กรมที่ดิน ลงนาม MOU ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย -องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดภูเก็ต พัฒนาระบบการให้บริการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทรวงการคลังมีนโยบายจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี2565 ในอัตราเต็ม100% ขณะความเคลื่อนไหวประชาชนเจ้าของที่ดินที่เดินทางชำระภาษียังที่ตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)มีจำนวนมากและสิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมคือระบบข้อมูลที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนสามารถสืบค้นได้
ล่าสุด วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 กรมที่ดิน ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ตลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบูรณาการพัฒนาการให้บริการเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังเก่า)
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่าการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบูรณาการพัฒนาการให้บริการเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่าง กรมที่ดิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดภูเก็ต โดยกรมที่ดินได้พัฒนา Application LandsMaps ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง CU -TaxGO ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและระบบจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ประชาชนสืบค้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลตำบลฉลอง เทศบาลตำบลวิชิต เทศบาลตำบลราไวย์ เทศบาลตำบลรัษฎา เทศบาลตำบลกะรน องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะแก้ว เทศบาลตำบลป่าคลอก
เทศบาลตำบลศรีสุนทร เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี เทศบาลตำบลเชิงทะเล องค์การบริหารส่วนตำบลสาคู องค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล เทศบาลเมืองกะทู้ เทศบาลเมืองป่าตอง และองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา
อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวต่อไปว่า กรมที่ดินได้ให้บริการ Application LandsMaps โดยประชาชนสามารถค้นหารูปแปลงที่ดินและรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน ได้ทั่วประเทศผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ท ช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจในการพิจารณาจะซื้อจะขายที่ดิน
ตรวจสอบพื้นที่ที่ดิน เพื่อนำไปประเมินราคาในการกู้เงินกับสถาบันการเงิน และใช้ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับที่ดินและทรัพย์สินของตนเองได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ใช้ในการวางแผนเพื่อบริหารจัดการกับที่ดินของตนเองและที่ต้องการจะซื้อจะขายเพื่อขยายธุรกิจในอนาคตได้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าใช้งานในระบบมากกว่า94 ล้านครั้ง ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเพิ่มช่องทางให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประชาชน และเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการ เทคโนโลยีและสร้างเครือข่ายการทำงานอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
21/5/2565 ฐานเศรษฐกิจ (21 พฤษภาคม 2565)