14 ปีธุรกิจโมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งแบรนด์ดัง ไทวัสดุ ในเครือเซ็นทรัล มีพื้นที่ลงทุนสะสม 1.4 ล้านตารางเมตร เป๊ะเว่อร์
ตัวเลขทะลุล้านตารางเมตร อาจไม่ใช่ความภูมิใจมากเท่ากับการประกาศผลประกอบการนิวไฮ ณ ปี 2566 มีรายได้เกิน 40,000 ล้านบาทเป็นปีแรกในรอบ 14 ปีของการก่อตั้ง เป้าหมายที่มีไว้พุ่งชนเก็บตกจากแผนลงทุน 5 ปี (2567-2571) บิ๊กบอสไทวัสดุพูดเสียงดังฟังชัดว่าต้องการสร้างรายได้แตะ 70,000 ล้านบาท
เรื่องใหม่ของปีมังกร มาพร้อมกับสตอรี่แผนธุรกิจ No.1 Omnichannel DIY Home Retailer : Driving Sustainable Growth เร่งเครื่องสู่ความเป็นสุดยอดผู้นำธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้านในทุกช่องทาง
ปี 2566 สำเร็จซ้อนสำเร็จ
โดย สุทธิสาร จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล (CRC) ระบุว่า 2566 เป็นปีที่มีความสำเร็จทับซ้อนความสำเร็จ 2 เรื่องใหญ่ด้วยกัน ทางหนึ่งมาจากผลประกอบการนิวไฮเกิน 40,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรก อีกทางหนึ่งสามารถขยายสาขาในปีเดียวได้มากถึง 14 สาขาด้วยกัน
ถือว่าเป็นปรากฏการณ์การเติบโตที่สวนกระแสเศรษฐกิจ ทำให้ภาพรวมกลุ่มไทวัสดุมีจำนวนถึง 90 สาขา แต่เพิ่งจะครอบคลุม 47 จังหวัดเท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยมี 77 จังหวัด นั่นหมายความว่าธุรกิจโมเดิร์นเทรดวัสดุยังมี Room ให้เราเติบโตได้อีกมาก
เบ็ดเสร็จอาณาจักรไทวัสดุจนถึงสิ้นปีนี้ จะมีทั้งสิ้น 103 สาขา มาจากสาขาปัจจุบัน 81 ทำเล 90 สาขา (ไทวัสดุ 77 สาขา กับ BnB หรือบ้านแอนด์บียอนด์ 13 สาขา) กับแผนลงทุนเปิดเพิ่ม 13 สาขาในปีนี้
ปัจจุบัน 90 สาขากระจายทั่วประเทศ แบ่งตามภูมิภาค พี่ใหญ่สุดคือโซน กทม.-ปริมณฑล 31 สาขา, ภาคอีสาน 18 สาขา และเป็นแหล่งรายได้มากสุดในพอร์ตสาขาต่างจังหวัด, ภาคตะวันออก 12 สาขา, ภาคเหนือ 11 สาขา, ภาคใต้ 9 สาขา, ภาคกลาง 6 สาขา และภาคตะวันตก 3 สาขา
ย้อนไทม์ไลน์ภาพจำของปีแห่งความสำเร็จ ปักหมุด 4 ยุคด้วยกัน เริ่มจากปีแรก 2553 สาขาแรกที่บางบัวทอง เปิดก่อนน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 สามารถเติบโตก้าวกระโดดมี 40 สาขาภายใน 8 ปี หรือในปี 2561
ถัดมาสถานการณ์โควิดทำให้ปลั๊กอินสู่แพลตฟอร์มออนไลน์สำเร็จในชั่วกะพริบตาในปี 2563 และเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้ปี 2566 รายได้รวมทำสถิตินิวไฮดังกล่าว โดยรายได้ออนไลน์ ณ ปี 2566 อยู่ที่ 1,400 ล้านบาท ตามแผน 5 ปีมั่นใจว่าจะผลักดันขึ้นไปถึง 5,000 ล้านบาทภายในปี 2571
โดย 14 ปีแรกมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 11% รายได้ 40,000 ล้านบาท เป้าหมายอนาคตระยะใกล้ 5 ปีวางแผนสร้างอัตราเร่งของรายได้เพิ่มอีก 30,000 ล้าน รวมเป็นเป้ารายได้ 70,000 ล้านบาท เท่ากับต้องสร้างอัตราเติบโตเฉลี่ยเกินปีละ 12% ขึ้นไป
โมเดลดาวรุ่ง ไฮบริดสโตร์
กลับมามองในภาพรวม ท็อป 4 ยอดขายสูงสุดเป็นสถิติของสาขาบางนา, สุขาภิบาล 3, ภูเก็ต และหาดใหญ่ เฉลี่ย 100 ล้านบาท/เดือน โดยกลุ่มลูกค้านิยามเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ผู้รับเหมาหรือช่าง รวมลูกค้าโครงการด้วย จำนวนรายมีสัดส่วน 30% แต่สร้างยอดขาย 60% อีกกลุ่มคือเอนด์ยูสเซอร์หรือเจ้าของบ้าน จำนวนราย 70% แต่เพิ่งจะมียอดขายเพียง 40%
หนึ่งในไดนามิกของไทวัสดุ เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดไฮบริดสโตร์ ซึ่งเป็นโมเดลคูณสองระหว่าง ไทวัสดุ x บีเอ็นบี โฮม เริ่มทดลองครั้งแรกปี 2562 ที่ภูเก็ต จากนั้นปี 2564 ขยายแห่งที่ 2 สาขาศรีสมาน สามารถผลักดันยอดขายเพิ่มขึ้นได้ถึง 30% จึงเป็นที่มาของการขยายผลต่อยอดไฮบริดสโตร์เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปวางกลยุทธ์ลงทุนไฮบริดสโตร์ไปทั่วประเทศ
ปัจจุบันมีแล้ว 9 สาขาที่ศรีสมาน, บางแสน, รังสิตคลอง 4, ภูเก็ต ฉลอง, เมืองเอก, เชียงใหม่ สันทราย, สมุทรปราการ, บางใหญ่, นครอินทร์ ปีนี้เปิดเพิ่ม 7 สาขาที่อุดรธานี กุดสระ, พระราม 3, บางนา, บางบัวทอง, สุขาภิบาล 3, ภูเก็ต ถลาง และขอนแก่น ซึ่งจะทำให้มีไฮบริดสโตร์เพิ่มเป็น 16 สาขาภายในสิ้นปีนี้
โมเดลไฮบริดสโตร์ทั้งอินดัสทรีไม่เคยเห็นธุรกิจนี้มาก่อน เรานำทุกอย่างที่เจ้าของบ้านและผู้รับเหมาหรือช่างต้องการซื้อมาอยู่ในที่เดียวกัน ไทวัสดุ+BnB พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร เลย์เอาต์วางพื้นที่ไทวัสดุ 16,000 ตารางเมตร BnB 4,000 ตารางเมตร สินค้ามีให้เลือกมากกว่า 50,000 รายการ รองรับลูกค้าระดับกลางถึงบนและผู้รับเหมา เช่น เรามีต้นคริสต์มาสตัดสดจากแคนาดา ต้องแช่น้ำและน้ำแข็ง เป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่เราประสบความสำเร็จอย่างมาก
น่าสนใจว่าโมเดลสร้างยอดขายเติบโตในอัตราเร่งตามแผน 5 ปี เฉลี่ยลงทุนใหม่ปีละ 7,000 ล้านบาท คูณตัวเลข 5 ปีแบบตรง ๆ จะเท่ากับตั้งเป้าเงินลงทุนเพิ่ม 35,000 ล้านบาท เข็มทิศหมุนกลับมาโฟกัสที่ลูกค้าเอนด์ยูสเซอร์ ซึ่งไทวัสดุยังไม่ได้บุกเซ็กเมนต์นี้มากนักในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งแตะเบา ๆ ไปที่รายได้ภาคบริการจาก BU-Business Unit ในนาม vFIX ที่เริ่มตบให้เข้าที่เข้าทาง และมั่นใจว่านับจากนี้จะสามารถสร้างรายได้ดับเบิลวอลุ่มแน่นอน
ซอฟต์พาวเวอร์ เดอะวันการ์ด
เจาะลึกแบบซูมอินแผนธุรกิจ คอร์บิสซิเนสอยู่ที่ Cost Control ให้เครดิตกับโมเดล Omnichannel แบบ O2O-Offline to Online และกลยุทธ์ราคาต่ำ-Low Cost Business Model
ปีโควิด 2563 อานิสงส์ด้านบวกที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการธุรกิจ มาจากการชัตดาวน์โมเดิร์นเทรดติดแอร์ทั้งหลาย เป็นการชัตดาวน์ช่องทางออฟไลน์หรือช็อปสินค้าที่โชว์รูม คนที่ปรับตัวเก่งเท่านั้นที่จะอยู่รอด ไทวัสดุก็อยู่ในกฎเหล็กข้อนี้ และสอบผ่านฉลุยจนเกิดเป็นคำนิยามใหม่
ออมนิแชนเนลเราคิดว่า O กับ O ต้องซ้อนกัน ต้องเป็น One Channel ออฟไลน์คือ Physical Shop ออนไลน์คือ Digital Shop ทั้งสองแพลตฟอร์มเกื้อหนุนกันและกัน เด็ก ๆ พนักงานคนรุ่นใหม่เรียกว่า ฟิสจิทัล (หัวเราะ)
ข้อมูลตัวเลขรัว ๆ ที่เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จโมเดล ฟิสจิทัล นอกจากอีคอมเมิร์ซหนุนหลังให้มียอดขายพุ่งแตะระดับ 1,400 ล้านบาท ภายในเวลา 4 ปี (2563-2566) พบว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ถึง 145% มีลูกค้าใหม่ที่ช็อปออนไลน์มากกว่า 5,000 คน/เดือน ครองใจลูกค้าเดิมให้มีการซื้อซ้ำถึง 60% และซื้อเฉลี่ย (Basket Size) สูงขึ้น 12% YOY
โดยจำนวนลูกค้าในภาพรวมที่ซื้อทั้งหน้าร้านและออนไลน์ (Omnichannel Customers) เติบโตสูงขึ้น 46% YOY การันตีได้ว่าในทุกช่องทางการขายสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ในด้าน Low-Cost Business Model มี 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.Adequate Staff การจัดจ้างพนักงานในจำนวนที่เหมาะสมกับขนาดสาขา ไซซ์ตั้งแต่ 8,000-20,000 ตารางเมตร และพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
2.No Fancy Decor การตกแต่งสาขาเรียบง่าย การจัดวางดิสเพลย์ที่เน้นใช้งานได้จริง ที่สำคัญลูกค้าต้องหาสินค้าได้ง่ายด้วย
และ 3.Big Volume Order การซื้อและจัดหาสินค้าที่เน้นซื้อบิ๊กลอตเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำ
ยอดขาย 40,000 ล้านบ่งบอกอะไร บอกว่าเป็นยอดขายสูงเพียงพอที่เวลาเราไปเจรจาผู้ผลิตในต่างประเทศแล้วเขาให้ความสนใจเรา อยากค้าขายกับเรา เวลาซื้อบิ๊กลอตทำให้ได้ราคาโลว์คอสต์ เป็นไปตามกลไกธุรกิจปกติ
สุดยอดกลยุทธ์อยู่ที่ ฟิสจิทัล ของไทวัสดุ เน้นอย่างเป็นพิเศษในการเสนอขาย ราคาเดียว ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ไม่มีการนำมาเป็นลูกเล่นทางการตลาดว่าซื้อออนไลน์แล้วถูกกว่าออฟไลน์ เป็นต้น
ข้อมูลเซอร์ไพรส์คือ ยอดขายไทวัสดุมากถึง 90% มาจากฐานลูกค้าสมาชิกบัตรเดอะวันการ์ด จากเดิมเดอะวันการ์ดมีต้นทางมาจากลูกค้าสมาชิกห้างเซ็นทรัล ปัจจุบันกลายเป็นว่าลูกค้าสมาชิกสมัครใหม่ของเดอะวันการ์ด สมัครจากช่องทางไทวัสดุมากที่สุดในกลุ่มเซ็นทรัล
อยากเป็นเบอร์ 1 ต้องลองผิดลองถูก
แบ็กออฟฟิศที่เป็นคีย์ซักเซสต้องนับรวมดิสทริบิวชั่นเซ็นเตอร์ หรือ DC-Distribution Center ปัจจุบันมีพื้นที่ 180,000 ตารางเมตร รองรับการขนส่งและป้อนสินค้าได้ 120 สโตร์ เพราะฉะนั้น ฟันธงได้ไม่ยากว่าในแผนเร่งการเติบโตช่วง 5 ปี จะต้องมองเรื่องการขยาย DC ซึ่งไทวัสดุเตรียมแลนด์แบงก์พร้อมขยายเรียบร้อยแล้ว
ในด้านเซ็กเมนต์ลูกค้า ช่วง 14 ปีที่ผ่านมา วันแรกที่เปิดสาขาแรก ณ บางบัวทอง เล็งลูกค้ากลุ่ม B ปัจจุบันยกระดับมาสู่ลูกค้ากลุ่ม A- โดยการลงทุนใหม่เดินคู่ขนานระหว่างไทวัสดุกับ BnB Home
ทุกวันนี้สินค้าเฮาส์แบรนด์มีสัดส่วน 18% ในอนาคตไม่ว่าเราจะเติบโตขยายใหญ่แค่ไหนก็จะจำกัดเพดานเฮาส์แบรนด์ไม่เกิน 30% เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยังนิยมซื้อสินค้ามีแบรนด์
ยุคนี้แผนธุรกิจต้องพูดให้คลุมเรื่องความยั่งยืนและกรีนแอ็กชั่น ไทวัสดุทำทุกทิศทางไม่ว่าจะเป็นกรีนโลจิสติกส์ ระวางรถบรรทุกของไทวัสดุริเริ่มปรับเปลี่ยนเป็น EV Truck 80 คันภายในปีนี้ คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 3 ในพอร์ตรถขนส่งทุกประเภท (มี 4 ล้อกับ 6 ล้อด้วย) อนาคตถ้าสถานีชาร์จไฟฟ้ามีมากเพียงพอในจุดต่างอำเภอและต่างจังหวัดไกล ๆ สามารถเพิ่มเป้าเป็น 100-120 คัน ขนส่งได้ 7 แสนพาลเลต เทียบเท่าลดการปล่อยก๊าซ CO2 ถึง 7,000 ตัน
เราเป็นผู้นำในด้านบริหารต้นทุนต่ำ กลยุทธ์โลจิสติกส์มีรถขนส่งของไทวัสดุด้วย แต่ยังมีเอาต์ซอร์ซ เพื่อเช็กต้นทุนได้ตลอดเวลา ถ้าเอาต์ซอร์ซเราทำได้ถูกกว่าแสดงว่าต้นทุนเรายังแพงอยู่ และถ้าเอาต์ซอร์ซเราแพงกว่าแสดงว่าต้นทุนเรามีประสิทธิภาพ
บรรทัดสุดท้าย ถอดบทเรียนธุรกิจในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาของไทวัสดุ
เรามีข้อผิดพลาดเยอะ ไม่ได้น้อย และเราก็พูดง่าย ๆ สิ่งที่เราเรียนรู้ ถ้าคิดจะทำอะไรใหม่ ทำได้ และต้องทำ แต่ถ้าผิดพลาดแล้วก็ต้องหยุด และแก้ไขให้เร็วที่สุด เพื่อให้ไทวัสดุวิ่งได้เร็วที่สุดบนสนามการแข่งขันโมเดิร์นเทรดวัสดุและของตกแต่ง
และ สิ่งที่ผมลองผิดลองถูก สำเร็จน้อย ล้มเหลวน่ะเยอะ ผมเปรียบเทียบกับสตีฟ จ็อบส์ ลงทุนเยอะเจ๊งก็เยอะ แต่มาได้ไอพอด แอปเปิล ที่เป็นตัวซักเซส ไทวัสดุก็เช่นเดียวกัน เราลองผิดลองถูก วันที่ Find out อะไรเป็นการลองถูก เราก็รีบ Fallow เช่น ออมนิแชลเนล และไฮบริดสโตร์
23/5/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 23 พฤษภาคม 2567 )