info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.220.247.152

เหล็กจีนเขย่าเจ้าตลาดไทย “ซินเคอหยวน” ขึ้นแท่นเบอร์ 1

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

โรงงานเหล็กจีนปักหมุดทุบ “โรงเหล็กกรุงเทพ” ปิดตำนานผู้ผลิตเหล็กทรงยาวไทยรายสุดท้าย โมเดลธุรกิจจีนรุกคืบจากผู้ส่งออกมาตั้งโรงงานต้นทุนต่ำ ชิงเค้กตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กลืนทุนไทย วงการค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนผวา “ซิน เคอ หยวน” สยายปีกเพิ่มไลน์ผลิต “เหล็กทรงแบน” ปี’67 แจ้งกำลังผลิต 5 ล้านตัน เปลี่ยนเกม “สหวิริยา-จีสตีล/นิปปอนสตีล” รับศึกหนัก

การเลิกจ้างคนงานของ บริษัทโรงงานเหล็กกรุงเทพ จากปัญหาภาวะขาดทุนสะสมนั้นอาจจะเรียกว่า เป็นการปิดตำนานโรงเหล็กทรงยาวในประเทศไทย โดยโรงเหล็กกรุงเทพเป็นโรงงานสุดท้ายที่มีไลน์การผลิตมายาวนานถึง 59 ปี ในชื่อที่วงการรู้จักกันคือ “ฉือจิ้นฮั๊ว” ผู้ผลิตเหล็กทรงยาว (บิลเลต) เหล็กเส้น, เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้าง ที่ใช้ในงานก่อสร้าง เป็น 1 ใน 4 เจ้าของธุรกิจบิลเลตของประเทศไทย

โดยก่อนหน้านี้ธุรกิจโรงเหล็กทรงยาวของคนไทย หากไม่ถูกปิดไปก็ถูกนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการ ไม่ว่าจะเป็น โรงเหล็กสยาม ซึ่งอยู่ในกลุ่มปูนซิเมนต์ ถูกวิกฤตเศรษฐกิจถาโถมนับจากต้มยำกุ้ง ทำให้เหล็กสยามของ SCG ถูกปรับโครงสร้างไปอยู่ในกลุ่ม noncore business จากนั้นก็ถูกแปลงเป็น “มิลเลนเนียมสตีล” ซึ่งถูกบริษัท ทาทาสตีล จากอินเดีย มาเทกโอเวอร์ไป หรือโรงเหล็กพัฒนา ประสบปัญหาโครงสร้างหนี้ จัดเป็นลูกหนี้ของธนาคารกรุงไทย ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งจนไม่สามารถฟื้นกลับมาได้อีก

และรายล่าสุด โรงงานกรุงเทพผลิตเหล็ก ได้ปิดไลน์โรงหลอมไปเมื่อปี 2565 และลดคนงานไป 50% เหลือเพียงไลน์การผลิตที่เป็น โรงรีดเหล็ก ซึ่งโรงงานนี้จะใช้วัตถุดิบบิลเลตหรือเหล็กแท่งมารีดเป็นเหล็กแผ่น

ขณะที่ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มีธุรกิจเหล็กปิดตัวไปแล้ว 75 ราย หรือลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ปิดตัวไปถึง 117 ราย ส่วนทุนจดทะเบียนธุรกิจที่เลิกกิจการ คิดเป็นมูลค่า 393.06 ล้านบาท โดยมีข้อน่าสังเกตว่า ธุรกิจเหล็กที่ปิดตัวลงไปส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตรายกลางและรายเล็ก

ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจเกี่ยวกับเหล็กที่ยังคงอยู่ 4,855 ราย แต่วงการเหล็กมีการวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กว่า กำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 2567 จากการขยายกำลังการผลิตของ “ซิน เคอ หยวน” ผู้ผลิตเหล็กสัญชาติจีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย

เหล็กไทยพ่ายโรงงานจีน

นายพงศ์เทพ เทพบางจาก รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจเหล็กทรงยาว (บิลเลต) ของคนไทย อาจจะพูดได้ว่า “หมดไปแล้ว” จากปัจจัยหลักมาจากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้โรงงานเหล็กจากจีน เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศ โดยใช้เตาหลอมแบบ IF หรือ induction furnace ซึ่งเป็นเตาประเภทที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและในประเทศจีนไม่อนุญาตให้ใช้เตาหลอมแบบนี้แล้ว ทำให้โรงงานเหล็กเตาหลอม IF จากจีน ต้องย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ขณะที่เดิมโรงงานเหล็กไทยจะใช้เตาหลอมแบบที่เรียกกว่า EAF หรือ electric arc furnace

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังผู้ผลิตเหล็กไทยให้ข้อมูลว่า โรงงานเหล็กที่เลิกดำเนินกิจการไป จะใช้เตาหลอมแบบ EAF สำหรับรีดเป็นเหล็กเส้นและเหล็กลวด โดยโรงงานเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ “อนุญาต” ให้ผู้ผลิตเหล็กจากจีนที่ผลิตด้วยเตาหลอมแบบ IF เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งในช่วงแรกกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กทรงยาวก็ได้เข้าไปร้องเรียนที่ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ขอให้ช่วย” แต่ปรากฏว่ายังมี โรงเหล็กจีน ที่สามารถขอใบอนุญาตตั้งโรงงานโดยใช้เตาหลอมแบบนี้ได้ โดยอ้างว่า ยื่นขอตั้งโรงงานก่อนที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีประกาศกำกับดูแลเตาหลอมแบบ IF ได้สำเร็จ

“แม้ผู้ผลิตเหล็กทรงยาว หรือเหล็กเส้นของไทย จะมีการผลิตเหล็กลวด หรือไวร์รอดด้วย แต่ที่ผ่านมามีการทุ่มตลาดเหล็กลวดจากต่างประเทศ (จีน-อินโดนีเซีย-รัสเซีย) จนผู้ผลิตในประเทศร้องขอมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงภาษีการทุ่มตลาด (anti circumvention หรือ AC) แต่ก็สู้ไม่ได้ ประกอบกับผู้ผลิตเหล็กจากประเทศที่ทุ่มตลาดหรือหลบเลี่ยงการทุ่มตลาด เปลี่ยนวิธีการใหม่ แทนที่จะส่งสินค้าเหล็กเข้ามาในประเทศก็หันมาตั้งโรงงานผลิตในไทยเป็นจำนวนมากเสียเลย”

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าการตัดสินใจเข้ามาตั้งโรงงานเหล็กในไทยของนักลงทุนจีนจะมีความได้เปรียบทั้งในด้านต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบ “กราไฟด์อิเล็กโทรด” ซึ่งปรับราคาสูงขึ้น 10 เท่าจาก 2,000 บาท เป็น 20,000 บาท ซึ่งในส่วนของโรงงานเหล็กไทย รวมถึง โรงเหล็กกรุงเทพ ก็ได้มีความพยายามที่จะปรับตัวหลาย ๆ ด้านเพื่อแข่งขันสู้กับโรงงานเหล็กจีน แต่สุดท้ายเมื่อคำนวณต้นทุนรวมเฉลี่ยยังแตกต่างกันถึง กก.ละ 1 บาท ประกอบกับโรงเหล็กจีนจะใช้วิธีผลิตเต็มกำลังผลิตและเปิดราคาขายเหล็กเส้น-ลวดเหล็ก “ต่ำกว่า” โรงงานเหล็กไทย เพื่อแย่งตลาดอย่างที่ไม่กลัวขาดทุนอีกด้วย

นอกจากนี้การเข้ามาตั้งโรงงานเหล็กจีนในประเทศไทย ยังช่วย “ปลดล็อก” การเข้าถึงงานจัดซื้อจัดจ้างในโครงการของรัฐบาลไทย จากเดิมที่เข้าไม่ถึงก็กลายเป็นเข้าร่วมการประมูลงานได้ เนื่องจากตั้งโรงงานผลิตในประเทศ เหล็กที่ผลิตออกมาจากโรงงานจึงกลายเป็น “สินค้าไทย” เข้าเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างที่ให้ใช้สินค้าไทย 90% และที่สำคัญ เวลาประมูลสินค้า เหล็กพวกนี้มีต้นทุน “ถูกกว่า” เหล็กไทยมาก ขณะที่เกณฑ์การประมูลเลือกใช้ราคา “ต่ำสุด” ทำให้เหล็กจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทยสามารถผ่านการคัดเลือกแบบฉลุย

ซิน เคอ หยวน ขยายไลน์ผลิต

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า บริษัท ซิน เคอ หยวน ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเหล็กจากจีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานเหล็กเส้นในไทย กำลังขยายไลน์การผลิต “เหล็กแผ่นรีดร้อน” รวมไปถึง เหล็กรีดเย็นและเหล็กเคลือบทรงแบน ด้วย โดยบริษัทได้แจ้งกำลังผลิตประกอบไปด้วย เหล็กลวดและผลิตภัณฑ์ประมาณ 2,800,000 ตัน/ปี, เหล็กเส้นข้ออ้อยประมาณ 132,000 ตัน/ปี, เหล็กเส้นกลมประมาณ 66,000 ตัน/ปี และล่าสุดเหล็กแผ่นรีดร้อนประมาณ 5,600,000 ตัน/ปี โดยการปรากฏตัวเลขกำลังผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนกำลังจะเริ่มสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วในวงการเหล็กไทย จากปัจจุบันที่มีผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายใหญ่ในประเทศอยู่ 4 กลุ่ม ประกอบไปด้วย

กลุ่มบริษัทสหวิริยา (SSI) ผลิตเหล็กรีดร้อนหน้าเต็มที่ใช้ “สแลบ” มารีด, กลุ่มบริษัท G Steel เดิมที่ปัจจุบันถูก กลุ่ม Nippon Steel ญี่ปุ่น เข้ามาเทกโอเวอร์ไปแล้ว โดยกลุ่มนี้ใช้เศษเหล็กมาผลิตเป็นสแลบอีกทีหนึ่ง, กลุ่มไพร์ม สตีล มิลล์, กลุ่มเอเซียนเมทัล 2 กลุ่มหลังจะผลิตเหล็กรีดร้อนหน้าแคบ และกลุ่ม LPN หรือเล้าเป้งง้วน จะผลิตเหล็กรีดร้อนเพลส ส่วนกลุ่มผู้ผลิตเหล็กรีดเย็นจะประกอบไปด้วยผู้ผลิตหลัก ได้แก่ TCR ของ SSI และ NS-SUS ของ Nippon Steel และกลุ่มบริษัทสตาร์คอร์

ล่าสุดจากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มซิน เคอ หยวน มีการตั้งบริษัท 2 บริษัท ประกอบไปด้วย บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จดทะเบียนตั้งบริษัทเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ทุนจดทะเบียน 1,530,000,000 บาท ตั้งโรงงานที่หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง แจ้งประกอบกิจการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานขั้นต้นและขั้นกลาง กับบริษัท ซิน เคอ หยวน จดทะเบียนตั้งบริษัทเดือนกรกฎาคม 2562 ทุนจดทะเบียน 6,000,000,000 บาท ตั้งโรงงานที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง

ส่วนปริมาณการใช้เหล็กล่าสุดจาก สถาบันเหล็ก แจ้งเข้ามาว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 2566) ความต้องการใช้เหล็กทรงแบนมีจำนวนถึง 7.7 ล้านตัน “มากกว่า” ความต้องการใช้เหล็กทรงยาว 4.7 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้ยังแบ่งเป็น เหล็กเส้น-รูปพรรณ 3 ล้านตัน กับเหล็กไวร์รอดอีก 1.7 ล้านตัน

2/12/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 2 ธันวาคม 2566 )

Youtube Channel