info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.15.192.89

ทุนจีนยื้อ LRT ขอนแก่นติดหล่ม ปลุกชีพ รถราง วิ่งรอบบึงแก่นนครปี 66

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

ทุนจีนยื้อลงทุนรถไฟฟ้า LRT ขอนแก่นติดหล่ม นำร่องผนึก มทร.ขอนแก่น ทำ “โครงการรถราง” tram ทดลองวิ่งในมหาวิทยาลัย ระยะทาง 400 เมตรกลางปีนี้ ก่อนเอาจริงวางรางวิ่ง “รอบบึงแก่นนคร” ระยะทาง 4 กม. ปลายปี 2566 ด้าน บพข.เล็งถอดโมเดล “รถราง” ขอนแก่น วางฐานสู่ 22 เมืองทั่วไทย “สระบุรี-เชียงใหม่-ระยอง” พัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัด

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) นำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ของ 5 เทศบาลผลการศึกษาทั้งหมดเสร็จแล้ว พร้อมทบทวนผลการศึกษาใหม่โดยเพิ่มเส้นทางในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เพื่อรองรับประชากรเพิ่มขึ้น และเมื่อไม่นานมานี้ได้ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)

โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อขอทราบผลศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และขออนุมัติให้จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้ดำเนินโครงการเอง เพื่อให้สอดรับผลการศึกษาที่ทบทวนใหม่ ซึ่ง คจร.มีมติเห็นชอบแล้ว แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาอยู่ 2 เรื่อง คือ

1.เรื่องทุน หลังจากลงนามความร่วมมือกับประเทศจีน ตัวแทนจากสถาบันการเงินจากประเทศจีนติดต่อมาขอรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่หลายเรื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าโครงการนี้สามารถลงทุนได้ โดยจังหวัดขอนแก่นได้ส่งมอบรายละเอียดให้เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างประเมิน

2.เรื่องที่ดิน ประเด็นหลักอยู่ที่การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (TOD) ต้องให้ผู้มีอำนาจลงนามยินยอมให้ใช้ที่ดิน โดยมีการเจรจากันหลายรอบแล้วและมีเรื่องติดขัดหลายประการ กำลังร่วมกันแก้ไขอยู่ คาดว่าปี 2565 จะเห็นความชัดเจน ซึ่งยังยืนยันเป้าหมายดำเนินการเองภายในจังหวัดรวมถึงการผลิตรถเอง เพื่อให้เงินสะพัดในจังหวัด ให้ประชาชนมีอาชีพ มีงานทำ

“ระหว่างที่โครงการ LRT ติดขัดปัญหา ได้ทำโครงการรถราง (tram) หรือเรียกกันว่า “แทรมน้อย” มานำร่องวิ่งก่อน โดยที่ผ่านมาได้มีการนำเข้ารถรางมือสองจากญี่ปุ่นมาให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น (มทร.ขอนแก่น) ศึกษาจนมีการเรียนการสอน เพื่อรองรับโครงการ ทั้งดำเนินโครงการร่วมกับหลายเครือข่ายจนผลิตรถต้นแบบออกมาได้สำเร็จ คาดว่ากลางปี 2565 จะทดลองวิ่งใน มทร.ขอนแก่นก่อน เพื่อศึกษาเรียนรู้และทดสอบระบบ ไม่ใช่เพื่อการลงทุน

หลังจากนั้นจะนำโครงการแทรมน้อยมาวิ่งเส้นทางบึงแก่นนคร จะมีการศึกษาเพิ่มเติมต้องแสดงให้เห็นว่ามันเกิดความคุ้มค่าในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบบึงแก่นนคร ไม่ใช่ความคุ้มค่าจากเงินที่นำมาลงทุนแต่เป็นความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ”

นายธีระศักดิ์กล่าวต่อไปว่า แทรมน้อยรอบบึงแก่นนครจะมาพร้อมการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจ ประชาชนจะได้เรียนรู้และเห็นระบบรถรางร่วมกับการใช้ถนนด้วย ถ้าไม่มีอะไรติดขัดในปี 2566 จะเริ่มเปิดเวทีใหญ่รับฟังเสียงของประชาชนก่อน หากเสียงตอบรับดีจะขับเคลื่อนโครงการต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการทำเวทีสาธารณะจัดขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่เคยเปิดเวทีขนาดใหญ่ แต่ผลตอบรับจากการจัดแสดงนิทรรศการรถราง หรือแทรมน้อย บริเวณป้ายรถเมล์หน้าโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ถึง 6 มี.ค. 2565 ถือว่าดีมาก ประชาชนมีความเข้าใจและยอมรับมากขึ้นเมื่อได้เห็นตัวอย่างรถต้นแบบ

“หากรถต้นแบบแทรมน้อยประสบความสำเร็จ แนวทางของการนำรถต้นแบบเข้าสู่การผลิตในโครงการ LRT ขนาดใหญ่ก็จะเป็นจริง เราพยายามให้เกิดความชัดเจนของโครงการ LRT ในปีนี้ให้ได้ ซึ่งขณะนี้เห็นความชัดเจนแล้ว เมื่อโครงการใหญ่เกิดขึ้นจะสร้างอาชีพให้เด็กมีงานทำ นอกจากนี้ยังมีรถไฟทางคู่ขึ้นอีกหลายสาย เมื่อขอนแก่นสามารถผลิตบุคลากรรองรับก็เดินหน้าไปได้ ตอนนี้หลายจังหวัดอยากทำแบบเดียวกัน แต่ผลักดันขอนแก่นให้ทำให้ได้ก่อน เพราะทุกเรื่องมีปัญหาต้องแก้ไขหมด”

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นมีโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ 2 โครงการ 1.โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) เป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท 2.โครงการรถราง (tram) หรือเรียกว่า “แทรมน้อย” เป็นโครงการขนาดเล็กใช้เงินลงทุน 400-500 ล้านบาท

โครงการแทรมน้อยได้งบประมาณจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น หรือ มทร.ขอนแก่น และบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ทำวิจัยและสร้างรถต้นแบบแทรมที่วิ่งได้ด้วยงบประมาณ 100 ล้านบาท

เบื้องต้นจะทดลองวิ่งในพื้นที่ มทร.ขอนแก่น ระยะทาง 400 เมตร ตัวรถประกอบด้วย 3 โบกี้ บรรจุผู้โดยสารได้ประมาณ 200 คน ขณะนี้สร้างไปแล้ว 2 โบกี้ คาดว่าจะสร้างและวิ่งได้ในช่วงกลางปี 2565

“ตอนนี้ยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนให้เกิดโครงการรอบบึงแก่นนครต่ออีกประมาณ 300 ล้านบาท เราจะของบประมาณหลังจากทดลองวิ่งใน มทร.ขอนแก่น คิดว่าโครงการจะมีการตอบรับที่ดีจากประชาชน โดยภาพรวมน่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น ตลอดจนนักศึกษามหาวิทยาลัยหรือผู้ที่สนใจสามารถมาศึกษาดูงานได้”

มีปัจจัยที่เลือกทำโครงการแทรมน้อยรอบบึงแก่นนคร คือ 1.การทำโครงการ smart education หรือห้องเรียนระบบรางของจริงให้นักเรียนนักศึกษามาเรียนรู้ทั้งระบบการบริหารจัดการและการเดินรถตลอดระยะทาง 4 กิโลเมตร รอบบึงแก่นนคร พร้อมมีรางทุกชนิดที่มีในโลกวางไว้ให้ดูด้วย 2.จะมีโรงซ่อมบำรุงระบบราง (depot) เป็นการทำ TOD ที่สามารถบ่งชี้ถึงทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ด้วย

3.สามารถสร้างการเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ (multimodal transport) ระหว่างรถรางกับรถเมล์ 4.บึงแก่นนครจะเป็นจุดเชื่อมระบบรางเข้าสู่ตัวเมืองอีกประมาณ 400 เมตร ตามแนวเส้นทางถนนศรีนวล

ต้องพัฒนาให้รถรางวิ่งอยู่บนถนนร่วมกับรถยนต์ให้ได้ เรียกว่า ถนนสมบูรณ์แบบ (complete street) นอกจากนี้จะทำให้มูลค่าพื้นที่รวมถึงเศรษฐกิจโดยรอบสูงขึ้นด้วย ผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานจะเข้าใจได้ว่ารถรางสร้างมูลค่าให้กับเมืองได้อย่างไร และสามารถรู้เรื่องขอนแก่นโมเดลต่อไปในอนาคตได้

และตอนนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ถอดโมเดลจากขอนแ

ก่นนำไปเริ่มทดลองใช้ในจังหวัดอื่นด้วย อาทิ สระบุรี เชียงใหม่ ระยอง เป็นต้น รวม 22 เมืองในไทยที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป “เราพยายามผลักดันแทรมน้อยให้เกิดขึ้น ซึ่งรถแทรมต้นแบบได้รับบริจาคมาจากเมืองฮิโรชิมาญี่ปุ่น เมื่อเรามาพัฒนาเองไส้ในคล้ายญี่ปุุ่น แต่รูปลักษณ์ภายนอกได้แรงบันดาลใจจากแทรมรุ่นใหม่โลฟอร์จากยุโรป ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณจะช่วยพัฒนาโครงการนี้ได้มหาศาล ถ้าภาครัฐไม่สนับสนุนอาจต้องรอไปถึงปี 2567”

14/3/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (14 มีนาคม 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS