info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.191.178.145

บิ๊กตู่ กดปุ่มสมาร์ท ปาร์ค สร้างเงินทุนหมุนเวียนในพื้นที่อีอีซี

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิด“โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park)” ผ่านระบบออนไลน์

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่านิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เป็นอีกหนึ่งโครงการภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รองรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (นิว เอส-เคิร์ฟ) ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการลงทุนในด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านอื่นๆ ช่วยเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่านิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พื้นที่รวม 1,383.76 ไร่ มูลค่าการลงทุน 2,370 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสังคม ตั้งแต่ระยะก่อสร้าง โดยมีการจ้างงานประมาณ 200 คน ทำให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในชุมชน ประมาณ 23,760,000 บาทต่อปี ส่วนระยะดำเนินการ มีการจ้างงานประมาณ 7,459 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1,342,620,000 บาทต่อปี ทั้งยังมีการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิงและอื่นๆ ทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

“หลังจากลงนามในสัญญาจ้างผู้รับเหมาแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ประมาณ 3 ปี และเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 ปัจจุบันความก้าวหน้าของงานก่อสร้างโครงการประมาณ 7.66% เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการลงทุนในนิคมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)”นายสุริยะ กล่าว

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่านิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จะเป็นต้นแบบของนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเชิงนิเวศ ที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ โดยใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ในการดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่ระบบสาธารณูปโภค ที่นำสายไฟลงใต้ดิน มีการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart grid) รวมทั้งให้โรงงานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กว่า 80% ของพื้นที่ และกำหนดให้ใช้ระบบขนส่งมวลชนไฟฟ้าในพื้นที่ จากการประเมินคาดว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1,800 ตันหรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้ประมาณ 180,000 ต้น

“กนอ.อยู่ระหว่างศึกษาร่วมกับญี่ปุ่นถึงความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนในนิคมสมาร์ท ปาร์คคาดว่าภายใน 1-2 เดือนข้างหน้าจะกำหนดราคาเช่า/ขายพื้นที่ได้ อีกทั้ง กนอ.ได้มีการพบปะนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนแล้วบางส่วน และพร้อมเดินหน้าจัดโรดโชว์ในต่างประเทศต่อเนื่องในประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และประเทศในยุโรปที่สนใจย้ายฐานการผลิต เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยาและวัคซีน ยานยนต์แห่งอนาคต โลจิสติกส์ และระบบอัตโนมัติ”

โครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค รองรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล หุ่นยนต์ การแพทย์ครบวงจร การบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น และยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่มีระบบสาธารณูปโภคเพียบพร้อม รวมทั้งอาคารต่างๆ ต้องมีมาตรฐานระดับสากล ก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในท้องถิ่น

1/4/2565  แนวหน้า (1 เมษายน 2565)

Youtube Channel