info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.218.123.194

ถนนเจ้าสัว “ทรงวาด” ย่านค้าส่ง 100 ปี ทำเลกำลังเปลี่ยนแปลง

Building News / ข่าวหมวดอาคารทั่วไป

ไม่บ่อยครั้งที่กลุ่มคนรุ่นใหม่จะจับมือกันแน่น เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ “ถิ่นที่อยู่เดิม” เติบโตอย่างทันสมัย ไม่ให้ตกยุค หรือปล่อยให้ความเจริญมาล้ำหน้ากลืนกินกลิ่นอายเดิม ๆ ที่ยังคงมีเสน่ห์ และควรค่าแก่การรักษาไว้

ล่าสุด เกียรติวัฒน์-พัชรินทร์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ สองสามีภรรยาคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับครอบครัวธุรกิจทำรองเท้ามาอย่างยาวนาน นับเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของแหล่งค้าส่งย่านถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ ได้ตัดสินใจรีโนเวตตึกแถวเก่า ๆ อันเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัว มาปรับเป็น “แกลเลอรี่” แห่งแรกของถนนสายประวัติศาสตร์แห่งนี้

ซึ่งกลายเป็นแรงกระเพื่อม ทำให้คนในสังคมสมัยใหม่ต่างหันมามองและอยากรู้จักถนนเก่าแก่ดั้งเดิมอย่าง “ทรงวาด” มากขึ้น โดยได้รับแรงเชียร์จากกลุ่มเพื่อน ๆ ที่เป็นทายาทธุรกิจวัยใกล้กัน และเป็นเพื่อนบ้านที่เติบโตมาด้วยกัน

ทำให้งานอีเวนต์เปิดตัวแกลเลอรี่และหนังสือ MADE IN SONG WAT ได้รับความสนใจจากคนทุกวงการ ทั้งคนดัง คนไม่ดังแต่รวยจริง มาร่วมงานอย่างคับคั่ง โดยมี “ภัทรียา พัวพงศกร” เป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพ

หากย้อนรอย “ถนนทรงวาด” มีข้อมูลบันทึกว่า เป็นถนนที่ตัดเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่คู่ขนานกับถนนเจริญกรุง ย่านเยาวราช เป็นถนนสายสั้น ๆ ที่มีความยาวเพียง 1,196 เมตร แต่เป็นทำเลที่น่าจดจำ เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะ “เจ้าสัว” ระดับเบอร์ต้น ๆ ของประเทศไทย อาทิ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประมุขแห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือกลุ่ม ซี.พี. และ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของพอร์ตแสนล้านในธุรกิจค้าปลีก เครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกลุ่มพ่อค้าใหญ่แห่งวงการเกษตรอย่างนครหลวงค้าข้าว

ชื่อ “ทรงวาด” มาจากรัชกาลที่ 5 ทรงวาดถนนเส้นนี้ลงบนแผนที่ เมื่อทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบพื้นที่แถบนี้ใหม่ หลังเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ย่านสำเพ็ง เมื่อปี พ.ศ. 2449 ด้วยทำเลติดแม่น้ำ การคมนาคมจึงสะดวกกับการขนส่งทางเจ้าพระยา โดยทำการรับขนส่งสินค้ามาทางเรือจากต่างประเทศ แล้วกระจายสินค้าไปทุกหัวเมืองทั่วประเทศไทย เถ้าแก่รุ่นบุกเบิกจึงเติบโตมั่นคงจากกิจการท้องถิ่นสู่ธุรกิจระดับนานาชาติ

นอกจากเป็นย่านการค้าสมัยเก่าแล้ว ยังเป็นแหล่งสถาบันการศึกษาที่มีเศรษฐีหลายคนก็เรียนจากโรงเรียนในย่านนี้ เช่น โรงเรียนเผยอิง ฯลฯ ทั้งยังเป็นแหล่งที่ตั้งของสถาบันการเงินที่อยู่คู่กันมานาน อาทิ ธนาคารยูโอบีในยุคนี้ ยุคก่อนคือธนาคารเอเชีย และธนาคารกรุงเทพ ของตระกูล “โสภณพนิช”

เขตเศรษฐกิจพิเศษยุครัตนโกสินทร์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า “กิจการเจียไต๋” ของเครือ ซี.พี. เป็นตัวอย่างธุรกิจเจ้าสัวยุคบุกเบิกที่ชัดเจนและคุ้นเคยกันดีของคนทรงวาด เจียไต๋เริ่มกิจการเมื่อ พ.ศ. 2464 จากร้านขายเมล็ดพันธุ์ มี เจี่ย เอ็กชอ และน้องชายชื่อ “เจี่ย จิ้นเฮี้ยง” หรือชื่อไทยว่า “ชนม์เจริญ เจียรวนนท์” ที่ร่วมกันบุกเบิก โดยเจี่ย เอ็กชอ ซึ่งเป็นบิดาของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” นั่นเอง

ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้เล่าเรื่องอดีตไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ “ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว” ว่า ตัวเขากำเนิดขึ้นบนชั้น 3 ของอาคารเก่าย่านถนนทรงวาด ตัวอาคารมีป้ายติดด้านหน้าที่เขียนไว้ว่า “เจียไต๋จึง” (อ่านออกเสียงว่า “เจียไต้จึง”) ซึ่งเป็นกิจการขายเมล็ดพันธุ์ที่ “เจี่ย เอ็กชอ-เจี่ย จิ้นเฮี้ยง” ช่วยกันบุกตลาด ถือเป็นรากฐานสำคัญของการตั้งตัวในธุรกิจที่หลากหลายในเวลาต่อมา โดยมีลูกน้องคนเก่าแก่ของกลุ่มเจียไต๋ยังคงปักหลักขยายทำธุรกิจการค้าในย่านทรงวาดอยู่เหมือนเดิม

ปัจจุบันเจียไต๋สร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่บนถนนสุขุมวิทย่านบางจาก ภายใต้หลักฮวงจุ้ยที่สมบูรณ์แบบที่สุด

ขณะที่ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ที่มีความผูกพันกับทำเลทรงวาด ยังคงมีที่ดินอีกหลายแปลงพร้อมพัฒนาอยู่ทุกเมื่อ ที่โดดเด่นเป็นสัญลักษณ์คือรูปช้าง 2 ตัวที่เพนต์รูปซ้อนกันบนผนังตึกแถว เป็นลานจอดรถติดแม่น้ำเจ้าพระยา และอาคารพาณิชย์ที่ดูคล้ายโกดังเก่าผสมตึกแถว อยู่ฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็ติดป้ายจะทำโครงการบูทีคโฮเต็ล โดยได้รับใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว โดยจะใช้เชนโรงแรมเดอะ ริทซ์ คาร์ลตัน

แต่ปัจจุบันยังไม่มีการเคลื่อนไหว คาดว่ากลุ่มทายาทตระกูลเจ้าสัวเจริญ กำลังมุ่งพัฒนาที่ดินเก่า “ล้ง คลองสาน” ที่เช่ามาจากตระกูล “หวั่งหลี” ให้ทันกับการรองรับสถานการณ์ท่องเที่ยวที่กำลังบูมหลังยุคโควิด

นอกจากนี้ บนถนนทรงวาดยังเป็นจุดกำเนิดของกิจการแป้งมันสำปะหลังของตระกูล “กาญจนชูศักดิ์” ที่เคยเปิดเป็นร้านค้าห้องแถว 2 ห้อง ทำการค้าขายสินค้าการเกษตร ก่อนพัฒนาไปสู่การค้าตลาดส่งออกในประเทศใกล้เคียง

รวมไปถึงเศรษฐีการค้ารุ่นเก๋า อาทิ วันทนี ลิมป์พวงทิพย์ อาม่าวัย 85 ปี เจ้าของร้านเก่าแก่ที่สุดของทรงวาด ในนามบริษัท เจริญวัฒนา จำกัด จังหงี่เฮง-สุนทร เจริญเลิศทวี อากงอายุ 90 ปี ที่ยังเป็นที่ปรึกษาให้รุ่นลูกหลาน และ เสี่ยสง่า ไชยจรูญโชติ อายุ 77 ปี เจ้าของกิจการ บริษัท ส.ไทยฮวด (2002) จำกัด ซึ่งแต่ละท่านล้วนมีทายาทมาร่วมสืบสานต่อยอดธุรกิจ จนกลายเป็น “เมดอินทรงวาด”

“สุวรรณี เจริญเลิศทวี” ผู้จัดการ บริษัท เจริญเลิศทวี จำกัด ผู้จำหน่ายสินค้ารายใหญ่ และเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของ “สุนทร เจริญเลิศทวี” พ่อค้าย่านทรงวาด ในวัย 90 ปี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเรียนจบปริญญาตรีก็มาช่วยกิจการของครอบครัว พร้อมกับพี่น้องในตระกูลทั้ง 7 คน โดยมี 4 คนยังคงปักหลักทำเลย่านนี้ แต่แตกไลน์ธุรกิจเพื่อให้ครบวงจร เช่น ซื้อตึกเพิ่มเพื่อปรับปรุงทำเป็นบูทีคโฮเต็ล เพราะเป็นธุรกิจที่มาแน่กับถนนทรงวาด ซึ่งนักท่องเที่ยวบางกลุ่มยังชอบความเก่า และวัฒนธรรมดั้งเดิม

“ทรงวาดไม่ใช่เยาวราช แต่เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน มีความเหมือนในความต่าง เยาวราชเป็นถนนที่เร่งรีบ ไม่เคยหลับใหล ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น มีการขับเคลื่อนตลอดเวลาตลอด 24 ชั่วโมง เสียงลมหายใจดูสนั่นหวั่นไหว วุ่นวาย สับสน เซ็งแซ่ ระงมไปทั่วตั้งแต่เช้าจดค่ำ”

“ต่างจากทรงวาดที่ดูสโลว์ไลฟ์มากกว่า ตื่นและหลับเป็นเวลา ทำงานพร้อมพระอาทิตย์ และนอนหลับในเวลาพระจันทร์ เราอยู่ชิดใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา เลยมีความเย็นในทุกฤดูกาล แม้ความเจริญค่อย ๆ ก้าวเข้ามา แต่ก็เป็นทำเลที่ไม่เอะอะ ไม่โวยวาย การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นเสน่ห์อีกแบบ”

ปัจจุบันที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในย่านนี้มีการเปลี่ยนมือบ้าง แต่ถือว่าน้อยมาก ส่วนใหญ่เจ้าของจะหวงแหน โดยปล่อยให้เช่ามากกว่า เพื่อทำเป็นร้านกาแฟคาเฟ่น่ารัก ๆ ร้านอาหารแนวชิก ๆ และบูทีคโฮเต็ลขนาดกะทัดรัด ซึ่งตอนนี้มีนักธุรกิจรุ่นใหม่เริ่มเข้ามาลงทุนทำธุรกิจสมัยใหม่มากขึ้นและได้รับการตอบรับดี

“ตึกแถวทำเลนี้จะเป็นอาคารทรงเก่า มีขนาดหน้ากว้างที่กว้างกว่าตึกแถวทั่วไป โดยเฉพาะอาคารฝั่งติดริมน้ำ เพราะต้องเผื่อให้รถบรรทุกเข้าออกง่ายเวลารับขนส่งของ เท่าที่ทราบราคาตลาดแบบซื้อขาด ห้องหนึ่งก็ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท”

ที่น่าสนใจ บริเวณสำเพ็ง-ทรงวาด-พาดสาย ล้วนเป็นทำเลต่อเชื่อมที่เป็นย่านการค้าและชุมชนหลายเชื้อชาติ ทั้งชาวจีน มุสลิม และคนไทย ทำให้เกิดร้านค้าหลากหลายสไตล์ มีร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อชื่อเก๋ “โรงกลั่นเนื้อ” อยู่ซอยหัวมุมบริเวณมัสยิด ท่ามกลางชุมชนชาวจีนและศาลเจ้าถึง 5 ศาลเจ้าใกล้กัน

ถนนทรงวาดเปรียบเสมือน “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ปัจจุบันกำลังปรับตัวไปตามยุคสมัย โดยสร้างจุดยืนให้เป็นจุดแข็งและจุดขาย เพื่อสร้างความแตกต่างที่มีมูลค่า

21/6/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 21 มิถุนายน 2566 )

Youtube Channel