info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.82

สมรภูมิ “อีวีสเตชั่น” ระอุ โมเดลปั๊มชาร์จครบวงจร

Oil & Gas News / ข่าวหมวดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

สงคราม “ปั๊มอีวี” ปีมังกร 3 ค่ายน้ำมันใหญ่แปลงโฉมโมเดลธุรกิจใหม่ ลุยเปิด “สถานีอีวี” รับเทรนด์โลก บางจากผนึก กฟภ.ปูพรมทั่วประเทศ “โออาร์” ผุดฮับ EV Station PluZ ครบวงจรทั้งน็อนออยล์ ยึดหัวเมือง 10 แห่งประเดิม Q3 “พีทีจี” ไม่น้อยหน้าเตรียมแผนเปิด ก.พ.นี้ หลังผนึก EGAT ปักหมุดสถานีบริการ Elexa ทั่วทิศ

หลังจากประเทศไทยดำเนินนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปสู่อีวี ที่เรียกว่า 30@30 เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 ทั้งมีมาตรการจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (แพ็กเกจอีวี) ให้สิทธิประโยชน์ทั้งภาษีสรรพสามิต ลดอากรขาเข้า เพื่อสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมอีวีในไทย (Ecosystem)

ด้วยเหตุนี้ความนิยมการใช้รถยนต์อีวีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูลกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า สถิติการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทั่วประเทศ ปีงบประมาณ 2566 (วันที่ 1 ต.ค. 2565-30 ก.ย. 2566) เพิ่มขึ้นถึง 399.05% หรือ 58,645 คัน ทำให้ไทยมีอีวีแล้ว 73,341 คัน ขณะที่เครือข่ายสถานีบริการชาร์จอีวีก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

จากการทรานส์ฟอร์มของผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของไทยที่มุ่งสู่การสร้างระบบขับเคลื่อน (Mobility) ยุคใหม่ จนปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีค่ายน้ำมันใดที่ไม่ลงทุนตั้งสถานีชาร์จอีวี แต่นั่นยังไม่พอ เพราะจุดเปลี่ยนที่จะเห็นในลำดับต่อไปคือ การสร้างสถานีบริการน้ำมันที่ไร้น้ำมัน หรืออาจเรียกว่า “สถานีบริการอีวี” เต็มรูปแบบ 100%

ปตท.บุกอีวีครบวงจร

ล่าสุด นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ระบุว่า อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบจัดทำศูนย์บริการชาร์จอีวี หรือ “ฮับ EV Station PluZ” มีลักษณะเหมือน PTT Station คือ มีบริการธุรกิจน็อนออยล์ครบวงจร ควบคู่กับจุดชาร์จรถ EV ทุกประเภท DC Fast Charge แต่จะแยกพื้นที่ออกจากสถานีบริการน้ำมัน โดยรูปแบบลงทุนจะมีทั้งที่บริษัทลงทุนเอง และดีลเลอร์ที่มีที่ดินสนใจจะลงทุน คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 50 ล้านบาทต่อแห่ง โดยวางเป้าหมายเบื้องต้น 10 แห่ง กระจายตามจังหวัดหัวเมือง เช่น ภาคเหนือ เล็งพื้นที่ จ.นครสวรรค์ จ.กำแพงเพชร ภาคอีสาน เล็งพื้นที่ จ.สระบุรี จ.นครราชสีมา ภาคใต้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะเริ่มนำร่องในไตรมาส 3 ปีนี้เป็นแห่งแรก

นายพิมาน พูลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน OR เปิดเผยว่า โออาร์มีแผนจะเพิ่มจำนวนสถานีบริการ EV Station PluZ อีก 600 ทำเล คิดเป็นจำนวนหัวจ่าย 1,200 หัวจ่าย เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 700 ทำเล มีหัวชาร์จ 1,400 หัว โดยมีเป้าหมายจะลงลึกในระดับอำเภอด้วย

ซึ่งโจทย์ใหม่ที่ผู้บริโภคต้องการให้มีหัวชาร์จจำนวนมากกระจายอยู่นั้น โออาร์จะสร้างเป็นฮับอีวีในไตรมาส 3-4 ปีนี้ ระยะจะห่างจากกรุงเทพฯ 200-300 กม. วางเส้นทางเหนือ อีสานใต้ เช่น นครสวรรค์ หรือกำแพงเพชรจะเปิด 1 จุด สระบุรี นครราชสีมา ทางใต้จะมีประจวบคีรีขันธ์ ภายในจะมีดีซี 8-10 หัวขึ้นไป และขยายเป็นทอด ๆ ไปสู่ปั๊มน้ำมันไร้หัวจ่าย พร้อมเตรียมขยายผลทำระบบ Swob แบตเตอรี่ โดยอรุณพลัส ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร คาดว่าจะมีผลสรุปในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ปัจจุบันจุด Swob มี 30 โลเกชั่น ตามเป้าหมายจะเปิด 80-100 โลเกชั่น เพื่อให้รถมอเตอร์ไซค์อีวีสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้

เตรียมสำรองไฟสะอาดเพิ่ม

ส่วนที่ 2 ทางโออาร์ยังเตรียมแผนสำหรับไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ในสถานีบริการน้ำมันด้วย จากข้อมูลพบว่า มีการใช้ไฟฟ้าคิดเป็นค่าไฟฟ้า 2-3 แสนบาทต่อเดือนต่อแห่ง โดยโออาร์เริ่มพัฒนาโซลาร์รูฟติดมาในสถานีบริการน้ำมันที่โออาร์ลงทุนเอง (COCO) 200 สถานี และของ PTTRM อีก 150 สถานี ขณะนี้ติดแล้ว 100 สถานี กำลังการผลิตสถานีละ 50-60 กิโลวัตต์ จะติดครบทั้งหมดในปีนี้ อาจยกเว้นบางสถานีจะหมดสัญญา 2-3 ปีหน้าจะไม่ติด ส่วนเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าในปีนี้จะเดินเครื่องได้ 10 เมกะวัตต์

นอกจากการติดโซลาร์เพื่อผลิตไฟฟ้าแล้ว โออาร์ยังศึกษาความเป็นไปได้ในการนำระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System (ESS) มาติดตั้งด้วย โดยนำร่องที่สถานีบริการแฟลกชิปที่ถนนวิภาวดี 62 เป้าหมายของการติด ESS เพื่อนำมาเก็บไฟฟ้าใช้ในช่วงที่ใช้แสงไม่พอ หรือช่วงออนพีกที่แย่งกันใช้ไฟ โดยการลงทุนด้านไฟฟ้านี้ โออาร์ประสานกับบริษัท GPSC ล่าสุดเตรียมนำแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพจากรถยนต์มาใช้ประโยชน์ในการเก็บพลังงานใน PTT Station

นายพิมานกล่าวว่า แผนพัฒนาฮับอีวีและธุรกิจทั้งหมด จากสถานการณ์การใช้รถอีวีที่เพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริม ทำให้ยอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2565 มียอดเป็นหลักพัน ปี 2566 เป็น 70,000 คัน อาจขยับเป็นแสนคัน ยอดเพิ่มเป็น 10 เท่า ซึ่งเราพบว่าในภาวะปกติการชาร์จยังมีจำนวนเพียงพอ แต่หากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาวแล้วจะมีการต่อคิวจำนวนมาก เราต้องเร่งขยายตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

อีกด้านหนึ่ง ปตท.ประกาศเป้าหมายก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี 2030 ซึ่งจะทำให้การปล่อยคาร์บอนมีปริมาณลดลงจากปี 2022 ประมาณ 1 ใน 3

นายพิมานกล่าวว่า แผนธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะไม่ได้ดูเฉพาะน้ำมันอย่างเดียว เราเป็น Physical Platform เป็นโลเกชั่นที่สร้างขึ้นมา 2,200 สาขา เพื่อให้ธุรกิจเข้ามาเกาะเกี่ยวคือ ร้านสะดวกซื้อเซเว่นฯ หรือจิฟฟี่ ร้านคาเฟ่อเมซอน และผู้เช่าต่าง ๆ ที่มาเปิดร้านอีกไม่ต่ำกว่า 26,000 แห่ง

บางจากประกาศแผน

ก่อนหน้านี้ ค่ายบางจากประกาศเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2566 โดยนายเสรี อนุพันธนินท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด กล่าวว่า บางจากมีแนวคิดพัฒนาสถานีบริการให้เป็น Innovative Destination ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และค่ายรถยนต์เอ็มจี ติดตั้งจุดชาร์จอีวีรองรับ พัฒนาโมเดลทรักสเตชั่นกระจายทุก 200 กม. บนทางหลวงที่มีระยะทาง 50,000 กม.ทั่วประเทศ

ส่วนธุรกิจ Nonoil ได้ขยายร้านอินทนิลเพิ่มปีละ 140 สาขา รวมเป็น 2,000 สาขาในปี 2573 ตลอดจนเพิ่มแบรนด์สินค้า เพิ่มร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านค้าที่มีศักยภาพในสถานีให้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้จะมีแอปพลิเคชั่นให้บริการลูกค้าเพื่อสร้างดิจิทัลเอ็กซ์พีเรียนซ์สำหรับลูกค้า

โดยมีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจาก 28% เป็น 30% ในปี 2573 และเปลี่ยน BSRC หรือเอสโซ่เดิมเป็นบางจากให้เสร็จกลางปีนี้ครบทั่วประเทศ คาดว่าจะมี 2,221 สถานีบริการ และทยอยเพิ่มเป็น 2,500 สถานีในปี 2573

จะเห็นว่า บางจากให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจใหม่ด้านพลังงานมากขึ้น โดยนางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน ฉายภาพว่า การลงทุนในปีนี้จะใช้งบฯลงทุน 50,000 ล้านบาท โดยลดสัดส่วนการลงทุนปั๊มน้ำมัน แต่หันไปโฟกัสธุรกิจใหม่และธุรกิจการตลาด จะเห็นว่าสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจการตลาดน้ำมันคือ 1,700 ล้านบาท แต่ธุรกิจใหม่จะมีงบฯลงทุน 5,000 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจพลังงานสะอาดที่ลงทุนผ่านเรือธงอย่างบีซีพีอาร์จะใช้งบฯลงทุนถึง 14,000 ล้านบาท

พีทีจีเตรียมรุกหนัก

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG กล่าวว่า สถานีบริการน้ำมันพีทีเตรียมจะเปิดแผนธุรกิจปี 2567 ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ คาดว่าแผนสถานีชาร์จอีวีจะเป็นหนึ่งในนั้น จากที่เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ พีทีจีได้เริ่มทำสถานีชาร์จรถอีวี โดยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำจุดชาร์จในปั๊มน้ำมัน Elex by EGAT ซึ่งปีที่ผ่านมาขยายสาขาแล้ว 35 สาขา ปีนี้มีแผนจะเพิ่มสาขาอีกเท่าตัวเป็น 70 สาขา และจะเพิ่มเป็น 180 สาขาในปี 2027

“แม้จำนวนสถานีอีวี 35 จุด อาจดูว่าน้อย แต่พีทีมั่นใจว่าหากขับรถอีวีไปตลอดเหนือจดใต้ จะหาจุดชาร์จของพีทีได้แน่นอน โดยไม่ออกนอกเส้นทาง” พร้อมย้ำว่า หากยอดการจองซื้อรถอีวีในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด พร้อมจะแปลงสถานีบริการน้ำมันเป็นจุดชาร์จได้ เพราะการวางจุดชาร์จแต่ละสาขาใช้เวลาก่อสร้างไม่เกิน 2 เดือน (ไม่รวมเวลาในการขอใบอนุญาต) ซึ่งพีทีจีมีพื้นที่สถานีบริการ 2,206 สาขา ถ้าเราจะขยายปีละ 300-400 สาขา ไม่ใช่เรื่องยาก

23/1/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 23 มกราคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS