info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.215.183.194

เวนคืนทางคู่ “บ้านไผ่-นครพนม” รถไฟ 6.6 หมื่นล้าน เปิดประเทศเชื่อม AEC

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

15 กันยายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเวนคืนสร้างรถไฟทางคู่สาย “บ้านไผ่-นครพนม”

เป็นรถไฟทางคู่สายที่รอคอยมานานอีกเส้นหนึ่ง แนวเส้นทางพาดผ่าน 6 จังหวัด ประกอบด้วย “ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร นครพนม” ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6.6 หมื่นล้านบาท ค่าเวนคืน 1 หมื่นล้านบาทบวกลบ

แนวเส้นทางทางคู่ “บ้านไผ่-นครพนม”

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนในท้องที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น, อ.กุดรัง อ.บรบือ อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม

อ.ศรีสมเด็จ อ.เมืองร้อยเอ็ด อ.จังหาร อ.เชียงขวัญ อ.โพธิ์ชัย อ.โพนทอง อ.เมยวดี อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด, อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร, อ.นิคมคำสร้อย อ.เมืองมุกดาหาร อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร และ อ.ธาตุพนม อ.เรณูนคร อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม

วัตถุประสงค์เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 66,848.33 ล้านบาท โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

โดยใน พ.ร.ฎ.เวนคืนระบุเหตุผลมีความจำเป็นต้องสร้างทางรถไฟสายนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค จึงกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด

และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มีระยะเวลาบังคับตามกฎหมาย 4 ปี ให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.นี้ใช้บังคับ กำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตาม พ.ร.ฎ.นี้

รถไฟลงพื้นที่เคลียร์เส้นทาง 6 จังหวัด

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่มีอยู่ 2 เส้นทางที่ต้องเวนคืนใหม่ทั้งเส้น เพราะไม่ได้สร้างประชิดกับรางรถไฟเดิมที่มีอยู่ นอกจากสายบ้านไผ่-นครพนมแล้ว อีกเส้นทางคือ รถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

สำหรับขั้นตอนปฏิบัติหลังมี พ.ร.ฎ.เวนคืนลงประกาศในราชกิจจาฯ ทาง ร.ฟ.ท.จะจัดทีมงานลงพื้นที่ และหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 6 จังหวัด ที่แนวเวนคืนพาดผ่าน ประกอบด้วย “ขอนแก่น-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-ยโสธร-มุกดาหาร-นครพนม”

ภายใต้สถานการณ์โควิดจำเป็นต้องทำงานและประสานงานอย่างรอบคอบระมัดระวัง ที่สำคัญ ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโควิดภายใต้คำสั่งของ ศบค.จังหวัดอย่างเคร่งครัด โดยการประสานงานกำลังพิจารณาใช้ช่องทางสื่อสารทางไกลเป็นหลัก

จากนั้นจะเป็นการลงพื้นที่สำรวจในรายละเอียดแนวเวนคืนตลอดเส้นทางว่า มีสิ่งปลูกสร้าง อาคาร ป่าไม้ จำนวนเท่าไหร่ อยู่จุดใดบ้าง แล้วจึงทำรังวัด จัดตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นรายจังหวัด เพื่อดำเนินการสืบหาเจ้าของโฉนดที่ดิน คาดว่าจะเริ่มต้นเบิกจ่ายค่าเวนคืนได้ภายใน 1 ปี นับจากวันประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืน อย่างเป็นทางการ

เวนคืน 1.7 หมื่นไร่ 10,080 ล้านบาท

สำหรับพื้นที่เวนคืนตาม พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ เบื้องต้นเวนคืนที่สาธารณะ รวมถึงที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัยของประชาชนและเอกชนเป็นหลัก ยังไม่ได้รวมถึงการขอใช้พื้นที่ของส่วนราชการ ซึ่งประเมินตอนนี้มี 5 หน่วยงาน ที่ต้องเข้าขอใช้พื้นที่ ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมชลประทาน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกรมธนารักษ์ โดยจะต้องมีการคำนวณค่ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและหารือถึงแผนงานต่อไป

สภาพการใช้ประโยชน์แนวเวนคืน ส่วนมากเป็นพื้นที่เกษตรกรรม รวมพื้นที่เวนคืนทั้งหมด 17,499 ไร่ จำนวนที่ดิน 6,762 แปลง วงเงินเวนคืน 10,080.33 ล้านบาท มีระยะเวลาเบิกจ่ายและดำเนินการ 2 ปี (2565-2566) ล่าสุด สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณประจำปี 2565 ให้แล้ว 1,020 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปักหลักแนวเขตทาง รังวัด กำหนดราคาทดแทน ประกาศค่าทดแทน

30 สถานี 19 อำเภอ 70 ตำบล

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สาย “บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม” มีระยะทางรวม 355 กิโลเมตร ออกแบบก่อสร้างเป็นคันทางระดับดินสูงเฉลี่ย 4 เมตร ระยะทาง 346 กิโลเมตร และเป็นทางรถไฟยกระดับ 9 กิโลเมตร เขตทางกว้าง 80 เมตร

ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 6 จังหวัด 19 อำเภอ 70 ตำบล มีสถานีรถไฟจำนวน 30 สถานี แบ่งเป็น 18 สถานีกับ 12 ที่หยุดรถ และ 1 ชุมทางรถไฟ หรือจุดเริ่มต้นโครงการ มีย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีร้อยเอ็ด 2.สถานีสะพานมิตรภาพ 2 จ.มุกดาหาร และ 3.สถานีสะพานมิตรภาพ 3 จ.นครพนม

มีลานบรรทุกตู้สินค้าจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีภูเหล็ก 2.สถานีมหาสารคาม 3.สถานีโพนทอง มีที่หยุดรถไฟ 12 แห่ง สถานีขนาดเล็ก 9 แห่ง สถานีขนาดกลาง 5 แห่ง สถานีขนาดใหญ่ 4 แห่ง ย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง สะพานรถไฟข้ามถนน/คลอง/แม่น้ำ 158 แห่ง

เชื่อมแขวงสะหวันนะเขต-คำม่วน สปป.ลาว

จุดตัดทางรถไฟกับถนนตามแนวเส้นทางโครงการ แบ่งเป็น 4 รูปแบบ คือ สะพานรถไฟข้ามถนน 158 แห่ง, สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 81 แห่ง, ทางลอดทางรถไฟ 245 แห่ง และทางบริการขนานทางรถไฟ 165 แห่ง

แนวเส้นทางเริ่มต้นที่ชุมทางบ้านหนองแวงไร่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พาดผ่าน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร ไปสิ้นสุดที่สถานีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 จ.นครพนม เชื่อมกับ สปป.ลาว ที่แขวงสะหวันนะเขต และแขวงคำม่วน

2565 เวนคืน-2566 เริ่มก่อสร้าง

อัพเดตความคืบหน้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้น แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กิโลเมตร ราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท มีบริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด จอยต์เวนเจอร์กับบริษัทรับเหมาท้องถิ่นเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 27,100 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 23 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กิโลเมตร ราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท มีบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จอยต์เวนเจอร์กับบริษัทรับเหมาท้องถิ่นเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 28,310 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 23 ล้านบาทเช่นกัน

ในด้านการก่อสร้างตามแผนที่วางไว้ คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ต้นปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 48 เดือน หรือ 4 ปี มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2570

24/9/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (24 กันยายน 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS