วิกฤตพลังงานขึ้นทั่วโลก มีส่วนหนุนการแจ้งเกิดอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ ยานยนต์สมัยใหม่ หรือ EV ในประเทศ ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์ นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ถึงแผนการลงทุนสำคัญในปี 2566 ในฐานะผู้นำด้านการผลิตโซลูชั่นการจัดการพลังงาน เครื่องชาร์จอีวี เซ็นเตอร์และระบบอัตโนมัติ นานนับ 10 ป
ลงทุนเพิ่ม 200 ล้านเหรียญ
การลงทุนในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 180-200 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 6,300-7,000 ล้านบาท) จากปีที่แล้วที่ลงทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,200 ล้านบาท) โดยจะโฟกัสที่ประเทศไทย อินเดีย และยุโรป
ในประเทศไทยจะมีโรงงานแห่งที่ 8 ที่ อ.บางปู จ.สมุทรปราการ เปิดช่วงกลางปี หรือ ก.ค. 2566 ขยายกำลังการผลิตชิ้นส่วนรถ EV แนวโน้มตลาดรถ EV ยังเติบโตอีก ค่ายรถหลายรายเตรียมออกโมเดลรถรุ่นใหม่ ซึ่งต่อไปโรงงานแห่งที่ 8 อาจไม่เพียงพอต้องขยายเพิ่มขึ้นอีก
EV หนุนรายได้โต
ถามว่า สัดส่วนของรายได้ 10% จะมาจากธุรกิจที่เป็น EV และตัวเครื่องชาร์จหรือตู้ชาร์จ ที่จะดันการเติบโตของเดลต้าฯ ได้หรือไม่ อาจพูดได้ว่ามันก็คือธุรกิจหลักของเดลต้าฯ ในตอนนี้
แต่สิ่งที่จะทำให้รายได้โตจริง ๆ นั้นมาจาก 3 ส่วน คือ 1.วิกฤตพลังงานทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว หลายโรงงานติดแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งเราคือผู้นำด้านการผลิตและบริการโซลูชั่นการจัดการพลังงาน
2.การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) เป็นแรงผลักดันให้ EV และเครื่องชาร์จรถ EV โต บวกกับนโยบายการสร้างเมืองอัจฉริยะ (smart city) เทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์ ทั้ง AI คลาวด์ ต่าง ๆ ตลาดให้ความสนใจและต้องการอย่างมาก
และ 3.แนวคิดการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) เดลต้าฯ ประเทศไทยร่วมลงนามและเป็นสมาชิกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) ไม่ใช่แค่ตั้งไว้เป็นแนวคิด แต่เราปฏิบัติผ่านแผนการดำเนินงานต่าง ๆ
ตั้งเป้าโต 2 หลักทุกปี
การที่เราขยายพาร์ตเนอร์ไปหลายอุตสาหกรรม ทำให้เราได้เปรียบ พยายามตั้งเป้าเติบโตในทุกปีให้ได้ตัวเลข 2 หลัก
ปี 2566 นี้ รอดูการทำความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (FTA EU) เราเห็นศักยภาพและประโยชน์ที่จะเกิด อีกมากเราจับมือกับค่ายรถยุโรปอยู่ก่อน จากนี้จะมีอะไรที่เหนือขึ้นไปอีก เพราะจะยิ่งช่วยบูสต์ให้ตลาด EV ของไทยโตอีกมากเห็นยอดการจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้น มีแพ็กเกจและมาตรการส่งเสริมการลงทุน สิทธิประโยชน์ เงินอุดหนุนจากรัฐบาลออกมาซัพพอร์ต
ขณะที่ปัจจัยลบที่ทำให้อุตสาหกรรมเราช้า จากสถานการณ์ของตลาดวัตถุดิบชิ้นส่วนบางตัว เช่น เซมิคอนดักเตอร์ยังคงขาดแคลน เราพยายามมอนิเตอร์ต้องคุมเรื่องนี้ให้ได้
3 คีย์เวิร์ด Transform ไทย
ในไทยแผนการลงทุน เรามุ่งไปเรื่องของธุรกิจ EV มากขึ้น แต่ ไม่ได้ทิ้งการที่เป็นผู้นำธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ เพียงแต่เราสร้างความเป็นโซลูชั่นขึ้นมา ให้ครบองค์ประกอบ การดำเนินธุรกิจในไทยต้องมี 3 สิ่งนี้ คือ 1.ธุรกิจ EV เราเป็นผู้ผลิตเครื่องชาร์จ มีหลายรุ่น
ล่าสุดคือตัวควิกชาร์จ (ชาร์จเร็ว 15-20 นาที) คือ DC City Charger 200 kw ติดตั้งในที่สาธารณะ 200 แห่ง ซึ่งรวมถึงในปั๊ม ปตท.อาคารลานจอดรถ ห้างสรรพสินค้าอย่างเซ็นทรัล โลตัส ส่วนอัตราชาร์จขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการของแต่ละค่าย
ปีที่แล้วมียอดขาย DC City Charger 120 เครื่อง อีกตัวคือ AC Charger (ขนาดเล็กติดตั้งพื้นที่ที่อยู่อาศัย) ใช้เวลาชาร์จ 4-5 ชั่วโมง ปีที่ผ่านมามียอดขาย 2,000 เครื่อง ถือว่าเป็นอะไรที่ดีน่าพอใจ
2.สร้างคน ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ อย่าง มหิดล มหาวิทยาลัยในมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ออสเตรเลีย สร้างบุคลากรทางด้าน engineering ด้าน power electronics ซัพพอร์ตธุรกิจเดลต้าฯ รองรับการเติบโตในอาเซียน
นอกจากนี้ยังร่วมกับทาง กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ผ่าน Angel Fund และดึงผู้ประกอบการเหล่านั้นเข้ามาเป็นซัพพลายเออร์ หากไทยจะ transform ตัวเอง จำเป็นต้องมีการพัฒนาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นให้มีกําลังใจในการปฏิบัติงาน ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุน
3.สร้างโซลูชั่นให้ครบ เพื่อรองรับความต้องการลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นโซลูชั่นออโตเมชั่นที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิต โซลูชั่นโครงสร้างพื้นฐาน อย่าง ICT และ data center โซลูชั่น EV รวมถึงโซลูชั่นบิลดิ้ง หรือการจัดการอาคารทั้งหมด นำไปสู่การที่เรามีส่วนร่วมในการทำ smart city ในประเทศไทยนั่นเอง
2/3/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 2 มีนาคม 2566 )