info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.81.184.170

เล็งผุดโรงแรม 5 ดาว-มิกซ์ยูส บูมรถไฟทางคู่ชุมพร-ระนอง

Hotel News / ข่าวหมวดโรงแรม

รฟท.ผุดแนวคิดพัฒนา TOD ดันโรงแรม 5 ดาว-มิกซ์ยูส หนุนแนวเส้นทางรถไฟฟ้าทางคู่ชุมพร-ระนอง เล็งปักหมุดเส้นทางใหม่ รับแผน MR-MAP ปั๊มรายได้เชิงพาณิชย์

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาทว่า ปัจจุบันเกิดความล่าช้าติดขั้นตอนที่สำนักงบประมาณต้องการให้รฟท. เจรจาต่อรองราคาว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมของโครงการ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง(MR-MAP) ทำให้ยังไม่สามารถลงนามว่าจ้างที่ปรึกษาได้แม้ว่าบอร์ด รฟท.จะอนุมัติให้ว่าจ้าง บริษัท MMA Consortium วงเงิน 68 ล้านบาท

คาดว่าจะลงนามว่าจ้างที่ปรึกษาได้ภายในปีนี้ ใช้เวลาศึกษา 12 เดือนแล้วเสร็จ ในช่วงปลายปี 2565 หลังจากนั้นจะดำเนินการขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใช้เวลาอีก 18 เดือน คาดว่าจะ เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการได้ช่วงเดือนมิถุนายน 2567 และเปิดประมูลช่วงปลายปี2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี

ขณะเดียวกันโครงการฯ จะมีการปรับแบบเส้นทางใหม่เป็นแบบตัดตรงมากขึ้นตามนโนบาย MR-MAP โดยจะขยับจุดเริ่มต้นโครงการลงไปด้านใต้ เริ่มต้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณแหลมริ่ว จากเดิมเริ่มต้นที่ด้านใต้สถานีรถไฟชุมพรมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ชายฝั่งทะเลอันดามันบริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกูด จ.ระนอง

รายงานข่าวรฟท. กล่าวต่อว่า เส้นทางรถไฟดังกล่าว มีศักยภาพในการเชื่อมโยงการค้าของประเทศ โดยเชื่อมโยงการเดินทางระหว่าง 2 ฝั่งทะเล (อ่าวไทย-ทะเลอันดามัน) เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างฐานการผลิตไปสู่ประตูการค้าของประเทศ ณ จุดท่าเรือน้ำลึกระนอง ผลักดันให้ท่าเรือระนองเป็นประตูการค้าผ่านแดนด้านฝั่งทะเลอันดามัน และยังเป็นการส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างสองฝั่งมหาสมุทร ด้วยระบบราง (Land-bridge) เชื่อมต่อการขนส่งสินค้ากับกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) คาดว่าเมื่อเปิดบริการปี แรกจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 12.20% คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น คิดเป็น 28% ต่อระยะเวลา 10 ปี ด้านปริมาณการขนส่งสินค้า คิดเป็นปริมาณการเติบโตเฉลี่ย 53% ต่อระยะเวลา 10ปีเช่นกัน

ทั้งนี้ รฟท.จึงมีการทบทวนการพัฒนาพื้นที่และการใช้ประโยชน์จากที่ดินบริเวนพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD)ใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ให้กับ รฟท. และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ พบว่ามีสถานีที่มีศักยภาพจำนวน 3 สถานี คือ 1.สถานีชุมพร ตั้งอยู่ในเขตเมือง มีระยะเชื่อมต่อถึงสถานีขนส่งระดับจังหวัด 2.สถานีระนอง ซึ่งเป็นสถานีในอนาคต ตั้งอยู่ในเขตเมือง มีระยะเชื่อมต่อสถานีขนส่งระดับจังหวัด พื้นที่โดยรอบสถานี มีศักยภาพในระดับศูนย์กลางเมือง (Urban Center) และ 3. สถานีท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งเป็นสถานีในอนาคต ตั้งอยู่บริเวณใกล้ท่าเรือน้ำลึกระนอง มีระยะเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกระนอง พื้นที่โดยรอบสถานี มีศักยภาพในระดับย่านชุมชนเมือง (Urban Neighborhood) ซึ่ง รฟท. ตั้งเป้าที่จะพัฒนา 3 สถานีดังกล่าว เพื่อส่งเสริมพาณิชยกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและรองรับการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ

สำหรับการกำหนดโซนการพัฒนาหลักเพื่อหารายได้เชิงพาณิชย์ โดยแบ่งออกเป็น 7โซน

1) Zone SRT Operated Area (Existing) ใช้เป็นพื้นที่ภายใต้การใช้กิจกรรมของ รฟท.

2) Zone Rented Area (Non-SRT) ใช้เป็นพื้นที่ภายใต้การกำกับดูแล รฟท. เตรียมเป็นพื้นที่รองรับรถไฟความเร็วสูง

3) Zone New Commercial & Activity Zone ใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์ เป็นศูนย์กลางรองรับกิจกรรมสำหรับผู้อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่ รองรับผู้ค้าขายในพื้นที่เดิม เชื่อมต่อศูนย์กลางด้านคมนาคมด้วยทางเดินเท้า เส้นทางคมนาคมทางบก

4) Zone City Hotel & Tourist Center ใช้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมและรองรับการท่องเที่ยว และผู้อาศัยในบริเวณโดยรอบ แบ่งเป็นกลุ่มโรงแรม และอาคารพาณิชยกรรม

5) Zone New Residential Ville ใช้เป็นพื้นที่พักอาศัยรองรับกลุ่มผู้อาศัยใหม่ในบริเวณพื้นที่ รองรับกลุ่มที่มีความต้องการในการเดินทางระยะใกล้ ใช้เวลาไม่มากในการเดินทางจากที่พักไปยังที่ทำงาน เนื่องจากบริเวณที่ตั้งอยู่บริเวณแหล่งงานอื่นๆ

6) Zone Luxury Hotel สำหรับบริเวณสถานีท่าเรือน้ำลึกระนอง พัฒนาเป็นพื้นที่ในการรองรับกิจกรรมประเภทโรงแรมระดับ 5 ดาวรองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา

และ7) Zone Warehouse and Eco-industrial สำหรับบริเวณสถานีท่าเรือน้ำลึกระนอง ใช้เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมในการเป็นสถานที่สำหรับวาง จัดเก็บ พัก กระจายสินค้าคงคลัง ศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์จำหน่ายสินค้า และโกดัง

16/11/2564  ฐานเศรษฐกิจ (16 พฤศจิกายน 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS