อุตฯท่องเที่ยวไทยฟื้น นักลงทุนมองบวก โรงแรมระดับกลาง-บน-ลักเซอรี่แห่เปิดตัวใหม่ทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นห้อง คาดเฉพาะภูเก็ตมีโรงแรมใหม่เข้ามาเติมอีกกว่า 1.2 หมื่นห้องภายใน 2-3 ปีข้างหน้า เผยกว่าครึ่งเป็นการไล่เก็บโครงการเดิมมาปัดฝุ่นพัฒนาใหม่ หวั่นโครงสร้างพื้นฐานโตตามไม่ทัน
นายเจสเปอร์ ปาล์มควิซ ผู้อำนวยการอาวุโสภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก STR Global บริษัทในเครือ CoStar Group ผู้ให้บริการด้านข้อมูล การวิเคราะห์และการตลาดสำหรับอุตสาหกรรมการฮอสพิทาลิตี้ระดับโลก เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้คาดว่าตลาดธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยจะมีการเปิดตัวโรงแรมใหม่ประมาณ 10,000 ห้อง
ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับกลาง-บน (Upper-Midscale) ตามด้วยโรงแรมลักเซอรี่ (Luxury) ที่ยังเติบโต อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โดยรวมของปีนี้ยังมีความท้าทายในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนที่สูงขึ้น และการควบคุมค่าใช้จ่ายของธุรกิจ
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราเห็นค่าห้องพักของโรงแรม Midscale เริ่มกลับสู่ระดับเดียวกับก่อนปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งใช้เวลานานกว่าโรงแรมระดับบน นายเจสเปอร์กล่าว
อุตฯท่องเที่ยวโตเชิงบวก
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยนั้นมองว่าปีนี้มีแนวโน้มเชิงบวก และเริ่มเห็นการกระจายตลาดนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป โดยคาดว่าอัตรารายได้เฉลี่ยต่อวัน (ADR) ของโรงแรมในกรุงเทพฯ จะสูงกว่าปี 2562 ที่ 18%
ขณะที่ภาพรวมอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ต่ำกว่าปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 เพียง 4% อย่างไรก็ดี โรงแรมในบางพื้นที่ฟื้นตัวในอัตราที่แตกต่างกัน โดยโรงแรมในเชียงใหม่ ซึ่งเดิมมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าพักเป็นจำนวนมาก มีอัตราการเติบโตของราคาเพียง 5% เทียบกับโรงแรมในพื้นที่อื่นที่อาจสูงถึง 20%
ภูเก็ตฟื้นโรงแรม 1.2 หมื่นห้อง
สอดรับกับ นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส และผู้ก่อตั้งงาน Thailand Tourism Forum ที่กล่าวว่า นับตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2566 เป็นต้นมา เริ่มเห็นสัญญาณว่าเจ้าของโรงแรมเริ่มมองหา Branded Hotel เพื่ออัพเกรดอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองให้มีความพรีเมี่ยมและเปิดโอกาสการเพิ่มรายได้และการแข่งขันมากขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็เริ่มปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการมากขึ้นเช่นกัน
โดยปัจจุบันเฉพาะพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีโรงแรมอยู่ระหว่างการพัฒนาประมาณ 12,000 ห้อง โดยกว่าครึ่งของจำนวนดังกล่าว หรือกว่า 6,000 ห้องเป็นการกลับมาพัฒนาโครงการอีกครั้งหลังจากหยุดพักไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 คาดว่าโครงการเหล่านี้จะแล้วเสร็จในระยะเวลาประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งกว่าครึ่งเป็นนักลงทุนของไทย
ตอนนี้ Market Sentiment เริ่มกลับมาอีกครั้ง ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารเริ่มเปิดให้กู้มากขึ้น และนักลงทุนมองการท่องเที่ยวมีความน่าลงทุนอีกครั้ง นายบิลกล่าว
ปีแห่งการฟื้นตัวอุตฯท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังเริ่มเห็นการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้อาจทำให้การหาแรงงานมีความตึงตัวมากขึ้น ในมุมของโรงแรมเอง เมื่อต้นทุนสูงขึ้นก็อาจทำให้ราคาห้องพักหลังการเปิดให้บริการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
นายบิลกล่าวว่า สำหรับปี 2567 นี้เชื่อว่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และภาพรวมเป็นไปในทิศทางบวก โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปเท่ากับก่อนโควิด-19 ในปี 2568
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว
กทม.-ภูเก็ต โอเวอร์ซัพพลาย
นายบิลกล่าวว่า ในส่วนของมิติด้านซัพพลายของอุตสาหกรรมโรงแรมไทยนั้นประเมินว่า ซัพพลายโรงแรมในกรุงเทพฯ และภูเก็ต ยังคงมีปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย (Oversupply) ซึ่งเป็นปัญหาสืบเนื่องมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ราคาห้องพักก็ได้ฟื้นตัวกลับสู่ระดับที่ควรจะเป็นแล้ว
หลังจากโควิด-19 ตอนนี้แนวโน้มดังกล่าวก็จะยังมีต่อไป แต่เป็นไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น คือ นักลงทุนมีการกระจายความหลากหลายในการลงทุน เช่น Branded Residence โรงแรมที่มีขนาดเล็กลง โรงแรมที่เน้นด้านเวลเนส ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นเส้นทางสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรม นายบิลกล่าว
นายบิลกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเอกชนหลายรายได้กลับมาดำเนินธุรกิจในอัตราเทียบเท่ากับปี 2562 ก่อนการระบาดโควิด-19 แล้ว
ในทางตรงกันข้ามโครงสร้างขั้นพื้นฐานของภาครัฐยังพัฒนาตามการเติบโตของเอกชนไม่ทัน ทั้งการลงทุนในระบบขนส่งทางบก ทางอากาศ ทำให้ส่งผลลบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
21/1/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 21 มกราคม 2567 )