info@icons.co.th 02 810 8892-6 35.169.107.177

ทุ่ม 260 ล้านเนรมิต “สะพานเขียว” ผุดทางเดิน-ไบก์เลนลอยฟ้า ใจกลางกรุงเทพฯ

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

หลังจากเมื่อปี 2558 “กทม.-กรุงเทพมหานคร” โดยสำนักการโยธา ก่อสร้างเส้นทางคนเดิน-ทางจักรยานลอยฟ้าเชื่อมระหว่างสวนสาธารณะ “สวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ” หรือสะพานเขียว ระยะทาง 1.3 กม. เชื่อมพื้นที่เขตปทุมวัน-คลองเตย แนวเริ่มจากแยกสารสินคร่อมบนคลองไผ่สิงโต พาดผ่านชุมชนซอยโปโลมีคนอาศัยอยู่ 420 ครัวเรือน ชุมชนซอยร่วมฤดี 260 ครัวเรือน และชุมชนโบสถ์มหาไถ่ 1,500 ครัวเรือน

แล้วข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร (ท่าเรือ-ดินแดง) ข้ามถนนดวงพิทักษ์ (ข้างโรงงานยาสูบ) ไปสิ้นสุดบริเวณสวนเบญจกิติ โดยปรับปรุงพื้นผิวทางเดิน-ทางจักรยาน ราวสเตนเลส และไฟฟ้าส่องสว่างที่สูญหาย และปรับปรุงโฉมใหม่อีกครั้งเมื่อปี 2562

ล่าสุด “สำนักการโยธา” จะของบประมาณปี 2564 จำนวน 260 ล้านบาท ปรับปรุงภูมิทัศน์เส้นทางจักรยานเชื่อมระหว่างสวนลุมพินี-สวนเบญจกิติ เพิ่มเติมอีก 300 เมตร รวมเป็นระยะทาง 1.6 กม. โดยรูปแบบและประมาณราคาจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. 2564 เมื่อได้งบฯแล้วจะใช้เวลาดำเนินการ 200 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565

โดย กทม.ร่วมมือกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง Urban Design and Development Center (UddC) มาช่วยออกแบบ ตามแผนจะมีติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัย บนสะพาน สร้างจุดสวนหย่อมไม้ดอกไม้ประดับตลอดเส้นทาง ไม่รวมกับต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความร่มรื่นตามเส้นทางโครงการ

นอกจากนี้ มีจุดนั่งพักผ่อน ชมวิว และจุดแลนด์มาร์ก คือ บริเวณแยกถนนสารสิน จุดข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร และจุดสะพานลอยข้ามถนนรัชดาภิเษก และด้านล่างของตัวสะพานจะมีการปรับพื้นที่เดิมรกร้าง ไม่เป็นระเบียบ

จะทำความสะอาดปรับภูมิทัศน์บริเวณที่โล่งเพื่อเป็นลานกิจกรรมของชุมชน เป็นการพลิกจุดอับสู่จุดทำกิจกรรม และค้าขายอย่างเป็นระเบียบ เอาสายไฟฟ้าลงดิน พร้อมกับปรับสภาพน้ำในลำคลองให้สะอาด ไม่ส่งกลิ่นเหม็นอีกต่อไป โดย กทม.คาดหวังหากการปรับปรุงแล้วเสร็จ จะสามารถเชื่อมต่อพื้นที่ย่านธุรกิจของเมือง เกิดพลวัตทางสังคมและเศรษฐกิจระดับเมือง เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ธุรกิจชุมชนสร้างพื้นที่สุขภาวะใหม่ของเมือง

รวมถึงส่งเสริมการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในทุกช่วงอายุ ส่งเสริมการเดินเท้า รูปแบบการสัญจรของคนทุกกลุ่ม เพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับเชื่อมต่อและพักผ่อนหย่อนใจ ที่มีความปลอดภัย ทั้งในระดับย่านและระดับเมือง อีกทั้งจะเป็นการสร้างความร่วมมือผ่านกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และชุมชน อันจะเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป

30/4/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (30 เมษายน 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS