info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.220.181.180

การรถไฟโต้ประภัสร์ ยันไม่มีแผนพัฒนา “หัวลำโพงแลนด์มาร์ก”

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

การรถไฟฯ ออกโรงโต้ ประภัสร์ จงสงวน ยันไม่มีแผนพัฒนาหัวลำโพงแลนด์มาร์ก เตรียมแผนเยียวยาประชาชนหลังย้าย “กรุงเทพอภิวัฒน์” ระบุขบวนรถไฟธรรมดา ชานเมือง และนำเที่ยวยังอยู่ที่หัวลำโพง ไม่มีการปิดแต่อย่างใด

วันที่ 19 มกราคม 2566 จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอคำให้สัมภาษณ์ของนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับเรื่องการย้ายการให้บริการขบวนรถไฟทางไกล ของการรถไฟฯ มาให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์(สถานีกลางบางซื่อ) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไปนั้น พบว่ามีข้อมูลหลายประเด็นที่มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงขอชี้แจงในประเด็นต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้ การรถไฟฯ ยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนต้นทาง-ปลายทางจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มาให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้มีการพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ โดยยึดถือในประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการควบคู่กับการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศในระยะยาวเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การปรับขบวนรถให้บริการ ได้ดำเนินการเฉพาะขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวนเท่านั้น ประกอบด้วย สายเหนือ จำนวน 14 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 ขบวน และสายใต้ จำนวน 20 ขบวน ส่วนขบวนรถรถไฟกลุ่มขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการที่สถานีต้นทางและสถานีปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ประกอบด้วย สายตะวันออก จำนวน 22 ขบวน สายเหนือ จำนวน 16 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ขบวน สายใต้ จำนวน 4 ขบวน และขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 14 ขบวน

สถานีหัวลำโพงยังคงเปิดให้บริการแก่พี่น้องประชาชนเป็นปกติ ไม่ได้มีการปิดสถานีหัวลำโพงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะในแต่ละวันยังมีขบวนรถไฟให้บริการแก่ผู้โดยสารที่สถานีหัวลำโพงมากถึง 62 ขบวนมากกว่าที่ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ซึ่งมีเพียง 52 ขบวน

การรถไฟฯ ไม่ได้มีแผนนำพื้นที่สถานีหัวลำโพงไปเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาพัฒนาเป็นอย่างอื่นตามที่มีการกล่าวอ้างด้วย โดยการรถไฟฯ ต้องการให้สถานีหัวลำโพงเป็นสถานีรถไฟที่สำคัญของประเทศทำหน้าที่ให้บริการประชาชน และเป็นแลนด์มาร์คสำคัญที่จะบอกเล่าเรื่องราวการขนส่งทางรางของไทยจากอดีตสู่ปัจจุบันต่อเนื่องไปยังอนาคตต่อไป

สำหรับเหตุผลในการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทางของขบวนรถไฟทางไกล มาให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น เป็นการดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่จะให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางของประเทศ โดยเป็นแผนที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีแล้วตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติโครงการเมื่อปี 2553 และเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2556 ที่สำคัญอยู่ในช่วงที่นายประภัสร์ เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ ด้วย ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของการรถไฟฯ ในยุคนี้แต่อย่างใด

ในสมัยที่นายประภัสร์ จงสงวน เป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2555 ก็ได้มีการสนับสนุนการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อหรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และยังเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการแก้แบบสถานีกลางบางซื่อ แต่เพราะเหตุใดในตอนนี้นายประภัสร์จึงกลับมาคัดค้านไม่ให้เปิดให้บริการรถไฟทางไกลที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นแผนที่วางไว้เดิมตั้งแต่เริ่มการก่อสร้าง

ยันมีแผนเยียวยาหลังเปิดย้ายสถานี

การรถไฟฯ ขอยืนยันว่า ก่อนที่จะกำหนดให้มีการย้ายมาให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในวันที่ 19 มกราคม 2566 ทางการรถไฟฯ ได้ประชุมหารือเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม เพื่อกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแก่ผู้โดยสารอย่างที่ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด โดยมีมาตรการอำนวยความสะดวกดูแลผู้โดยสาร ดังนี้

ผู้ใช้บริการรถโดยสายทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็ว ที่ซื้อตั๋วโดยสาร ลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แต่ประสงค์จะลงสถานีหลักสี่ สถานีบางเขน สามารถใช้ตั๋วโดยสารเดิมขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีดอนเมืองได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเวลา 1 ปี ผู้ใช้บริการรถโดยสารเชิงสังคม สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเป็นเวลา 1 ปีเช่นกัน โดยต้องเป็นผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วประเภทตั๋วเดือน ในสถานีหลักสี่ สถานีบางเขน ที่หยุดรถกม.19 ที่หยุดทุ่งสองห้อง และที่หยุดรถกม.11 ที่รถไฟไม่จอดให้บริการ

การรถไฟฯ ยังประสานกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เพื่อจัดรถโดยสารประจำทาง รับ-ส่งผู้โดยสารตามสถานีรถไฟรายทาง ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีหัวลำโพง เหมือนนั่งรถไฟปกติโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าการรถไฟฯ ไม่มีการเตรียมการจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้โดยสาร จึงไม่เป็นความจริง เพราะการรถไฟฯ ได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างดีแล้ว โดยคำนึงถึงผลกระทบ และให้ความสำคัญเรื่องการอำนวยความสะดวกดูแลพี่น้องประชาชน รวมถึงความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งการย้ายขบวนรถบางส่วนมาใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์อีกด้วย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ

ยันเปิด”กรุงเทพอภิวัฒน์”เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนคุ้มค่า

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดใช้งานสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะทำให้เกิดความไม่คุ้มค่า และมีปัญหาขาดทุนตามมา โดยยกตัวอย่างเพียงแค่ใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าบำรุงรักษาประมาณ 300 ล้านบาท

การรถไฟฯ ขอชี้แจงว่า กิจการรถไฟฯ ถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีหน้าที่ที่เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การขนส่งผู้โดยสาร หรือการขนส่งสินค้าเท่านั้น แต่สิ่งใดที่ทำแล้วประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด การรถไฟฯ ก็พร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือ โดยไม่ได้คิดถึงผลกำไรขาดทุนเพียงอย่างเดียว ซึ่งการสนับสนุนพื้นที่ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นศูนย์ฉีดวัคซีน ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของการรถไฟฯ ที่ได้มีส่วนช่วยเหลือสังคม และสนับสนุนภารกิจอันยิ่งใหญ่ เพื่อให้คนไทยทุกคนก้าวผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน

โดยตลอดเวลาการเปิดการเปิดสถานีกลางฯ เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ระยะเวลา 447 วัน สามารถช่วยเหลือให้ประชาชนเข้าถึงบริการวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมมากกว่า 3.5 ล้านคน สามารถฉีดวัคซีนรวมทั้งสิ้น 6.5 ล้านโดส จึงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองถึงแค่ความคุ้มค่าของเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่ควรไตร่ตรองถึงประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติที่ได้รับมากกว่า

ดังนั้นการย้ายรถไฟทางไกลมาให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะทำให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวกสบายมากขึ้น เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ของกรุงเทพ มีรถไฟฟ้า และรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อหลายสาย เป็นสถานีรถไฟที่ออกแบบเพื่อมวลชน(Universal Design) สะดวกสบาย ปลอดภัย ครอบคลุมทุกคนเท่าเทียมกัน

เช่น ชานชาลาสูง (110 ซม.) สะดวกต่อการขึ้นลงขบวนรถ เนื่องจากพื้นชานชาลาอยู่ระดับเดียวกับพื้นรถ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย อาทิ กล้องวงจรปิด บันไดเลื่อน เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ศูนย์อาหาร หุ่นยนต์ต้อนรับอัจฉริยะ SRT BOT ที่จอดรถสำหรับคนพิการ ลิฟท์ วีลแชร์นำทางอัจฉริยะ ห้องสุขาที่ทันสมัย และเพียงพอ รวมถึงมีระบบปรับอากาศของชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และจุดพักรอ เป็นต้น

ที่สำคัญการย้ายขบวนรถส่วนหนึ่งมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้ผู้โดยสาร โดยย้ายจากตัวเมืองไปสู่นอกเมืองตามที่ถูกกล่าวอ้าง เพราะสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งอยู่ในเขตบางซื่อ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ตัวเมืองกรุงเทพฯชั้นใน ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และในอนาคตยังมีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางฯ ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคอีกด้วย

ท้ายนี้ การรถไฟฯ ขอยืนยันว่า ทุกการดำเนินงานของการรถไฟฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ยึดมั่นประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงขออย่านำการรถไฟฯ เข้าไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อหวังประโยชน์ในทางอื่น เพราะเราคนรถไฟเป็นองค์กรของประชาชน ที่มีปณิธานแน่วแน่ในการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม

19/1/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 19 มกราคม 2566 )

Youtube Channel