info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.239.15.46

3 โปรเจ็กต์อีอีซีเดินหน้า “ไฮสปีด 3 สนามบิน” ส่งมอบพื้นที่ ก.ย. นี้

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

บอร์ดอีอีซี เผย 3 โปรเจ็กต์ยักษ์เดินหน้าทั้งหมด “ไฮสปีด 3 สนามบิน” ส่งมอบพื้นที่เสร็จ ก.ย. นี้ พร้อมให้ “ซี.พี.” ทำโครงสร้างร่วมบางซื่อ-ดอนเมือง “อู่ตะเภา” เร่งออกแบบ-เตรียมงานสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้าน “แหลมฉบัง” รออัยการสูงสุดเคาะร่างสัญญา

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ อีอีซี) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2564 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบการดำเนินโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ทั้ง 3 โครงการ

ส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด 3 สนามบิน ก.ย. นี้

เริ่มที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ และมีบจ.รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (กลุ่มซี.พี.) เป็นเอกชนคู่สัญญา ความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่มีความคืบหน้า 86% แล้ว และพร้อมส่งมอบทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2564 คู่ขนานไปกับการยกระดับแอร์พอร์ต เรลลิงก์ โฉมใหม่ ที่ผู้โดยสารจะได้รับบริการ ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น

ให้ ซี.พี. ทำโครงสร้างร่วม “บางซื่อ – ดอนเมือง”

ขณะเดียวกัน ประเด็นการแก้ไขปัญหาโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องใช้แนวเส้นทาง และจำเป็นต้องมีโครงสร้างโยธาเสาและฐานรากร่วมกัน (โครงสร้างโยธาร่วม) แต่มีระยะเวลาการก่อสร้าง และมาตรฐานเทคนิคทั้งสองโครงการไม่สอดคล้องกัน

ปี 69 เสร็จ

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการซ้อนทับทั้ง 2 โครงการ ดังกล่าว อีอีซี, กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. จะเจรจากับเอกชนคู่สัญญา จัดทำข้อเสนอการแก้ไขสัญญาร่วมทุน เพื่อให้เอกชนเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง โดยจะเจรจาให้เอกชนรับพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างโยธาให้ได้มาตรฐานเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน คาดว่าจะสามารถใช้เส้นทางบางซื่อ – ดอนเมืองได้ภายในเดือน ก.ค. 2569

รวมทั้งเอกชนคู่สัญญา จะรับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธาทั้งหมดรวมงานทางวิ่งของโครงการรถไฟความเร็งสูง ไทย-จีน ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง โดยยึดข้อตกลงทั้งมาตรฐานและระยะเวลาของ รถไฟไทย-จีนเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องระยะเวลา และด้านเทคนิคให้สามารถรองรับทั้งสองโครงการได้

ทั้งนี้ จะได้หาแนวทางร่วมกันกับเอกชนคู่สัญญา ในส่วนการปรับหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของรัฐ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นกับเอกชนคู่สัญญาอย่างเหมาะสม โดยยึดหลักไม่ให้เป็นภาระทางการเงินกับภาครัฐ และแผนก่อสร้างทั้งสองโครงการมีประสิทธิภาพสูงสุด

เร่งทำแผนแม่บท-สาธารณูปโภค “อู่ตะเภา”

2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 290,000 ล้านบาท มีกองบัญชาการกองทัพเรือ (ทร.) เป็นเจ้าของโครงการ และมีบจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) เป็นเอกชนคู่สัญญา

ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทสนามบินอู่ตะเภาฉบับสมบูรณ์ โดยเริ่มว่าจ้างผู้ออกแบบระดับโลก (SOM) มาดำเนินการ โดยทาง ทร.ได้ออกแบบทางวิ่ง 2 และงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย งานปรับถมดินทางขับระยะที่ 1 มีความคืบหน้า 80.53% งานสาธารณูปโภค สกพอ. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัท บี.กริม ผู้ดูแลงานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น , บริษัท อีสท์วอเตอร์ ผู้ดูแลงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย เพื่อเตรียมงานก่อสร้างแล้ว

ส่วนงานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานเจรจาสัญญาแล้วเสร็จได้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือก คือ บริษัทร่วมค้า BAFS-OR , กิจกรรมพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (ATZ) สกพอ. อยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บท ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทักษะชั้นสูงด้านอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น

แหลมฉบัง รออัยการสูงสุดเคาะร่างสัญญา

3.โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเทียบเรือ F วงเงิน 84,361 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี มีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ และมีกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นเอกชนคู่สัญญา ปัจจุบันตัวร่างสัญญาอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยอัยการสูงสุด

โดยที่ประชุม กพอ. พิจารณา ผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามที่ คณะกรรมการคัดเลือก ได้ดำเนินการตาม มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นการอนุมัติผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับจากโครงการ เป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีขนาด 20 ฟุต)

โดยในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ได้มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับ ตามที่ มติ ครม. ได้อนุมัติไว้

นอกจากนี้ ยังได้เจรจาผลตอบแทนเพิ่มเติม อาทิ เอกชนตกลงเพิ่มเงื่อนไขการสร้างท่าเรือ F2 ให้เร็วขึ้น หากแนวโน้มตู้สินค้าเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ เอกชนจะสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหาย ในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่วันเริ่มประกอบการท่าเทียบเรือ เป็นต้น

โดยคณะทำงานเจรจาร่างสัญญา ฯ ที่มีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน ได้ดำเนินการเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน รวมทั้งสิ้น 14 ครั้ง ทั้งนี้ ได้ข้อตกลงในร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยจะเร่งนำเสนอ ครม. พิจารณา และลงนามสัญญาต่อไป

11/8/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (4 สิงหาคม 2564)

Youtube Channel