รพ.เอกชนกางโรดแมปลงทุนรอบใหม่ รับดีมานด์ลูกค้าไทย-เทศ ปูพรมสาขาทั่วสารทิศ เมืองท่องเที่ยว-อุตสาหกรรม สผ.ไฟเขียวอีไอเอ เพิ่ม 5 โรง รวมเฉียด ๆ 800 เตียง คาดใช้งบฯลงทุนรวมเบาะ ๆ ไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้าน เผยจ่อเข้าคิวอีกเพียบ BDMS ตั้งเป้าทะลุ 9 พันเตียง ภายในปี 2570 เกษมราษฎร์-สินแพทย์ ปักหมุดอีอีซี
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชนเปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ว่า ขณะนี้ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลรีเทิร์นกลับมาเท่ากับก่อนโควิด-19 แล้ว และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น ทั้งในแง่ของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมถึงคนไข้ชาวต่างประเทศที่ตัวเลขค่อย ๆ ฟื้นกลับมาเพิ่มขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ จากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นก็จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ดีมานด์ หรือความต้องการการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นตามมา ส่วนหนึ่งสะท้อนจากภาพของโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่งเริ่มทยอยลงทุนรีโนเวตสาขาต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้บริการ รวมถึงการลงทุนเพื่อขยายบริการและเปิดสาขาใหม่ ที่คาดว่าจากนี้ไปหลาย ๆ ค่ายจะมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น
ธุรกิจโรงพยาบาลยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง นอกจากดีมานด์หรือความต้องการการรักษาที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังปัจจัยในแง่ในของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเข้ามาสนับสนุน เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลางที่มีรายได้และกำลังซื้อที่สูงขึ้น การขยายตัวของชุมชนเมือง บวกกับนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล
อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจโรงพยาบาลขยายสาขาไปยังพื้นที่ดังกล่าว เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง
รวมทั้งรองรับชาวต่างชาติที่จะมาทำงาน หรือลงทุนในไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการเดินทางระหว่างประเทศกลับเข้าสู่ระดับปกติ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวและผู้ป่วยชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาในไทยมากขึ้น
เชื่อว่าจากนี้ไปภาพการขยายการลงทุนเพื่อเปิดสาขาในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม หรือเมืองท่องเที่ยวจะมีความชัดเจนมากขึ้น จากที่ผ่านมา รพ.เอกชนจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นหลัก
หรือคิดเป็นสัดส่วนราว ๆ 48-50% จากจำนวนโรงพยาบาลเอกชนทั้งสิ้น 404 แห่ง (ปี 2565) และรองลงมาเป็นภาคเหนือประมาณ 14-15% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 10-12% ส่วนภาคใต้อาจจะยังมีสัดส่วนไม่มากนัก
รพ.ใหม่เข้าคิวจ่อเปิดเพียบ
ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงการยื่นขออนุมัติการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่ได้ยื่นขออนุญาต พบว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการอนุมัติ อีไอเอ จำนวน 5 โครงการ รวมจำนวนเตียงทั้งสิ้นประมาณ 794 เตียง
ประกอบด้วย 1.รพ.ธนบุรี ชุมพร ขนาด 140 เตียง (บริษัท ชุมเวช จำกัด (มหาชน)) ตั้งอยู่เลขที่ 121,121/25 ถนนชุมพร-ระนอง (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 327) ต.วังไผ่ อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร 2.รพ.แปซิฟิค การ์เดน ขนาด 146 เตียง (บริษัท แปซิฟิค การ์เดน ฮอสปิตอล จำกัด) ตั้งอยู่ที่ถนนเทิดพระเกียรติ 2 หมู่ที่ 3 ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
3.รพ.วัฒนแพทย์ อ่าวนาง 106 เตียง (ดัดแปลง เปลี่ยนการใช้อาคารและขยาย) (บริษัท โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ อ่าวนาง จำกัด) ตั้งอยู่ที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4202 (ถนนช่องพลี-หาดนพรัตน์ธารา) ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่
4.รพ.วิภาราม อ่อนนุช ขนาด 300 เตียง (บริษัท โรงพยาบาลวิภาราม จำกัด) ตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท 77 (อ่อนนุช) แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ และ 5.รพ.กรุงไทย นอร์ทเทิร์น ขนาด 102 เตียง (บริษัท กรุงไทย นอร์ทเทิร์น จำกัด) ตั้งอยู่ที่ทางหลวงแผ่นดินสายปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว (346) ต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี
นอกจากโครงการที่ได้รับอนุมัติ อีไอเอ ดังกล่าวแล้ว จากการตรวจสอบพบว่ายังมีโครงการโรงพยาบาลอีก 6 โครงการที่ได้ยื่นขอ อีไอเอ ต่อ สผ. และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ประกอบด้วย 1.รพ.สินแพทย์ ระยอง 2.รพ.พญาไท อินเตอร์เนชั่นแนล 3.รพ.ธนบุรี ลันตา 4.รพ.ปิยะเวท (ส่วนขยาย) 5.รพ.นครธน 2 และ 6.รพ.เจ้าพระยา (ส่วนขยาย)
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2565 จะพบว่ามีโครงการ รพ.เอกชนที่ได้รับอนุมัติ อีไอเอ 7 โครงการ ประกอบด้วย 1.รพ.เวลเนส 2.รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อรัญประเทศ 3.รพ.สินแพทย์ นางลิ้นจี่ 4.รพ.ราชธานี หนองแค 5.รพ.พะเยา ราม (ส่วนขยาย) 6.รพ.จอมเทียน (การเปลี่ยนแปลงรายละเอียด) 7.รพ.สินแพทย์ นนทบุรี
และนอกจากการลงทุนเพื่อเปิด รพ.ทั่วไปแล้ว ที่ผ่านมา รพ.เอกชนหลาย ๆ แห่งก็ได้มีการลงทุนเพื่อเปิด รพ.เฉพาะทางเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เช่น รพ.เวชธานี ได้เปิด รพ.เฉพาะทางด้านสุขภาพจิต Bangkok Mental Health Hospital (BMHH) เป็น รพ.ขนาด 30 เตียง (ถนนติวานนท์ 39) ขณะที่ รพ.เอกชัย เตรียมลงทุนสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทาง สำหรับฟื้นฟูปัญหาสุขภาพจิตและโรคจิตเวช ขนาด 50 เตียง (ร่วมทุนกับกลุ่มนารายณ์พร็อพเพอร์ตี้) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 2 ปี 2567 และเปิดให้บริการภายในไตรมาส 4 ปี 2568
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชนให้ข้อมูลถึงเม็ดเงินลงทุนสำหรับการเปิด รพ.ใหม่ หรือการขยายสาขาเพิ่มว่า ปัจจุบันงบการลงทุนสำหรับการก่อสร้าง รพ.ขนาด 100-150 เตียง จะอยู่ที่ประมาณ 2,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่จะไม่รวมค่าที่ดิน และไม่รวมค่าเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และบุคลากร และแต่ละแห่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี
ปูพรมสาขา-เพิ่มจำนวนเตียง
ก่อนหน้านี้ แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามแผน บีดีเอ็มเอส มีนโยบายจะเพิ่มจำนวนเตียงให้ได้ไม่ต่ำกว่า 9,000 เตียง ภายในปี 2569-2570 จากเดิมที่มีประมาณ 8,700 เตียง (ปี 2566) โดยที่จะเปิดเพิ่ม
อาทิ รพ.พญาไท ศรีราชา 100 เตียง (ส่วนต่อขยาย รับประกันสังคม) และ รพ.กรุงเทพ ปลวกแดง 239 เตียง (รับประกันสังคม) ปี 2567 รพ.เด็ก สมิติเวช อินเตอร์เนชั่นแนล (102 เตียง) ในบริเวณ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ขณะนี้เริ่มก่อสร้างแล้ว ปี 2568 รพ.พญาไท 1 จะขยายเตียงเพิ่ม 160 เตียง ถัดไปเป็น รพ.กรุงเทพ เชียงใหม่ จะเพิ่มอีก 75 เตียง
โดยเมื่อกลางเดือน ก.พ. 2566 บีดีเอ็มเอส เพิ่งเปิด รพ.กรุงเทพ มะเร็ง ระยอง เป็นศูนย์มะเร็งของกลุ่มในภาคตะวันออก และรองรับกลุ่มคนไข้ทั้งประกันสังคม 30 บาท และคนไข้พรีเมี่ยม และจะเป็นโมเดลต้นแบบที่จะขยายไปตามต่างจังหวัด หรือหัวเมืองใหญ่ ๆ
เช่นเดียวกัน กลุ่มบางกอกเชน หรือกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ที่กางแผนลงทุนทุ่มงบฯ เพื่อรองรับธุรกิจโรงพยาบาลที่ฟื้นตัวกลับมา เป้าหมายจะเปิดเพิ่ม 5 สาขา ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า จากเดิมที่มี 15-16 สาขา เช่น รพ.เกษมราษฎร์ สุวรรณภูมิ (268 เตียง) จ.สมุทรปราการ ใช้งบฯลงทุนประมาณ 1,600 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2567 เปิดให้บริการในปี 2569 รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเปิดสาขาใน อีอีซี และมีแผนจะลงทุนสร้าง รพ.ใหม่อีก 1 แห่งที่พัทยา เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการรีโนเวตและยกระดับสาขาต่าง ๆ เช่น รพ.การุญเวช ปทุมธานี เพื่อยกระดับเป็น รพ.เกษมราษฎร์ ปทุมธานี ในอนาคต การปรับปรุงห้องพักผู้ป่วยใน รพ.เกษมราษฎร์ บางแค และ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น เพื่อยกระดับประเภทห้องพักให้หลากหลาย รองรับความต้องการของผู้ป่วยเงินสด
รวมทั้งการเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเพื่อรองรับการให้บริการแบบ One Stop Service และลดการส่งต่อผู้ป่วย เช่น การตั้งศูนย์มะเร็งรังสีรักษา การเพิ่มศูนย์หัวใจ ศูนย์เวชศาสตร์และการฟื้นฟู เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลสินแพทย์ ก็ได้ประกาศแผนการขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยมีแผนจะลงทุนขยายสาขาเพิ่มปีละ 1-2 สาขา ด้วยงบฯลงทุนสาขาละ 2,000-3,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน)
เช่น สาขารังสิต องครักษ์ (คลอง 3), สาขา ถนนกาญจนาภิเษก เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ-นนทบุรี บริเวณวัดศรีประวัติ (บางกรวย จ.นนทบุรี), รพ.สินแพทย์ สาทร นางลิ้นจี่ ที่เน้นการจับกลุ่มลูกค้าระดับบน และลูกค้าชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ ก็ยังมีสาขาที่อยู่ในไปป์ไลน์อีก เช่น สาขาพหลโยธิน 44 (เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์) สินแพทย์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ (บริเวณด้านข้าง รพ.สินแพทย์ รามอินทรา)
คาดว่าจะเปิดให้บริการในต้นปี 2568 รวมถึงการเข้าไปปักธงในอีอีซี ที่ จ.ระยอง ที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ ก็มีบางสาขาที่จะมีการรีโนเวต หรือการลงทุนก่อสร้างส่วนขยาย เช่น รพ.สินแพทย์ เสรีรักษ์ ที่จะมีการเพิ่มสิ่งอํานวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น พลาซ่า ร้านค้า อาคารจอดรถ
6/1/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 ธันวาคม 2566 )