ครม. ไฟเขียวเวนคืนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-สีเขียว เพิ่ม 149 แปลง ขยายทางเท้ารับคนพิการ
ครม.ไฟเขียว พ.ร.ฎ.เวนคืน 8 ฉบับรถไฟฟ้าต่อขยายสีน้ำเงินบางซื่อ-ท่าพระ และ หัวลำโพง-บางแค จำนวน 98 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 114 หลัง และสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการและหมอชิต-คูคต จำนวน 51 แปลง ขยายทางเท้าให้เป็น 1.5 เมตร รองรับผู้พิการ กรอบเวลาดำเนินการ 400 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และร่างพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินรวม 8 ฉบับ แบ่งเป็น ร่างพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนและร่างพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดิน ในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง บางแค และช่วงบางซื่อ ท่าพระ รวม 4 ฉบับ และในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียวช่วงแบริ่ง สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต สะพานใหม่ คูคต รวม 4 ฉบับ
อำนวยความสะดวกผู้พิการ
สาระสำคัญของ พ.ร.ฎ.สายสีน้ำเงิน เพื่อปรับปรุงทางเท้าบริเวณบันไดขึ้น ลง สถานีรถไฟฟ้า ลิฟต์ ตอม่อ และทางลาดของคนพิการบริเวณสถานีต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการและผู้ใช้ทางเท้าอื่นในการสัญจรไปมา
ประกอบกับ พ.ร.ฎ.เวนคืนเดิมที่จะก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินทั้ง 2 ช่วง มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2558 มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี ได้สิ้นผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องมีการออกพ.ร.ฎ.เวนคืนอีกครั้ง โดยพื้นที่ที่จะเวนคืน ประกอบด้วย
1. ช่วงหัวลำโพง บางแค ในท้องที่เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตพระนคร เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง และเขตบางแค กรุงเทพมหานคร (กทม.)
2. ช่วงบางซื่อ ท่าพระ ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร (กทม.)
ซึ่งจากการสำรวจ พบว่ามีอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืนเพิ่มเติม ประกอบด้วยที่ดิน ประมาณ 98 แปลง และสิ่งปลูกสร้างประมาณ 114 หลัง/รายการ โดยในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ใช้ระยะเวลาประมาณ 400 วัน นับตั้งแต่วันที่แจ้งเข้าสำรวจอสังหาริมทรัพย์
ส่วน พ.ร.ฎ.อีก 4 ฉบับ เป็นกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต สะพานใหม่ คูคต รวม 4 ฉบับ
สาระสำคัญเช่นเดียวกับสายสีน้ำเงินคือ เพื่อปรับปรุงทางเท้าบริเวณบันไดขึ้น ลง สถานีรถไฟฟ้า ลิฟต์ ตอม่อ และทางลาดของคนพิการบริเวณสถานีต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการและผู้ใช้ทางเท้าอื่นในการสัญจรไปมา
ประกอบกับพ.ร.ฎ.ในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินฉบับเดิม สิ้นสุดการบังคับใช้ไปเมื่อปี 2561 จึงต้องมีการออกพ.ร.ฎ.ฉบับใหม่ โดยพื้นที่เวนคืนประกอบด้วย
1. ช่วงแบริ่ง สมุทรปราการ ในท้องที่เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มีอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืน ประกอบด้วยที่ดิน ประมาณ 17 แปลง และสิ่งปลูกสร้างประมาณ 17 รายการ
2. ช่วงหมอชิต สะพานใหม่ คูคต ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตหลักสี่ เขตสายไหม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี มีอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืน ประกอบด้วยที่ดินประมาณ 34 แปลง และสิ่งปลูกสร้างประมาณ 8 หลัง 19 รายการ โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ใช้ระยะเวลาประมาณ 400 วัน นับตั้งแต่วันที่แจ้งเข้าสำรวจอสังหาริมทรัพย์
สาเหตุที่ต้องทำ เพราะการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับการร้องเรียนว่า ใช้พื้นที่ทางเท้าก่อสร้างบันไดขึ้น ลง ทางเท้า และทางลาดของคนพิการจนเกือบเต็มพื้นที่ เป็นการรอนสิทธิของผู้ใช้ทางเท้า บางจุดทางเท้าเหลือพื้นที่เพียง 50 80 ซม. ซึ่งตามกฎหมายแล้วทางเท้าจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงให้เหมาะสม
โดยสำนักงบประมาณแจ้งว่า จะจัดสรรงบประมาณให้ รฟม. ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายเงินเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแล้ว
12/10/2563 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (12 ตุลาคม 2563)