info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.223.43.142

ไนท์แฟรงก์เผยปี 2563 โรงแรมลงหรูเปิดใหม่ 1,800 ห้อง ยอดเข้าพักเหลือ 27%

Hotel News / ข่าวหมวดโรงแรม

ไนท์แฟรงก์เผยปี 2563 โรงแรมลงหรูเปิดใหม่ 1,800 ห้อง ยอดเข้าพักเหลือ 27% โควิดระลอกใหม่กดดันตลาดขาลงต่อเนื่อง

มร.คาร์ลอส มาร์ติเนซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปี 2563 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.7 ล้านคน ลดลง -83% ปีต่อปี จาก 39.9 ล้านคนในปี 2562 เนื่องจากสถานการณ์โควิด โดยระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2563 ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ขณะที่ไตรมาส 4/63 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 10,822 คน ด้วยวีซ่านพิเศษระยะยาว ซึ่งต้องกักตัว 14 วัน

ภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออก 56% ยุโรป 31% และจีน 20% ซึ่งยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม 2563 รัฐบาลไทยออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในภายประเทศ ช่วยเหลือค่าใช้จ่าย 40% ของราคาห้องพักปกติ 5 ล้านสิทธิ โรงแรงส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์ในช่วงวันหยุดยาว เช่น โรงแรมในพัทยาและหัวหิน เป็นต้น ขณะที่โรงแรมลักชัวรี่เสนอแพ็คเกจ “staycation” ให้ส่วนลดพิเศษต่างๆ

ในด้าน “ซัพพลาย” พบว่า โรงแรมระดับลักชัวรี่กรุงเทพฯ มีจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 20,555 ห้อง ณ สิ้นปี 2563 โดยทำเลสุขุมวิทตอนต้น มีโรงแรมระดับลักชัวรี่ 40% ของซัพพลายทั้งหมด ตามมาด้วยเขตลุมพินี 22% สีลมและสาทร 15% และริมแม่น้ำ (16%) โดยปี 2563 มีอัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยของโรงแรงลักชัวรี่ในกรุงเทพฯ เพียง 27% อย่างไรก็ตาม ตรมาส 1/63 มีอัตราการเข้าพักมากกว่า 50% และลดลงไปต่ำสุดที่ 20% ในไตรมาส 3/63-4/63 โดยอัตราดังกล่าวมาจากแพ็คเกจ Staycations และโครงการสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine) ขณะที่ภาครัฐอนุมัติให้กรุงเทพฯ เป็นจุดเข้า-ออก สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เนื่องจากอัตราการเข้าพักที่ต่ำ ทำให้บางโรงแรงหยุดให้บริการจนกว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัว

ในด้าน “อัตราค่าห้องเฉลี่ยต่อวัน (ADR)” ลดลง -12% เฉลี่ยอยู่ที่ 4,486 บาท มาจากส่วนลดพิเศษต่างๆ ที่เสนอให้กับนักท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ช่วงครึ่งปีหลัง 2563 มีโรงแรมลักชัวรี่เปิดใหม่ 4 แห่งในกรุงเทพฯ ทำให้มีซัพพลายเพิ่มขึ้น 1,162 ห้อง ได้แก่ โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์กรุงเทพ จำนวน 301 ห้อง, โรงแรมสินธรเคมปินสกี้กรุงเทพ 285 ห้อง, โรงแรมสินธรมิดทาวน์กรุงเทพ 475 ห้อง และโรงแรม เดอะ คาเพลลากรุงเทพ 101 ห้อง ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่ใจกลางย่านเศรษฐกิจ (CBD)

ขณะที่การเปิดตัวของโรงแรมในกลุ่มอัพสเกลและมิดสเกลอยู่ที่ 985 ห้อง ได้แก่ อาศัย กรุงเทพ ไชน่าทาวน์ จำนวน 224 ห้อง, ไลฟ์ สุขุมวิท 8 บางกอก 196 ห้อง, โรงแรมซัมเมอร์เซ็ต พระราม 9 กรุงเทพ 445 ห้อง และ เดอะ ควอเตอร์ เพลินจิต 129 ห้อง

โดยมีโรงแรมชะลอการเปิดบริการใหม่ 2 แห่ จำนวน 413 ห้อง ได้แก่ โรงแรม โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส มหานคร จำนวน 154 ห้อง กับโรงแรม ชไตเกนเบิร์กเกอร์ ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ 259 ห้อง รวมทั้งแผนการพัฒนาโรงแรมใหม่ในปี 2563 ถูกเลื่อนออกไปด้วย

สำหรับแนวโน้มตลาด มร. มาร์ติเนซ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรุงเทพฯลดลงจนเหลือ 0 ส่งผลให้ความต้องการห้องพักในโรงแรมลดลงอย่างมาก ทำให้โรงแรมหลายแห่งเลือกที่จะปิดธุรกิจบางส่วนหรือทั้งหมด จนกว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวของตลาด

ในส่วนของโรงแรมที่เปิดให้บริการมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 20% ส่วนใหญ่มาจากแพ็คเกจ Staycation และนักท่องเที่ยวต่างชาติจากโครงการกักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine)

สถานการณ์โควิดระลอกใหม่เป็นปัจจัยลบในเดือนมกราคม 2564 แต่อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบวกจากคซีนป้องกันโควิดที่จะเริ่มใช้ในประเทศไทยและทั่วโลก คาดหวังว่าจะเห็นจุดฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมภายในปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 โดยรัฐบาลไทยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะขยับขึ้นเป็น 8 ล้านคนในปี 2564 และค่อยๆฟื้นตัวจนถึงระดับก่อนเกิดโควิดที่มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ภายในปี 2567

โดยรัฐบาลไทยคาดว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศไทยจะได้รับฉีดวัคซีนภายในสิ้นปี 2564 โดยในสถานการณ์นี้ อัตราค่าห้องเฉลี่ยต่อวันอาจปรับลดลงอีก เนื่องจากผู้ประกอบการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

อัตราการเข้าพักโดยเฉลี่ยในกรุงเทพฯ คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยอาจจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี2564 โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่นในไตรมาสสุดท้าย หากมีการยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางหลังจากโรคระบาดโควิดคลี่คลายลง

30/1/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (30 มกราคม 2564)

Youtube Channel