info@icons.co.th 02 810 8892-6 34.231.180.210

ดีเดย์ 15 พ.ย.นี้ ปิดทางเบี่ยง เตรียมเจาะอุโมงค์ทางลอด 2 แห่ง แก้รถติด

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

นครราชสีมา ดีเดย์ 15 พ.ย. นี้ ปิดทางเบี่ยง เตรียมเจาะอุโมงค์ทางลอด 2 แห่ง ผ่าเมือง แก้รถติด งบ 1,222 ล้าน แจงไทม์ไลน์เสร็จ ปี’69 ระหว่างก่อสร้างกระทบโดยตรง ประชาชน-ผู้ประกอบการค้า

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 รายงานการแก้ปัญหาจราจรคับคั่ง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช บริเวณทางแยกนครราชสีมา (บิ๊กซี) และทางแยกประโดก (พีกาซัส) ซึ่งมีปริมาณรถประมาณ 1.2 แสนคันต่อวัน ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

นับเป็นเวลากว่า 10 ปี กรมทางหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณจุดตัดถนนมิตรภาพกับถนนช้างเผือก (แยกประโดก) และบริเวณถนนมิตรภาพตัดกับทางหลวง 224 (แยกนครราชสีมา) แต่มีการคัดค้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นกลุ่มผู้ประกอบการค้าทำให้ต้องชะลอโครงการ

ต่อมา ครม.อนุมัติงบ 373 ล้านบาท ให้ดำเนินโครงการทางลอดแยกนครราชสีมา รองรับการจราจรจาก จ.ขอนแก่น เลี้ยวขวาไป จ.สระบุรี จำนวน 2 ช่องจราจร รวมระยะทาง 1,181 เมตร เริ่มต้นบริเวณหน้าศูนย์เพาะชำเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ถึงหน้าสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงพีที โดยมี บริษัท รัชตินทร์ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง

เตรียมเจาะอุโมงค์ทางลอด 2 แห่ง

ล่าสุด นายทวีศักดิ์ ศักดิ์ศินานนท์ นายช่างควบคุมงานโครงการทางลอดแยกนครราชสีมา พร้อมคนงานได้ตรวจความพร้อมวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนก่อนจะปิดทางเบี่ยงจราจร (เกาะกลาง) ในพื้นที่ก่อสร้าง วันที่ 15 พ.ย. นี้ โดยมีดังนี้

1.ติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวน 56 ตัว และระบบตรวจนับรถ เพื่อใช้ในการวางแผนจราจรระหว่างก่อสร้าง 2. งานติดตั้งป้ายระหว่างก่อสร้าง 3. งานทาสีขาวแดงข้างทางเพื่อบังคับห้ามรถจอดข้างทาง

2.งานตีเส้นจราจรใหม่เพื่อกำหนดช่องจราจร

ขณะเดียวกันได้เดินทางมาพบ นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา ที่สำนักงาน ทน.นครราชสีมา เพื่อหารือการบริหารการจราจรในช่วงปิดเบี่ยง โดยชี้แจงไทม์ไลน์ ทางลอดนครราชสีมา ธันวาคม 66 เตรียมงาน มกราคม 67 เจาะเข็มทำหลังคาอุโมงค์ กุมภาพันธ์ 68 งานโครงสร้างทั้งหมด ธันวาคม 68 งานระบบและเก็บงาน สิ้นสุดสัญญา 15 เมษายน 69 รวมระยะเวลา 960 วัน

และทางลอดแยกประโดก รองรับการจราจรขาเข้า-ออก ตัวเมืองนครราชสีมา จำนวน 6 ช่องจราจร ระยะทาง 1.750 กิโลเมตร งบดำเนินการ 849 ล้านบาท ตุลาคม-ธันวาคม 66 รื้อย้ายต้นไม้ทำทางเบี่ยงเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง มกราคม 67 เจาะเข็มทำหลังคาอุโมงค์ เมษายน 68 งานโครงสร้างทั้งหมด กุมภาพันธ์ 68 งานระบบและเก็บงาน สิ้นสุดสัญญา 10 กรกฎาคม 2569 รวมระยะเวลา 1,080 วัน

ทั้งนี้ ระหว่างการก่อสร้างจะเกิดผลกระทบโดยตรงกับประชาชนและผู้ประกอบการค้า รวมทั้งการใช้เส้นทางในพื้นที่ดังนี้ 1. หลังวางแบริเออร์และตีเส้นกำกับเป็นถนน 3 เลน ทางเดินเท้าถูกตีเส้นขาวแดงไม่สามารถจอดรถได้ นายประเสริฐ ได้ประสานขอความร่วมมือผู้บริหารศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช และโรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ) เพื่อขอความอนุเคราะห์พื้นที่จอดรถทดแทน

2.เมื่อเส้นทางจราจรมีขนาดลดลง การหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางรอง จะเกิดปัญหาการจราจรชะลอตัว ทน.นครราชสีมา ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงทางเข้า ออกให้สะดวกคล่องตัว

3.ปรับปรุงทางเลี่ยงพื้นที่ก่อสร้าง ไม่ให้มีอุปสรรคกีดขวาง เช่นต้นไม้ กิ่งไม้ และสิ่งของบ้านพักอาศัยประชาชนยื่นออกมาขวางถนน เช่นกระถางต้นไม้ หรือสิ่งของอื่นๆ

4.ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเฉพาะบริเวณทางแยกประโดก โคกไผ่ แม้มีท่อระบายน้ำลอดใต้ดินแต่ไม่สามารถระบายได้ทัน เนื่องจากเส้นทางเป็นคอขวดก่อนระบายลงท่อบริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช ขอให้ปรับปรุงขยายแนวท่อระบายน้ำให้สามารถเชื่อมต่อและระบายน้ำได้ทันในช่วงฝนตกหนักในพื้นที่

ทั้งนี้ในระหว่างดำเนินการอาจทำไม่ได้รับความสะดวก ขอให้ใช้เส้นทางอย่างระมัดระวัง และขอความร่วมมือโปรดเผื่อเวลาในการเดินทาง เพื่อป้องกันหากการจราจรติดขัด

ด้าน นายจรัล กมลวัฒน์ ผู้แทนชาว ต.หมื่นไวย อ.เมือง กล่าวว่า ในระหว่างเตรียมก่อสร้างต้องเปลี่ยนท่อส่งน้ำประปา ทำให้แรงดันน้ำมีกำลังส่งอ่อน ไหลค่อย ไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของชาวบ้านกว่า 2-3 พันคน ซึ่ง พื้นที่ ต.หมื่นไวย มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือแก้ไขเยียวยาอย่าปล่อยปละละเลยให้เป็นภาระของประชาชน

14/11/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 14 พฤศจิกายน 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS