info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.145.85.233

บ้านเช่าต่างชาติ ในบ้านการเคหะฯ

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

“เปิดมุมมองไทยจัดการลองสเตย์ กับแนวคิดเพิ่มอาชีพจากนักท่องเที่ยว เพิ่มรายได้กับกลุ่มเปราะบาง ในบ้านเคหะสุขประชา”

เมื่อเอ่ยชื่อบ้านเคหะสุขประชา หน่วยงานต้นสังกัดคือ “กคช.-การเคหะแห่งชาติ” รัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือกระทรวง พม.

มี “จุติ ไกรฤกษ์” นั่งรัฐมนตรีว่าการ พม. โควตาจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

และมีผู้ว่าการ กคช. คนปัจจุบัน “ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” โควตาสายตรงจากพรรค ปชป.เช่นกัน

ก่อนหน้านี้ ย้อนไปไม่ต้องไกล เอาแค่ก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่มีการรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมืองไทยได้ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบัน (ตุลาคม 2565)

การเคหะฯ ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำภารกิจ “สร้างบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง” ขีดความสามารถสร้างบ้านปีละ 20,000 หน่วย

ทอดสายตาไปทั้งแผ่นดินไทย ก็เห็นมีการเคหะฯ หน่วยงานเดียวที่สร้างบ้านขายให้กับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เป็นบ้านคนจนแบบ “โอนกรรมสิทธิ์”

ในยุครัฐบาลประยุทธ์ มีการรื้อนโยบายใหม่ 360 องศา สั่งให้ทำ “บ้านเช่าคนจน” แทน “บ้านโอนกรรมสิทธิ์คนจน”

เรื่องนี้เขียนติเขียนชมไปหลายครั้งแล้ว หากรัฐบาลประยุทธ์ต้องการเพิ่มบ้านเช่าสำหรับข้าราชการและประชาชนผู้มีรายได้น้อย มีหน่วยงานอีกนับไม่ถ้วนสามารถทำได้ทันทีเพราะเป็นภารกิจที่ไม่ต้องมีกฎหมายจัดตั้งเป็นการเฉพาะ

แต่บ้านโอนกรรมสิทธิ์สำหรับผู้มีรายได้น้อยมีแค่การเคหะฯ หน่วยงานเดียว ตอนนี้ถูกสั่งให้ทำภารกิจกลายพันธุ์ และไม่ใช่ทำแค่ 40-50% แต่สั่งให้ทำบ้านเช่าทั้ง 100% ปีละ 20,000 หน่วยนี่แหละ

เคยยกตัวอย่าง พี่ ๆ คนกวาดถนนซื้อบ้านการเคหะฯ ตอนอายุ 30 ปี ใช้เวลาผ่อนทั้งชีวิตอีก 30 ปี ผ่อนบ้านจบตอนอายุ 60 ปี ถึงวัยเกษียณก็มีความมั่นคงในชีวิตเพราะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

แต่เวอร์ชั่นบ้านเช่าการเคหะฯ เช่าครั้งแรกตอนอายุ 30 ปี พอถึงวัยเกษียณอายุตัว 60 ปี สถานะบ้านเช่าก็คือบ้านเช่า เอาไปรีไฟแนนซ์ก็ไม่ได้ กรรมสิทธิ์ก็ไม่มี ความมั่นคงในชีวิตคงไม่ต้องพูดถึง

รมต.พรรคประชาธิปัตย์ หรืออีกนัยหนึ่งคือการเคหะฯ หลังจากรับมอบภารกิจทำบ้านเช่าแล้วนำมาขยายผลจัดตั้งบริษัทลูก “บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน)”

เนื่องจากเป็นเรื่องความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย กคช. ก็เลยถือหุ้น 49% ให้เอกชนมาร่วมถือหุ้นอีก 51%

โมเดลกึ่งธุรกิจกึ่งรัฐวิสาหกิจก็คือ ให้เอกชนร่วมถือหุ้น เพื่อลดภาระการใช้งบประมาณแผ่นดิน สร้างบ้านเช่า 20,000 หน่วยแล้วก็จะสร้างอาชีพในชุมชนไปด้วยเลย ผู้มีรายได้น้อยรับ 2 เด้ง ได้เช่าที่อยู่อาศัยราคาถูก+มีอาชีพทำ

สตอรี่ทั้งหมดถูกนำเสนอภายใต้แบรนด์ “บ้านเคหะสุขประชา” นั่นเอง

กลับมาต่อจิ๊กซอว์ประเด็นบ้านเช่าต่างชาติ ก็เพราะ 1 ในผู้ถือหุ้นบริษัทลูกของการเคหะฯ คือ “บริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด” สัดส่วนถือหุ้น 5% ทำธุรกิจให้บริการอำนวยความสะดวกแบบครบวงจร (one stop service) แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเป็นหลัก

ซึ่งแตกต่างจากโครงการบ้านเคหะสุขประชา ที่มีจุดประสงค์สร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนไทยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง

มุมมองแบบคิดนอกกรอบของบริษัทไทยจัดการลองสเตย์ก็คือ เข้ามาช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย วิธีการคือจะเช่าบ้านเคหะสุขประชาลอตหนึ่ง (มากน้อยไม่ได้แจ้ง) แล้วลงทุนรีโนเวตให้เป็นธุรกิจเวลเนสสำหรับลูกค้าต่างชาติ

“…เมื่อเคหะสุขประชาเปิดตัว 100% เราจะเริ่มมองว่ายูนิตไหนที่เหมาะสมกับชาวต่างชาติ พร้อมอำนวยความสะดวกเรื่องการเข้ามาเช่าในระยะสั้นจนถึงระยะยาว ผ่านการเช่าอย่างมีระบบ ตั้งแต่ 1 เดือนถึง 1 ปี มีการชำระเงินเสียภาษีถูกต้องตามระเบียบทุกอย่าง ซึ่งเป็นการวางแผนร่วมกับเคหะสุขประชาอย่างเป็นรูปธรรม”

“…โดยเริ่มจาก 3 พื้นที่ destination หลักด้านการท่องเที่ยวและใช้ชีวิตอย่าง เชียงใหม่ หัวหิน และบางแสน ฉะนั้นเท่ากับใน 12 เดือน กลุ่มเปราะบางที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวจะมีรายได้จากตรงนี้แน่นอนแล้ว” …ข้อมูลจากข่าวแจก

ขออนุญาต Q&A ตรงนี้ว่า 1.นโยบายบ้านเช่าผู้มีรายได้น้อย เป็นนโยบายที่หลงทางอยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดควรสงวนให้ “คนไทยผู้มีรายได้น้อย” ได้เช่าทั้ง 100% หรือไม่

2.หากต้องการสร้างอาชีพให้คนไทยผู้มีรายได้น้อยที่พักอาศัยในบ้านเคหะสุขประชา เหตุใดบริษัทไทยจัดการลองสเตย์จึงไม่ซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียง ลงทุนสร้างธุรกิจลองสเตย์สำหรับต่างชาติ แล้วจ้างงานคนไทย

เหตุผลสำคัญในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปรอบใหม่ เพื่อป้องกันข้อครหาที่จะมาถึง รมต.ปชป. ว่าเอาบ้านเช่าคนไทยผู้มีรายได้น้อยไปเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจบ้านเช่าคนต่างชาติ

3.โครงการนำร่องที่จะเช่าบ้านเคหะสุขประชาสำหรับคนไทยผู้มีรายได้น้อยไปทำบ้านเช่าต่างชาติ เจาะจง “เชียงใหม่ หัวหิน บางแสน” ไม่แน่ใจว่าเป็นพื้นที่ที่คนไทยผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางมีที่พักอาศัยเพียงพอแล้วหรือไม่

ส่วนคำถามข้อที่ 4-5-6… เว้นช่องว่างไว้ให้ผู้สนใจร่วมกันหาคำตอบจาก 3 ปาร์ตี้ 1.การเคหะฯ 2.กระทรวง พม. และ 3.พรรค ปชป.ค่ะ

19/10/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (19 ตุลาคม 2565)

Youtube Channel