info@icons.co.th 02 810 8892-6 35.171.45.182

ศิริราช-รามา ผนึกบิ๊กค้าปลีก เปิดศูนย์แพทย์เซ็นทรัล-โลตัส

Hospital News / ข่าวหมวดโรงพยาบาล

“ศิริราช-รามาฯ” คิดนอกกรอบ จับมือค้าปลีก ขยายบริการใหม่ เปิดศูนย์ดูแลสุขภาพนอกพื้นที่โรงพยาบาล หวังลดแออัด-ลดการเดินทาง “ศิริราช” ปักหมุด “ไอคอนสยามเฟส 2-เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า” ผุดศูนย์ผู้สูงวัยที่สมุทรสาคร “รามาธิบดี” ผนึก “ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป” ยึดหัวหาดที่ “โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์”

เมื่อการเดินทางและความแออัดในโรงพยาบาลรัฐกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของบุคลากรทางการแพทย์ และคนไข้ รวมถึงญาติที่ต้องคอยดูแล ล่าสุด โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี ประกาศเดินหน้านโยบายเชิงรุก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการร่วมกับภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก เพื่อเปิดศูนย์บริการดูแลสุขภาพนอกพื้นที่เป็นครั้งแรก

คนป่วย-ไม่ป่วยล้นศิริราช

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันมีคนไข้เข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลเฉลี่ยถึงวันละ 10,000 คน หรือประมาณ 4.2 ล้านคนใน 1 ปี แยกเป็นผู้ป่วยในปีละ 100,000 ราย นอกนั้นเป็นผู้ป่วยนอก (เดินทางไป-กลับในแต่ละวัน) ซึ่งไม่รวมถึงญาติผู้ป่วยที่ร่วมเดินทางมาโรงพยาบาลด้วย ทำให้เกิดข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่และบริการ

ขณะที่พื้นที่ในโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 70 ไร่นั้น ได้ก่อสร้างอาคารดูแลรักษาผู้ป่วยรวมแล้วมีประมาณ 70 อาคาร ซึ่งถือว่า ได้ใช้พื้นที่เต็มศักยภาพแล้ว ไม่สามารถจะขยายอาคารใหม่ได้อีก นอกเหนือจากการรีโนเวตบางอาคารเท่านั้น

ด้วยโจทย์นี้ ทำให้ศิริราชต้องคิดนอกกรอบ ยิ่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การตัดสินใจเร็วขึ้น ภายใต้ทิศทางที่เหมาะสม คือต้องขยายบริการนอกพื้นที่โรงพยาบาล แต่ต้องมีระบบ และโนว์ฮาวที่ได้มาตรฐานของความเป็นโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งถือเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และน่าเชื่อถือ

“ขณะนี้ทางศิริราชได้ร่วมกับผู้ประกอบการศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าบ้างแล้ว ในการขยายบริการรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นเทรนด์บริการเชิงการแพทย์ในรูปแบบ new normal เพื่อรองรับกลุ่มคนไข้และประชาชนในทุกระดับ เน้นการเข้าถึงง่ายในด้านบริการ และเป็นการดูแลในเชิงป้องกัน คือไม่ได้ป่วยมากหรือป่วยหนัก ถ้าเคสต้องผ่าตัดก็ต้องมาโรงพยาบาล”

ปักหมุด ICS-เซ็นทรัล

ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) แล้วกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คือบริษัท ไอซีเอส จำกัด (ไอคอนสยามเฟส 2) เพื่อจัดทำโครงการ Siriraj Healthy Lifestyle Center (SiHeLP) ศูนย์บริการด้านเฮลท์แคร์ในรูปแบบศูนย์ดูแลสุขภาพสุขภาพครบวงจรแห่งแรกนอกพื้นที่โรงพยาบาล ที่เน้นการคัดกรอง ดูแล ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพ และการชะลอวัยเป็นสำคัญ

ICS มิกซ์ยูส ไลฟ์สไตล์ ทาวน์ เป็นโครงการใหญ่มูลค่า 40,000 ล้านบาท ของกลุ่มสยามพิวรรธน์-MQDC และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นอาคารสูง 29 ชั้น พื้นที่ 5 ไร่ พื้นที่รวม 70,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลักในพื้นที่เดียวกัน ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรม และอาคารสำนักงาน

ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวเสริมว่า ประเด็นหลักที่ศิริราชเลือก ICS เพราะจากเคสโควิด-19 ที่ต้องมีการปิดสถานที่นั้น สำหรับโครงการดังกล่าวจะมีโซลูชั่นคือมีพื้นที่ของโรงแรมและอาคารสำนักงานเป็นทางเข้าออกที่อำนวยความสะดวกแทนศูนย์การค้าได้ หากเกิดกรณีที่คาดไม่ถึง

ศ.นพ.อภิชาติ เปิดเผยว่า นอกเหนือจากนี้จะทำการย้ายศูนย์บริการเจาะเลือดย่านสิริธร ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินของศิริราชประมาณ 10 ไร่นั้น จะขยายบริการไปที่ใหม่บนห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการ

ตามแผนคาดว่า ศูนย์บริการทางการแพทย์จะเปิดให้บริการในปี 2566 พร้อมศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 25 ไร่ นับเป็นสถานบริการทางการแพทย์แห่งใหม่ในเครือข่ายโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งไม่เชิงเป็นโรงพยาบาล แต่เป็นคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องมานอนโรงพยาบาล แต่สามารถมาฟื้นฟูต่อที่นี่ได้

ซึ่งจะเป็นโครงการต้นแบบที่เราจะดูแลผู้สูงอายุก่อนที่จะกลับบ้าน พร้อมสอนลูกหลานในการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องตามหลักทางการแพทย์ เป็นที่ฝึกบุคลากรสำหรับดูแลผู้สูงอายุ และสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยต่าง ๆ ให้แก่สังคม ในการพึ่งพาตัวเอง

หากพบว่า มีเคสที่จำเป็นต้องรักษา ทางเรามีระบบรีเฟอร์ส่งต่อโรงพยาบาลศิริราช หรือโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ได้ทันที ภายใต้จุดแข็งของระบบการทำงาน และประสิทธิภาพของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ล่าสุด โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมกับบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เปิด “ศูนย์สุขภาพรามาธิบดี” เช่นกัน ซึ่งเป็นการให้บริการนอกพื้นที่แห่งแรกในพื้นที่ค้าปลีกที่ “โลตัส นอร์ธ ราชพฤกษ์” ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของตระกูล “เจียรวนนท์” เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565

นำโดยคณะผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่าย คือ ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายดูแลสุขภาพ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับนายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อขยายบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพคนไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ที่ต่อเนื่อง สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นผลดีกับประชาชนที่ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล

นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการรีเทลที่พัฒนาพื้นที่เพื่อสุขภาพเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป้าหมายเพื่อเปิดให้ทุกคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพแบบครบวงจรได้ในจุดเดียว

1/12/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (1 ธันวาคม 2565)

Youtube Channel