านกลยุทธ์ 3 Vs กระจายความเสี่ยง ปรับโครงสร้างทางการเงิน เดินหน้าลงทุนธุรกิจใหม่ New s-curve ธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินใน CAP Indonesia พร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปีอย่างยั่งยืน

วันที่ 31 มีนาคม 2565 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า บริษัทได้ทบทวนแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและบริบทของธุรกิจ พร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปีอย่างยั่งยืน

ภายใต้แนวคิด Building on Our Strong Foundation ต่อยอดธุรกิจจากพื้นฐานด้านการกลั่นที่แข็งแกร่งของบริษัทไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง กระจายผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการโดยเจาะลึกในตลาดภูมิภาคที่มีความต้องการสูง รวมถึงกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีความผันผวนต่ำและลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนของกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจใหม่อีก 10% ภายในปี พ.ศ. 2573

ทั้งนี้ แผนดังกล่าว เพื่อสอดรับกับความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบัน จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อทั้งอุปสงค์และอุปทานของธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (Oil & Gas) การเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน Energy Transition ที่ขับเคลื่อนไปสู่การใช้พลังงานสะอาด และแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของหลายประเทศทั่วโลกที่เข้มงวดมากขึ้น

ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี พ.ศ. 2608 รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของ Data และเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหมดนี้คือความท้าทายที่ไทยออยล์ต้องเผชิญ

โดยจะดำเนินการผ่านกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน (3Vs) ได้แก่ 1) Value Maximization: Integrated Crude to Chemicals เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจปิโตรเลียมและสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผ่านโครงการ CFP (Clean Fuel Project) และต่อยอดธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและ High Value Product (HVP) ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (“CAP”) ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นก้าวแรกสู่การลงทุนในธุรกิจโอเลฟิน

2) Value Enhancement: Integrated Value Chain Management Regional investment & market playground บริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า ผ่านฐานลูกค้าในภูมภาคที่มีอยู่เดิม กระจายผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการโดยเจาะลึกในตลาดภูมิภาคที่มีความต้องการสูง พร้อมเสาะหาโอกาสในการลงทุนที่เหมาะสมในภูมิภาคเตรียมฐานลูกค้าเพื่อรองรับหลังจากโครงการ CFP แล้วเสร็จ อีกทั้งขยายรูปแบบธุรกิจให้เข้าใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น เพื่อเข้าถึงความต้องการของลูกค้า

3) Value Diversifications การกระจายการเติบโต เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง โดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน รองรับความผันผวนจากธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี พร้อมกับการแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานในอนาคต โดยลงทุนผ่าน Corporate Venture Capital (CVC) และลงทุนในธุรกิจใหม่ (Step Out) เช่น Biofuel, Biochem, Bioplastic และ Hydrogen

ปัจจุบันโครงการสำคัญที่ไทยออยล์ดำเนินการอยู่ นอกจากโครงการ CFP คือการเข้าลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินใน CAP Indonesia ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซียในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตครั้งใหม่และตอบโจทย์กลยุทธ์ทรานฟอร์มธุรกิจสู่ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าสูง ซึ่งไทยออยล์จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้ทันที อีกทั้งเป็นการขยายตลาดไปประเทศอินโดนีเซียที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจำนวนมาก และมีแนวโน้มเติบเติบโตในอนาคต เพราะยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน CAP มีกำลังการผลิตรวม 4.23 ล้านตันต่อปี และมีแผนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 รองรับเป้าหมายขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวเป็น 8 ล้านตันต่อปี ภายในปีพ.ศ. 2569

นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเป้าหมายระยะยาวในปีพ.ศ. 2569 – 2573 ที่จะเดินหน้าสร้างการเติบโตครั้งใหม่ หรือ New Round of Growth ทางคณะกรรมการบริษัทฯ จึงพิจารณาปรับโครงสร้างทางการเงิน เพื่อรองรับโอกาสการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์สำหรับการเติบโตในอนาคต

นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อให้พร้อมรองรับการขยายธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนซึ่งจะช่วยลดอัตราส่วนระหว่างหนี้สินสุทธิต่อทุนของบริษัท (Net Debt-to-Equity Ratio: D/E) ให้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เท่า และคงอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit rating) ให้อยู่ในเกณฑ์กลุ่มระดับลงทุน (Investment grade) ทำให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ

ขณะเดียวกัน จะปรับลดสัดส่วนการลงทุนใน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) จำนวนทั้งสิ้น 304,098,630 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.78% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GPSC เป็นมูลค่ารวมประมาณ 22,351 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมระยะสั้น (bridge loans) จากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจโอเลฟินใน CAP และบริษัทฯ จะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวในงบกำไรขาดทุนของบริษัท

นอกจากสร้างการเติบโตทางธุรกิจแล้ว ไทยออยล์ยังยึดถือแนวทางการบริหารแบบยั่งยืน ทั้งการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อยกระดับการดำเนินงานตามกลไกเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจต่างๆ หรือธุรกิจใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีที่ทันสมัย และสุขอนามัย เป็นต้น ทำให้ไทยออยล์ได้รับการประกาศเป็นสมาชิก Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 สะท้อนถึงการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล (ESG) ในระดับสากล

31/3/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (31 มีนาคม 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS