info@icons.co.th 02 810 8892-6 52.15.254.64

เปิดตัว วรพนิต-พิชญา-พริษฐ์ ทายาท 2 ตระกูล ปักธงอสังหา 3 หมื่นล้าน

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

หลังวิกฤตโควิด เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ที่อยู่อาศัยทั่วโลก

วงการอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย เปิดตัวโครงการลงทุนอภิมหาโปรเจ็กต์ยักษ์ ระดับท็อปในอาเซียน

ภายใต้การจับมือของ 2 นักธุรกิจ ชาญชัย รวยรุ่งเรือง กับ พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ปักหมุดให้ 3 ทายาทเข้าบริหารเต็มตัว

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดใจนักธุรกิจรุ่นใหม่ วรพนิต รวยรุ่งเรือง พิชญา-พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นครั้งแรก

จุดเริ่มต้นโครงการ 3 หมื่นล้าน

“วรพนิต รวยรุ่งเรือง” หรือพลีส ซีอีโอ โครงการ Reignwood Park ลำลูกกา ฉายภาพโครงการว่า ในปี 2563 คุณพ่อ (นายชาญชัย รวยรุ่งเรือง) ก็กลับมาเมืองไทย และได้ฟังท่านประธานสี จิ้นผิง กล่าวกับกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าชีวิตคนเราสำคัญที่สุด เมื่อเกิดโรคระบาด เราต้องปกป้องดูแลให้ดีที่สุด คุณพ่อก็เป็น ส.ว.ที่จีน และชื่นชมนโยบายนั้น และนำมาปรึกษากันจะเกิดเป็นโครงการ

วรพนิต รวยรุ่งเรือง

จึงปรึกษากับลุงเพ้ง (นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล) อยากหาพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่สีเขียวชอุ่ม ที่ปกป้องจากโรคระบาด อยากให้มีคอมมิวนิตี้ในเมืองไทย เพราะมีหลายปัจจัย คนก็น่ารัก มีมารยาท ยิ้มสยามอ่อนน้อม อาหารอร่อย ค่าครองชีพถูก น่าจะมีที่ชานเมืองแต่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก

“เราได้ที่ตรงรังสิต ลำลูกกา คลอง 11 เป็นที่ดินติดถนนใหญ่ กว้าง 3 กิโลเมตร และยาวด้วย เราดูว่า มันเปอร์เฟ็กต์สำหรับตรงนี้เลย เลยตกลงกับลุงเพ้งว่า อันนี้น่าจะเหมาะ เพราะเรามีทำที่อื่นด้วย เช่น มณฑลต้าหลี่ ที่ยูนนาน อยู่ฝั่งใต้ และภาคกลางของจีน ที่จิงกุ้ยหู มณฑลหูเป่ย์”

เราแบ่งเป็นเฟส แต่ภาพรวมที่เรามองประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท เชื่อมั่นว่าเราต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าหรือสมาชิกของ Reignwood ซึ่งโครงการที่เมืองไทยถือว่าใหญ่ในอาเซียน ทุก ๆ อย่างที่คิด ทั้งทำเล การออกแบบ วัสดุ ทุกอย่างทั้งสถาปัตยกรรม นวัตกรรม เราต้องการให้ดีที่สุด

เงินที่เราลงไปเป็นระยะยาว ที่เรามองว่าเติบโตไปกับมัน มั่นคงและยั่งยืน มันมีทั้งโรงเรียนนานาชาติ มีสนามกอล์ฟ สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ศูนย์กีฬา อาจจะมีอีสปอร์ตเข้าไปด้วย มีกรีนเฮาส์ปลูกผักผลไม้ และเราก็ยังมีศูนย์รีไทร์เมนต์ มีบ้านพักตากอากาศที่อยู่ทั้งในสนามกอล์ฟ เราพยายามเชื่อมโยงให้เหมือนเป็นชุมชน ให้เขารู้สึกว่าเป็นเมืองใหม่ นี่คือบ้านของเขา จึงลงทุนค่อนข้างเยอะพอสมควร

เราเชื่อมั่นว่าจีนเป็นฐานหลักที่แข็งแกร่งของไทย คนจีนมองด้านการศึกษา จึงนำมาเป็นจุดดึงดูด ไม่ต้องไปไกลถึงสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ยิ่งตอนนี้มีข่าวเรื่องการเหยียดชาติ ไปที่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเขาต้อนรับเราทั้งหมด เราก็มองว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าที่จีนมาที่โครงการเรา

ความสัมพันธ์เหยียนปิน-เฮียเพ้ง

“วรพนิต” เป็นทายาทของ “ชาญชัย รวยรุ่งเรือง” หรือเหยียนปิน เกิดและโตที่เมืองไทย เข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่ง ด้านนิเทศศาสตร์ สาขาโฆษณา

“ส่วนลุงเพ้ง (พงษ์ศักดิ์) เป็นเพื่อนสนิทคุณพ่อมาเกือบ 20 กว่าปี เป็นคนที่พาคุณพ่อมารู้จักด้านการเมือง และนักธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทย ลุงเพ้งเป็นคู่หูคู่ซี้ เพื่อนสนิทของคุณพ่อ เวลากลับมาเมืองไทยก็มาหาลุงเพ้งตลอด”

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อใจ และความที่ลุงเพ้งมีประสบการณ์ด้านอสังหาริมทรัพย์ และมีคอนเน็กชั่นที่ดีในเมืองไทย ดังนั้น การเลือกคู่คิดที่รู้ใจ แกมองหลาย ๆ ปัจจัย ถ้าที่เมืองไทยเป็นลุงเพ้งเป็นชอยซ์ที่ดีที่สุดแล้ว”

พิชญา รักตพงศ์ไพศาล

จับมือทายาท “พงษ์ศักดิ์” คอนเน็กชั่นแน่น

สำหรับ “พิชญา รักตพงศ์ไพศาล” หรือกิ๊ก ลูกสาวฝาแฝดของ “พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” รับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการ Reignwood Park เรียนจบมาด้านจิตวิทยาการศึกษาและสังคมศาสตร์ ถูกวางตัวมาเพื่อไปบริหารโรงเรียนนานาชาติ KIS

“แต่หลังจากที่เรียนจบ รู้สึกว่าอยากค้นคว้าอะไรอย่างอื่น จึงมาทำธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งมันก็ค่อนข้างใหม่สำหรับเรา”

หน้าที่รับผิดชอบเกือบทุกอย่างของโครงการ เริ่มตั้งแต่ออกแบบคิดค้นโครงการ ทำคอนเซ็ปต์ วางคอนเซ็ปต์ ดูเรื่องงานออกแบบ เรื่องวิศวกรรม พี.อาร์. มาร์เก็ตติ้ง และตอนนี้มาดูเรื่องการทำประชาสัมพันธ์นำโครงการนี้ออกสู่สาธารณชน

ตอนนี้ใกล้เสร็จเฟสแรก มีทั้งสนามกอล์ฟ คลับเฮาส์ และสาธารณูปโภคต่าง ๆ มีบ่อหัวใจ มีลู่วิ่ง ลู่จักรยานรอบโครงการ 10 กิโลเมตร เราคาดว่าจะเปิดสนามกอล์ฟและคลับเฮาส์ให้คนเข้ามาเริ่มใช้บริการได้ประมาณปลายปีนี้

ส่วนเฟสสองที่จะตามมาจะมีโรงเรียนนานาชาติ สปอร์ตคอมเพล็กซ์ หมู่บ้านจัดสรร คอมมิวนิตี้มอลล์ แอดเวนเจอร์ปาร์ก และสวนด้านหลังทำเป็นกรีนเฮาส์ปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษ ที่จะตามมาทีหลัง น่าจะก่อสร้างได้ประมาณปี 2566

ที่พักอาศัยในโครงการจะมีทั้งหมด 3 แบบ แบบที่หนึ่ง จะทำคล้ายเป็น health and wellness home สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ต้องการฟื้นฟูร่างกาย มีหมอ พยาบาล นักโภชนาการมาดูแล เน้นทุกอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด ทั้งหมดมี 621 ยูนิต เน้นเป็นเช่าระยะยาว ไม่ได้ขาย

บ้านแบบที่สอง จะเป็นหมู่บ้านจัดสรรที่อยู่รอบบรรยากาศสนามกอล์ฟ พาร์ 3 สนามกอล์ฟ 9 หลุม มีเพียง 101 ยูนิต มีพื้นที่ 150 ตร.ว. ออกแบบดีไซน์เป็นแนวสแปนิชโคโลเนียลผสมผสานกับดีไซน์เทคโนโลยี ข้างในเป็นสมาร์ทโฮม

บ้านแบบที่สาม จะคล้ายแบบที่สอง แต่จะเข้าไปอยู่รอบ ๆ บริเวณบรรยากาศสนามกอล์ฟ 18 หลุม The Castle บ้านจะขนาดใหญ่ ประมาณ 1,000-2,000 ตร.ม. เรียกว่าเป็นคฤหาสน์ก็ได้ เนื้อที่ต่อ 1 หลังคือ 1-2 ไร่ มีเพียง 64 ยูนิตเท่านั้น (ข้าม) แบบที่สาม ยังไม่มีการตั้งราคาว่าเท่าไร จะเปิดจริง ๆ ให้คนมาจับจองคาดว่าปลายปี 2565อ พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล

ทุ่ม 6 พันล้าน ผุด ร.ร.นานาชาติ KIS

“พริษฐ์ รักตพงศ์ไพศาล” หรือกุ๊กลูกชายฝาแฝดกับ “กิ๊ก” เป็นผู้จัดการโรงเรียนนานาชาติ KIS กล่าวถึงแผนการสร้างโรงเรียนนานาชาติ KIS แห่งที่สองที่เป็นหนึ่งใน magnet ของโครงการว่า จะเป็นโรงเรียนนานาชาติที่เป็นระบบ internationalbaccalaureate บนพื้นที่กว่า 150 ไร่ในโครงการ รองรับนักเรียนได้ 2,000 คน

ที่เราตัดสินใจสร้างแห่งที่สอง เพราะเชื่อว่าโลกและนิยามคำว่า “การศึกษา” กำลังเปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการ เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้น จึงเตรียมความพร้อมให้นักเรียนของเรา เราลงทุนอย่างหนักในทุกด้านสาขาวิชา ไม่ว่าด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ วิทยาศาสตร์ เช่น แพลตฟอร์ม โรโบติกส์ หุ่นยนต์ AR AI และเมตาเวิร์ส

ใช้งบประมาณ 6 พันล้านบาท และอีก 1 จุดที่ต่างไปคือ โรงเรียนนี้จะเป็นโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนไป-กลับ และโรงเรียนประจำ เพื่อเปิดโอกาสให้คนในโรงเรียนมีสังคมร่วมกัน มาใช้ชีวิตร่วมกัน และมาอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติและพื้นที่สีเขียว เพราะในช่วงโควิด-19 ทุกคนห่วงใยสุขภาพมากขึ้น

โครงการเรามีพื้นที่ส่วนกลางค่อนข้างเยอะ เปิดโอกาสให้นักเรียนและคนอื่นในสังคมโรงเรียนมาใช้ชีวิตร่วมกัน เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองกำลังมองหาอยู่ แผนที่เราวางไว้น่าจะตอบโจทย์พอสมควร

“อยากขอให้ผู้ปกครองมั่นใจ ซึ่งเราสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำคือทำงานด้วยความมุ่งมั่น การันตีได้ด้วยว่า ผมก็ผ่านโรงเรียนนานาชาติ KIS มาเหมือนกัน ผมกับน้องสาวคือเรียนโรงเรียนนานาชาติ KIS ชื่อเก่าคือเกศินี ตั้งแต่เด็ก จนถึงจบ ม.ปลาย เราเองมีความคุ้นเคย ความเข้าใจในโรงเรียนของเราเอง”

25/6/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (25 มิถุนายน 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS