info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.238.6.55

ถนนตัดใหม่ “เลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา” กรมทางหลวงทุ่ม 3.3 หมื่นล้านเชื่อม EEC

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

ฉะเชิงเทรา 1 ใน 3 จังหวัดโซน EEC ได้เวลาอัพเกรดเมือง ล่าสุด “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม อัพเดตแผนลงทุนสร้างเมืองสร้างอนาคตด้านโครงข่ายคมนาคมให้กับฉะเชิงเทรา ผ่านโครงการศึกษาและก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา ขนาด 6 ช่องจราจร พร้อมทางแยกต่างระดับ 8 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ตะวันออกรองรับ EEC

โดยขั้นตอนสำรวจและออกแบบโครงข่ายสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ภาคตะวันออก ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างกรุงเทพมหานครตามแนวถนนสุวินทวงศ์ (ทล.304) ถึงตัวเมืองฉะเชิงเทรา ไปสู่ภาคตะวันออกและภาคอีสาน ตามนโยบาย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC

50 กม. วงเงิน 3.3 หมื่นล้าน

ปัจจุบันมีทางหลวงสายสำคัญที่ตัดผ่านตัวเมืองฉะเชิงเทรา คือ ทางหลวงหมายเลข 304, หมายเลข 3200, หมายเลข 314 และทางหลวงหมายเลข 315 สภาพปัญหาเนื่องจากพื้นที่โดยรอบเป็นย่านอุตสาหกรรม การจราจรคับคั่งและแออัด ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง

กรมทางหลวงจึงมีแนวคิดก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา โดยวางงบประมาณเบื้องต้น 33,200 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 23,500 ล้านบาท และค่าเวนคืน 9,700 ล้านบาท

การออกแบบโครงการเป็นวงแหวนรอบเมืองฉะเชิงเทรา ระยะทาง 50 กิโลเมตร รูปแบบเป็นทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางหลวงหมายเลข 304 (สุวินทวงศ์-ฉะเชิงเทรา) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 365 (แยกสตาร์ไลท์)

ตัดผ่าน 4 อำเภอ-สร้าง 3 ตอน

โดยแนวเส้นทางถนนเลี่ยงเมืองพาดผ่าน 4 อำเภอ ได้แก่ “อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา-อำเภอคลองเขื่อน-อำเภอบางคล้า-อำเภอบ้านโพธิ์” โดยความคืบหน้า กรมทางหลวงสำรวจและออกแบบรายละเอียด เป็น 3 ตอน ดังนี้

1.ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา (ด้านเหนือ) ระยะทาง 20 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 304 (กม.63+712) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 365 (แยกสตาร์ไลท์) สิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 304 (กม.82+200) เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างตำบลวังตะเคียน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า

2.ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา (ด้านใต้) ส่วนที่ 1 ระยะทาง 16 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 304 (กม.82+200) สิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 314 (14+800) เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างตำบลสาวชะโงก อำเภอบางคล้า และตำบลคลองประเวศ อำเภอบ้านโพธิ์

3.ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา (ด้านใต้) ส่วนที่ 2 ระยะทาง 14 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 314 (กม.14+800) สิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 304 (กม.63+712) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 365 (แยกสตาร์ไลท์) เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างตำบลคลองประเวศ อำเภอบ้านโพธิ์ และตำบลวังตะเคียน อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา

สะพานข้ามจุดตัดถนน 8 แห่ง

ทั้งนี้ โครงการมีจุดตัดกับโครงข่ายทางหลวงในบริเวณต่าง ๆ ซึ่งได้พิจารณาออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับ จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย 1.ทางแยกต่างระดับท่าไข่ ออกแบบสะพานยกระดับข้าม (จุดตัด) ทางหลวงหมายเลข 365 ขนาด 3 ช่องจราจร และออกแบบสะพานเลี้ยวขวาขนาด 1 ช่องจราจร โดยจัดการจราจรบริเวณพื้นราบให้มีจุดกลับรถใต้สะพาน และจุดกลับรถในแนวทางหลวงหมายเลข 365

2.ทางแยกต่างระดับบางขวัญ ออกแบบสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 3200 และข้ามทางรถไฟ ขนาด 6 ช่องจราจร ทางเชื่อมแบบเลี้ยววน (loop ramp) ขนาด 2 ช่องจราจร สะพานเชื่อมทางหลวงหมายเลข 3200 ขนาด 1 ช่องจราจร และสะพานเชื่อมแยกออกจากทางหลวงหมายเลข 3200 ขนาด 1 ช่องจราจร การจราจรพื้นราบมีจุดกลับรถใต้สะพาน

3.ทางแยกต่างระดับเสม็ดใต้ ออกแบบเป็นสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 304 ขนาด 6 ช่องจราจร ทางเชื่อมแบบเลี้ยววน (loop ramp) 2 ช่องจราจร และทางเชื่อมแบบวนกึ่งตรง (semidirectional ramp) 2 ช่องจราจร การจราจรพื้นราบมีจุดกลับรถใต้สะพาน

4.ทางแยกต่างระดับหนองบัว ออกแบบสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 315 และทางรถไฟสายฉะเชิงเทรา-สัตหีบ (เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน) ขนาด 6 ช่องจราจร และสะพานทางเชื่อม การจราจรพื้นราบมีจุดกลับรถใต้สะพาน

5.ทางแยกต่างระดับประเวศ 1 ออกแบบสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 314 ขนาด 6 ช่องจราจร ทางเชื่อมลักษณะเลี้ยววน (loop ramp) ขนาด 1 ช่องจราจร และสะพานยกระดับแบบทางเชื่อมวนกึ่งตรง (semidirectional ramp) 1 ช่องจราจร การจราจรพื้นราบมีจุดกลับรถใต้สะพาน

6.ทางแยกต่างระดับประเวศ 2 ออกแบบสะพานยกระดับข้ามทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 ขนาด 2 ช่องจราจร และสะพานข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ 6 ช่องจราจร การจราจรพื้นราบมีจุดกลับรถใต้สะพาน

7.ทางแยกต่างระดับบางเตย ออกแบบสะพานยกระดับข้ามทางหลวงชนบทสาย ฉช.2004 ขนาด 6 ช่องจราจร การจราจรพื้นราบเป็นวงเวียน

8.ทางแยกต่างระดับวังตะเคียน ออกแบบสะพานยกระดับในแนวทางหลวงหมายเลข 304 ข้ามทางเลี่ยงเมือง ขนาด 3 ช่องจราจร และออกแบบทางลอดลอดใต้ทางหลวงหมายเลข 304 ขนาด 4 ช่องจราจร การจราจรพื้นราบเป็นวงเวียน

5 สะพานข้ามทางรถไฟ-แม่น้ำ

นอกจากนี้ ในโครงการยังมีสะพานข้ามทางรถไฟจำนวน 3 แห่ง โดยก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา จำนวน 2 แห่ง และสะพานข้ามทางรถไฟสายฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ จำนวน 1 แห่ง และมีสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง จำนวน 2 แห่ง

สถานะปัจจุบันของโครงการทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านใต้ ได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และสำหรับโครงการทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านเหนือนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 หลังจากนี้ กรมทางหลวงเตรียมการในการขอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ประมาณปี 2565-2566 ต่อไป

27/7/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (27 กรกฎาคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS