info@icons.co.th 02 810 8892-6 35.171.45.182

คลองสำโรง จ.สงขลา’ จากคลองเน่าเหม็น-ชุมชนแออัด ก้าวย่างสู่การฟื้นฟู “คลองสวย-น้ำใส-ไร้ขยะ-ชุมชนมีสุข”

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

บริเวณปากคลองสำโรงชุมชนเก้าเส้งที่เชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย กำลังจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมา

คลองสำโรง อ.เมือง จ.สงขลา เป็น 1 ใน 4 ลำคลองสายหลักในประเทศไทยที่กำลังจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมา หลังจากที่มีการเริ่มต้นฟื้นฟูคลองที่เน่าเสียไปแล้ว คือ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร กรุงเทพฯ และคลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ โดยการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางไหลของน้ำ ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำหรือตลิ่งกั้นลำคลอง ขุดลอกคลอง ก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ปรับสภาพภูมิทัศน์ชุมชนให้ดูสวยงาม ร่มรื่น ฯลฯ

ส่วนที่คลองสำโรงนั้น ปัจจุบันสภาพน้ำในคลองมีสีดำ เน่าเหม็น มีบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลอง และมีสภาพเป็นชุมชนแออัดเสื่อมโทรมไม่ต่างจากคลองที่กล่าวมาเท่าใดนัก !!

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการจัดงาน “Kick off การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรง คลองสวย น้ำใส ไร้ขยะ ชุมชนมีสุข” ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการ เวทีเสวนา การลงพื้นที่ชุมชนสร้างเพื่อความเข้าใจกับชาวชุมชน การสำรวจข้อมูล และกิจกรรมฐานการเรียนรู้

นอกจากนี้ยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสงขลาและส่วนกลาง รวมทั้งหมด 25 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนและคลองสำโรง โดยมีนายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นสักขีพยานการลงนาม พร้อมด้วยผู้บริหารท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ เช่น อบจ.สงขลา พมจ.จังหวัดสงขลา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เครือข่ายชุมชนจังหวัดสงขลา และผู้แทนชุมชนริมคลองสำโรง

คลองสำโรง เป็นคลองธรรมชาติ มีที่มาจากต้นสำโรง เป็นไม้ยืนต้น ในอดีตคงจะมีต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่หนาแน่นบริเวณริมคลอง รวมทั้งบริเวณภูเขาที่อยู่ไม่ไกลจากคลอง ผู้คนในท้องถิ่นจึงเรียกชื่อคลองและภูเขาตามชื่อต้นไม้ชนิดนี้ (ปัจจุบันเขาสำโรงอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา)

คลองสำโรงมีความยาวประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ เชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทย ในอดีตเป็นร่องน้ำใหญ่ มีความกว้างประมาณ 50 เมตร เรือสินค้าหรือเรือสำเภาต่างชาติสามารถแล่นผ่านทะเลอ่าวไทยเข้าสู่คลองสำโรงเพื่อไปค้าขายกับเมืองท่าต่างๆ ในทะเลสาบสงขลาได้ (นอกเหนือจากเส้นทางสายหลัก คือ ปากทะเลสาบสงขลา บริเวณ ‘หัวเขาแดง’ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกสงขลา อยู่ห่างจากปากคลองสำโรงประมาณ 20 กิโลเมตร)

ภาพถ่ายดาวเทียม เส้นสีแดงแสดงแนวคลองสำโรงเชื่อมกับทะเลสาบสงขลา (ซ้าย) และเชื่อมกับทะเลอ่าวไทย (ขวา) ทะเลสาบสงขลา มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ตารางกิโลเมตรเศษ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช มีเมืองสำคัญตั้งอยู่รอบทะเลสาบ เช่น สิงหนคร สทิงพระ ระโนด ปากพะยูน ฯลฯ โดยเฉพาะที่บริเวณเกาะสี่ เกาะห้า อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง มีสินค้าสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ ‘รังนกนางแอ่น’ ที่ส่งไปขายเมืองจีนตั้งแต่สมัยโบราณ (มูลค่าสัมปทานช่วงปี 2565-2570 จำนวน 450 ล้านบาท)

จากสภาพภูมิศาสตร์ ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งรองรับน้ำจืดจากสายคลองต่างๆ ที่ไหลมาจากพื้นที่รอบๆ ทะเลสาบ และมีน้ำทะเลจากอ่าวไทยที่หนุนเข้ามา ทำให้ทะเลสาบสงขลามีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มผสมกัน คือตอนบนของทะเลสาบเป็นน้ำจืด ตอนกลางเป็นน้ำกร่อย และตอนล่างเป็นน้ำเค็ม

สัตว์น้ำในทะเลสาบสงชลาจึงมีหลากหลาย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้งปลานานาพันธุ์ พืช ผักน้ำ เป็นแหล่งอาศัยของนกและสัตว์ต่างๆ เป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนรอบทะเลสาบมาช้านาน

ปลาท่องเที่ยว (ตัวเรียวยาวคล้ายปลาหลด) ชาวประมงหาได้เฉพาะฤดูนี้ในทะเลสาบสงขลาบริเวณที่เชื่อมต่อกับคลองสำโรง ส่วนคลองสำโรงแม้จะมีความยาวเพียง 5.4 กิโลเมตร แต่ในอดีตสายน้ำนี้ที่เชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลาก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน กุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนริมคลอง เป็นที่หลบลมมรสุมของเรือใหญ่น้อย ทั้งยังแล่นเรือจากทะเลอ่าวไทยผ่านคลองสำโรงเข้าสู่ทะเลสาบสงขลาได้สะดวก ไม่ต้องอ้อมไปทางปากทะเลสาบที่อยู่ห่างจากปากคลองสำโรงประมาณ 20 กิโลเมตร

อำนวย สุวรรณละออง วัย 61 ปี อดีตชาวประมงพื้นบ้านชุมชนท่าสะอ้าน ริมคลองสำโรงตอนปลายที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา บอกว่า ก่อนปี 2527 ตอนนั้นน้ำในคลองสำโรงยังไม่เน่าเสีย ชาวบ้านยังหาปลามากินและขายไม่อดอยาก เช่น ปลากะพงตัวใหญ่ๆ ขนาด 5-6 กิโลกรัม ปลากระบอกหาได้วันหนึ่งเกือบเต็มลำเรือ

“เมื่อก่อน…วันไหนไม่รู้ว่าจะกินอะไรดี จะเอาหัวปลาที่กินเหลือจากเมื่อวานผูกเชือกแล้วโยนลงในคลอง สักพักปูดำจะมารุมกินหัวปลา แล้วสาวเชือกเข้ามา เอาสวิงตัก ได้ปูตัวเท่าฝ่ามือ กุ้งกุลาในคลองก็มีตัวเท่าข้อมือผู้ใหญ่ ไม่ต้องออกไปหากินไกล แค่ในคลองก็พออยู่ได้” อำนวยบอกถึงวันวานที่ไม่หวนคืน

เพราะวันนี้น้ำในคลองสำโรงตลอดสายคลองเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น ดำกว่าน้ำโอเลี้ยง แต่กินไม่ได้ !!

บ้านเรือนริมคลองสำโรงบริเวณใกล้โรงงานคิงฟิชเชอร์ อ.เมืองสงขลา บางช่วงมีความกว้างประมาณ 7 เมตร จากเดิมที่เคยกว้าง 40-50 เมตร จอมพลสฤษดิ์และการก่อเกิด ‘เก้าเส้ง’ ชุมชนปากคลองสำโรง

ชุมชนเก้าเส้ง ตั้งอยู่ปากคลองสำโรงบริเวณที่เชื่อมต่อกับทะเลอ่าวไทย ไม่ไกลจาก ‘แหลมสมิหลา’ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดสงขลา ชุมชนแห่งนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นมาในช่วงปี 2502 หรือราว 63 ปีมาแล้ว เป็นชุมชนที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนภาพชุมชนริมคลองสำโรงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ดี

ใจดี สว่างอารมณ์ หรือ ‘ป้าเอียด’ วัย 72 ปี อดีตผู้นำชุมชนเก้าเส้ง (เป็นประธานชุมชนช่วงปี 2542-2548) เล่าว่า ป้าเกิดเมื่อปี 2493 ที่จังหวัดพัทลุง พ่อแม่มีอาชีพทำนา แต่ได้ข้าวไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว พ่อแม่จึงอพยพเข้ามาทำมาหากินที่จังหวัดสงขลาที่อยู่ติดกัน ป้าได้เรียนถึงชั้น ป. 4 ก็ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน ทำงานหลายอย่าง

พอเริ่มเป็นสาวก็มารับซื้อปลาแห้ง ปลาเค็มจากชาวประมงที่เก้าเส้งเอาไปขายที่ชายแดนมาเลเซียด้าน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส พอค้าขายเริ่มดี ประมาณปี 2511 ครอบครัวจึงย้ายเข้ามาอยู่ที่เก้าเส้งเพื่อจะรับซื้อปลาได้สะดวก โดยซื้อบ้านต่อจากคนที่เข้ามาอยู่ก่อน ตอนนั้นป้าอายุได้ 18 ปีแล้ว

‘ป้าเอียด’

“คนรุ่นแรกๆ ที่มาอยู่เก้าเส้ง พวกเขาบอกว่าเข้ามาอยู่เมื่อปี 2502 ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง เดิมอยู่ที่แหลมสนอ่อน ปีนั้นจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ ชาวบ้านเล่าว่าจอมพลสฤษดิ์มาที่แหลมสมิหลา แล้วเดินมาเที่ยวที่แหลมสนอ่อนที่อยู่ติดกัน แต่ท่านเดินไปเหยียบเอากองอุจจาระของชาวประมง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีส้วม ท่านจึงสั่งให้ย้ายชุมชนชาวประมงที่แหลมสนอ่อนมาอยู่ที่เก้าเส้ง ปากคลองสำโรง ห่างกันประมาณ 5 กิโลฯ จนกลายเป็นชุมชนใหญ่จนถึงทุกวันนี้” ป้าเอียดเล่าจุดกำเนิดของชุมชนเก้าเส้ง

นั่นเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ แม้ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจอมพลสฤษดิ์เดินทางมาที่จังหวัดสงขลาด้วยภารกิจใด และในช่วงเวลาใดของปี 2502 แต่หลักฐานด้านหนึ่งก็อาจจะช่วยต่อภาพให้เห็นการพัฒนาเมืองสงขลาได้บ้าง !!

จากการสืบค้นประวัติของจอมพลสฤษดิ์ พบว่า ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2502 จนถึงช่วงปลายปี 2506 นั้น จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาประเทศหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเป็นประเทศส่งสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดโลก เช่น การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเพื่อส่งสินค้าไปต่างประเทศ และการนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจมาใช้เป็นครั้งแรกและฉบับแรกในปี 2504

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2502 คณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับเรื่องการสร้างท่าเรือว่า “ท่าเรือที่ดีนั้นควรจะสร้างที่ศรีราชา และควรมีท่าเรืออีกสักแห่งที่จังหวัดสงขลา และให้กระทรวงคมนาคมรับไปทำโครงการตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอ เพื่อพิจารณาต่อไป…”

นี่เป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นถึงเหตุผลที่จอมพลสฤษดิ์ต้องเดินทางมาดูชายทะเลสงขลาด้วยตนเองในปี 2502 เพราะเป็นโครงการที่ท่านจอมพลเสนอเอง แต่ท่าเรือน้ำลึกสงขลากว่าจะได้ลงมือศึกษาก็ย่างเข้าปี 2505 โดยรัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาจากสหรัฐอเมริกามาสำรวจและศึกษา ขณะที่จอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตไปก่อนในช่วงปลายปี 2506

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้การศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างท่าเรือสงขลามีการเปลี่ยนแปลงไปมา รวมทั้งยังมีข้อเสนอให้ก่อสร้างท่าเรือที่บริเวณปากคลองสำโรงด้วยจนถึงปี 2525 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่าเรือน้ำลึกสงขลาจึงได้เริ่มต้นก่อสร้างที่บริเวณหัวเขาแดง ปากทะเลสาบสงขลา และแล้วเสร็จในปี 2531…!!

จะเห็นปากคลองสำโรงบริเวณชุมชนเก้าเส้ง (ปัจจุบันแยกเป็นชุมชนบาลาเซาะห์) ที่ไหลออกทะเลอ่าวไทยมีสีดำ เพราะน้ำเน่าจากคลองสำโรงไหลออกมา ส่วนน้ำทะเลไหลเข้าไปหมุนเวียนไม่ได้ เพราะมีตะกอนทรายทับถมปิดกั้นปากคลองเก้าเส้งกับการเปลี่ยนแปลง

ย้อนกลับมาที่ชุมชนเก้าเส้ง แม้ว่าชาวประมงที่ชุมชนเก้าเส้งจะโชคดีที่ไม่ต้องถูกรื้อย้ายเป็นครั้งที่ 2 เพราะรัฐบาลในสมัยต่อมาไม่ได้เลือกพื้นที่ปากคลองสำโรงเป็นสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา แต่ชุมชนเก้าเส้งก็เสี่ยงกับการถูกไล่รื้อมาตลอด เพราะที่ดินที่ชาวบ้านปลูกสร้างบ้านเรือน จอดเรือประมง ตากปลา ทำปลา เป็นที่ดินราชพัสดุที่ทางเทศบาลสงขลาดูแลอยู่ เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 21 ไร่เศษ มีชาวบ้านอยู่อาศัยในช่วงแรกประมาณ 56 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นชาวประมงจากแหลมสนอ่อนที่โดนไล่มา (พื้นเพเป็นคนสทิงพระ ระโนด และชาวมุสลิมจากสงชลา)

ป้าเอียดบอกว่า ชุมชนเก้าเส้งเมื่อก่อนนั้นยังมีสภาพเป็นป่าเสม็ดริมทะเล เป็นที่ดินรกร้าง สมัยก่อนเทศบาลใช้เป็นที่ฝังกลบอุจจาระที่ขนใส่ถังเมล์จากในเมืองสงขลามาทิ้ง มีประมาณ 2 หลุมใหญ่ แต่ช่วงที่ป้ามาอยู่เมื่อปี 2511 นั้น เทศบาลได้กลบหลุมทั้งหมดแล้ว และยังไม่มีการตัดถนนเลียบชายทะเลและถนนผ่านหน้าชุมชน

“ชาวบ้านที่มาอยู่รุ่นแรกๆ ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้า ต้องขุดบ่อน้ำใช้ หรือใช้น้ำคลอง เพราะตอนนั้นน้ำยังไม่เน่าเสีย กลางคืนต้องจุดตะเกียง คนภายนอกไม่กล้าเดินเฉียดมาที่เก้าเส้ง เพราะทั้งมืด ทั้งเปลี่ยว” ป้าเอียดบอก

ต่อมาในปี 2520 ชุมชนเก้าเส้งเริ่มหนาแน่นขึ้น เพราะมีหน่วยราชการต่างๆ ขยายพื้นที่เข้ามา มีการตัดถนนเลียบชายหาด ตัดถนนผ่านหน้าที่พักทหารเรือ (ผ่านหน้าชุมชน) มีโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสัตว์น้ำ แปรรูปอาหารทะเลเข้ามาตั้งในจังหวัดสงขลา ฯลฯ ทำให้มีชาวบ้านจากที่ต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัยเพื่อทำงานรับจ้าง บางส่วนเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนริมคลองสำโรง

ป้าเอียดเล่าต่อว่า ในปี 2526 เริ่มมีข่าวว่าทางเทศบาลจะใช้พื้นที่ชุมชนเก้าเส้งซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุมาพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นสวนสาธารณะเพื่อพักผ่อนของประชาชน เพราะสภาพชุมชนในเวลานั้นเริ่มแออัด ทรุดโทรม มีกลิ่นเหม็นจากการทำปลา ตากปลา ฯลฯ เทศบาลสงขลาจึงต้องการพื้นที่เอามาพัฒนา

“พอปี 2527 ชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มกันเพราะกลัวจะโดนไล่ที่ มีการจัดตั้งกรรมการชุมชน ป้าก็เป็นกรรมการด้วย มีกลุ่มแม่บ้าน ช่วยกันทำน้ำเต้าหู้เป็นอาหารเสริมให้ชุมชน ต่อมามีเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยเข้ามาแนะนำการรวมตัว เพื่อต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัย พาไปดูงานที่ชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนริมทางรถไฟที่กรุงเทพฯ ได้เห็นชาวบ้านรวมตัวกันต่อสู้ เห็นเรื่องการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เรื่องการตั้งศูนย์เด็กเล็กในชุมชน พอกลับมาเก้าเส้งก็มาประชุมกับชาวบ้านและกรรมการ” ป้าเอียดบอกถึงจุดเริ่มต้นการรวมตัวของชาวเก้าเส้ง

ในปี 2531 ชาวชุมชนเก้าเส้งได้ร่วมกันก่อสร้าง ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน’ เพื่อให้นำบุตรหลานวัย 3-6 ขวบมาฝากดูแล เสริมสร้างพัฒนาการ พ่อแม่จะได้ออกไปทำมาหากิน โดยชาวชุมชนช่วยกันบริจาคเงิน ได้เงินกว่า 1 แสนบาท หลังจากนั้นจึงมีกิจกรรมการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในปี 2533 โดยให้ชาวบ้านออมเงินเข้ากลุ่มเดือนหนึ่งอย่างต่ำ 50 บาท ไม่เกิน 200 บาท ยามเดือดร้อนจำเป็นสามารถกู้ยืมไปหมุนเวียนหรือประกอบอาชีพได้

ชุมชนชาวประมงเก้าเส้งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ด้านบนห่างออกไปไม่ไกลเป็นวัด ‘เก้าแสน’ เป็นหมุดหมายของชาวเรือที่จะล่องเรือเข้าสู่คลองสำโรง สันนิษฐานว่าชาวจีนในสมัยก่อนที่อพยพทางเรือเข้ามาอยู่สงขลาออกเสียงไม่ชัดจึงเรียกหมุดหมายนี้ จาก “เก้าแสน” เป็น “เก้าเส้ง” ‘บ้านมั่นคง’ ชุมชนเก้าเส้ง

ในปี 2546 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนที่ไม่มีความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยทั่วประเทศได้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา โดย พอช.มีบทบาทเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือเป็นพี่เลี้ยง เช่น ส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่ม การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ สนับสนุนสินเชื่อ ฯลฯ โดยมีชุมชนนำร่องที่ได้รับการคัดเลือก 10 แห่งทั่วประเทศ เช่น บ่อนไก่ กรุงเทพฯ แหลมรุ่งเรือง จ.ระยอง บุ่งคุก จ.อุตรดิตถ์ เก้าเส้ง จ.สงขลา ฯลฯ

ป้าเอียด เล่าว่า ชุมชนเก้าเส้งทำโครงการบ้านมั่นคงเพราะตอนนั้นชุมชนหนาแน่นแล้ว มีประมาณ 480 ครอบครัว สภาพบ้านส่วนใหญ่ทรุดโทรม บ้านบางหลังสร้างมาตั้งแต่ปี 2502 สมัยโดนย้ายมาจากแหลมสนอ่อน มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการประมาณ 340 ครอบครัว โดยให้ผู้เข้าร่วมออมเงินเป็นรายเดือนเพื่อให้ได้เงินออมจำนวน 10 % ของวงเงินที่จะใช้ซ่อม-สร้างบ้าน เช่น หากจะกู้ 300,000 บาท จะต้องออมเงินให้ได้จำนวน 30,000 บาท โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อทั้งหมด 36 ล้านบาท (อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี) และสนับสนุนงบสาธารณูปโภครวม 9.6 ล้านบาท

ต่อมาในปี 2547 กรมธนารักษ์ที่ดูแลที่ดินราชพัสดุได้ให้ชาวบ้านที่รวมตัวกันเป็น ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเก้าเส้ง จำกัด’ เช่าที่ดินเนื้อที่ 21 ไร่ 2 งานเศษ ในราคาถูก คือ 2 บาท/ตารางวา/เดือน ระยะเวลา 30 ปี เพื่อชาวบ้านจะได้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เป็น ‘ผู้บุกรุก’ ที่ดินหลวงอีกต่อไป

ป้าเอียดบอกว่า โครงการบ้านมั่นคงชุมชนเก้าเส้งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะกู้เงินมาซ่อมแซมหรือปรับปรุงต่อเดิมบ้านในที่ดินเดิม ไม่ต้องย้ายไปไหนหรือกลัวว่าเทศบาล (ในฐานะที่ดูแลที่ดินราชพัสดุในท้องถิ่น) จะมาขับไล่อีกต่อไป โดยชาวบ้านเข้าร่วมโครงการจริง 127 ครอบครัว ซ่อม-สร้างบ้านเสร็จในปี 2549

ปัจจุบันชุมชนเก้าเส้งเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมมีสภาพเป็นที่ดินรกร้าง ที่ดินตาบอด กลางคืนมืดและเปลี่ยว แต่ทุกวันนี้มีถนนตัดผ่านทั้งด้านหน้าและหลัง บ้านเรือนที่อยู่ริมถนนเป็นแหล่งขายอาหาร เครื่องดื่ม ขายของชำ ปลาแห้ง ปลาสด อาหารทะเล ผู้คนพลุกพล่าน ไม่เปลี่ยวมืดดังแต่ก่อน

ส่วนศูนย์เด็กเล็กที่ชาวบ้านร่วมแรงเงิน แรงใจสร้าง ปัจจุบันเทศบาลนครสงขลาเข้ามาบริหารและสนับสนุนงบประมาณ มีกลุ่มออมทรัพย์ที่มีสมาชิกชาวบ้านกว่า 300 คนได้พึ่งพาอาศัย กู้ยืมได้สูงสุดถึง 500,000 บาท และมีสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเก้าเส้ง จำกัด เป็นเสมือนธนาคารของชุมชน มีสมาชิกกว่า 400 คน สามารถกู้ยืมได้สูงสุด 300,000 บาท ฯลฯ

“ป้าภูมิใจที่ได้ทำโครงการบ้านมั่นคง เพราะทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่ดีกว่าเดิม ไม่ต้องกลัวโดนไล่อีก ชาวบ้านก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น…ส่วนเรื่องการฟื้นฟูคลองสำโรงก็ต้องร่วมกันทำต่อไป เพราะเมื่อก่อนชาวบ้านเคยช่วยกันดูแล มีเรือที่หน่วยงานเข้ามาสนับสนุน 1 ลำ ช่วยกันเก็บขยะในคลอง เอาวัชพืชในคลองขึ้นมา เอาน้ำจุลินทรีย์เทใส่คลองให้น้ำดีขึ้น…ถ้าทุกชุมชน ทุกหน่วยงานมาร่วมมือกัน ป้าเชื่อว่าคลองสำโรงจะฟื้นฟูกลับมาดีได้”

10/11/2565  ไทยพีบีเอส (10 พฤศจิกายน 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS