info@icons.co.th 02 810 8892-6 35.171.45.182

ซีพีเอ็น ทุ่มหมื่นล้านบุกโรงแรม ดึง “เซ็นทารา” บริหาร 37 แห่งใน 27 จังหวัด

Hotel News / ข่าวหมวดโรงแรม

“ซีพีเอ็น” เดินหน้าซินเนอร์ยีธุรกิจในกลุ่มพัฒนาธุรกิจโรงแรม เผยแผน 5 ปีทุ่มลงทุน 1 หมื่นล้าน ปักหมุดโรงแรมโมเดล mixed-use เปิดโรงแรมบนพื้นที่ติดห้าง 37 แห่ง ภายใต้ 3 แบรนด์ใน 27 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างมาตรฐานใหม่ บุกเบิกเทรนด์ travel ecosystem ตอบโจทย์ที่มากกว่าการท่องเที่ยว เสริมศักยภาพทั้งเมืองหลัก-เมืองรอง เมืองท่องเที่ยว เมืองอุตสาหกรรม หวังช่วยสร้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนลงทุนธุรกิจในระยะ 5 ปี (2565-2569) มูลค่ารวม 1.2 แสนล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงการ retail-led mixed-use development ประกอบด้วย 4 ธุรกิจหลัก คือ ศูนย์การค้า, ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงแรม

โดยธุรกิจโรงแรมเป็นกลุ่มธุรกิจที่บริษัทจะให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมองว่าปัจจุบันธุรกิจโรงแรมไม่ได้รองรับเฉพาะสำหรับการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ต้องเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนและทำงาน บริษัทจึงมีแผนลงทุนในธุรกิจโรงแรมในระยะ 5 ปีนับจากนี้เป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท สำหรับเปิดโรงแรมใหม่จำนวน 37 แห่ง รวม 4,000 ห้อง ใน 27 จังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2569

ทั้งนี้ ได้ให้พันธมิตรในกลุ่มเซ็นทรัล คือ “เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท” หรือบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทบริหารธุรกิจโรงแรมอยู่แล้วเป็นผู้บริหาร

โดยมีเป้าหมายสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับธุรกิจโรงแรม พร้อมทั้งบุกเบิกเศรษฐกิจการเดินทาง (travel ecosystem) ด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญ ประกอบด้วย 1.complete travel ecosystem มองธุรกิจโรงแรมมากกว่าการท่องเที่ยว แต่ตอบโจทย์การเดินทางทุกจุดประสงค์ ทั้งการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน ติดต่อธุรกิจ หรือทำงานและพักอาศัย

2.create new standard of travel lifestyle สร้างมาตรฐานการพักโรงแรมทั่วประเทศ ด้วยแบรนด์โรงแรมครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ พร้อมผนึกธุรกิจในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป และ 3.cocreating with communities ร่วมกับชุมชนส่งเสริมอัตลักษณ์ ต่อยอดและกระจายรายได้สู่ธุรกิจในระดับท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มการจ้างงานได้ 3,900 คน

“ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีศักยภาพในการรองรับการเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ อยู่แล้ว ซึ่งการขยายโครงการโรงแรม รวมถึงต่อยอดโครงการมิกซ์ยูสของเซ็นทรัลพัฒนาครั้งนี้ เชื่อว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อการเดินทาง ทำให้ทั้งคนไทยนักท่องเที่ยวต่างชาติมีเดสติเนชั่นในการเดินทางใหม่ ๆ มากขึ้น”

ด้านนายภูมิ จิราธิวัฒน์ Head of Hotel Property บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวเสริมว่า การประกาศลงทุนในธุรกิจของกลุ่มซีพีเอ็นครั้งนี้นับเป็นการต่อยอดธุรกิจโรงแรม โดยมุ่งส่งเสริมศักยภาพของเมืองและจังหวัดต่าง ๆ สร้าง big impact ในระดับประเทศ เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ ของเซ็นทรัลพัฒนา

ที่สำคัญการลงทุนครั้งนี้จะตอบโจทย์นักเดินทางครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ด้วย 3 แบรนด์ ได้แก่ Centara แบรนด์ระดับ upscale, Centara One แบรนด์ lifestyle midscale โดยทั้ง 2 แบรนด์นี้เป็นครั้งแรกที่บริษัทได้นำคอนเซ็ปต์ Bleisure คือ business+leisure ตอบโจทย์ทั้งการพักผ่อนและการทำงาน และแบรนด์ Go ! Hotel แบรนด์ระดับ premium budget

“ในช่วง 2 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ 10 แห่ง อาทิ โคราช, อุบลราชธานี, อยุธยา, ระยอง, ศรีราชา, ชลบุรี และเชียงราย เป็นต้น โดยจุดแข็งขอเราคือ อยู่ในทำเลที่ดี ทุกแห่งอยู่ติดกับห้างสรรพสินค้า และมีแบรนด์ที่ตอบโจทย์ทุกเซ็กเมนต์” นายภูมิกล่าวและว่า สำหรับโครงการแรกที่พร้อมเปิดตัวในเดือนกันยายน 2565 นี้ คือ Centara Korat ซึ่งจะเป็นเครือโรงแรม ระดับอินเตอร์แห่งแรกของจังหวัดนครราชสีมา และเป็นจิ๊กซอว์เติมเต็มโครงการ “เซ็นทรัล โคราช” ให้เป็นโครงการมิกซ์ยูสที่ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์แบบที่สุดในภาคอีสาน

ขณะที่นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างเซ็นทาราและเซ็นทรัลพัฒนาถือเป็นการผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่ในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่จะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับธุรกิจโรงแรมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากที่เซ็นทาราได้ร่วมมือกับเซ็นทรัลพัฒนาในการบริหารและเปิดให้บริการโรงแรม Centara Hotel & Convention Centre อุดรธานี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“โรงแรมใหม่ทั้ง 37 แห่งของซีพีเอ็นเป็นส่วนหนึ่งของสัญญารับบริหารของเรา โดยในแผน 5 ปีนับจากนี้ เรามีเป้าหมายเพิ่มโรงแรมภายใต้การบริหารเป็น 200 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 90-100 แห่ง” นายธีระยุทธกล่าวและว่า ขณะนี้ธุรกิจโรงแรมมีทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง อัตราการเข้าพักโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะดีมานด์จากตลาดในประเทศ

12/6/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (12 มิถุนายน 2565)

Youtube Channel