info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.82

กกร.ปทุมธานีดัน”โมโนเรล”3เส้นทางบูมทำเลทองเชื่อมรถไฟฟ้าสีแดง-สีเขียว

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

ปทุม อ่วมรถติดพุ่ง1.6แสนคันต่อวัน กกร.จังหวัด ดัน โมโนเรลผ่าปทุม3เส้นทางเชื่อม รถไฟฟ้าสายหลัก “สีแดงรังสิต –สีเขียวคูคต” 5,000ล้าน ผ่าน"คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง"เปิดศักยภาพพัฒนาที่ดินดังราคาพุ่ง

“ปทุมธานี” หนึ่งในจังหวัดปริมณฑล ที่กำลังเผชิญวิกฤติจราจรไม่ต่างจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยถนนบางสายมีปริมาณการจราจรหนาแน่นกว่า140,000-160,000 คัน/วันแม้ว่าจะมีรถไฟฟ้า2สายทางรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต และสายสีเขียวหมอชิต-คูคตขยายเส้นทางเชื่อมเข้าถึงจังหวัด ทว่ายังขาดระบบFeeder มารองรับ ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการยังต่ำ

ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี มีนายชวลิต ครองสิน เป็นประธาน หอการค้าจังหวัดปทุมธานี นายสุรพงษ์ เป้ากลาง ประธานและชมรมธนาคารไทยปทุมธานี และนางนราวดี แก้วสำราญ เป็นประธาน

เข้าพบ พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี(อบจ.ปทุมธานี) ยื่นผลศึกษาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเบา 3 สาย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาไว้ ขอสนับสนุนให้เป็นผู้นำในการผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมเพราะปัญหาจราจรปทุมธานีนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้ การประชุมกกร.จังหวัดปทุมธานี ครั้งที 1/2565 เมื่อเดือนมกราคม 2565 พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เป็นประธานในที่ประชุมได้เสนอประเด็นปัญหาเพื่อพิจารณาแก้ไขร่วมกันทั้งนี้นอกจากจะส่งผลดีต่อการเดินทางเชื่อมโยงรถไฟฟ้าสายหลักสายสีแดงและสายสีเขียวลดปัญหาจราจรแล้วยังเพิ่มศักยภาพการพัมนาที่ดินแนวเส้นทางให้สูงขึ้นเปิดพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์นอกจากที่อยู่อาศัยแนวราบ

ขณะราคาที่ดินขยับสูงทั้งนี้นายชวลิต ครองสิน ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานีเปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การลงทุนรถไฟฟ้า3เส้นทางจะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีจากแนวราบสู่แนวสูงอีกทั้งยังช่วยให้ราคาที่ดินขยับสูงจากปัจจุบันราคาไร่ละ10-20ล้านบาททำเล รังสิต-นครนายกขยับสูง เป็น30ล้านบาทต่อไร่หากรถไฟฟ้าก่อสร้างเปิดให้บริการโดยเฉพาะตั้งแต่ทำเลรังสิตคลอง3-คลอง6

ที่มีการพัฒนาเกิดขึ้นมากและการพัฒนาขยายออกไปถึงคลอง15 ขณะการลงทุนประเมินว่าจะใช้งบประมาณกว่า5,000ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณของท้องถิ่นและสามารถพัฒนาได้ภายในไม่เกิน2-5ปีนับจากนี้ สำหรับรูปแบบคล้ายกับสายสีทอง หรือไม่สายสีเหลืองในกทม.ซึ่งรูปแบบลงทุนจะเป็นเอกชนร่วมลงทุนรัฐPPPหรือไม่ก็จ้างเอกชนเดินรถเพียงอย่างเดียว

นายชวลิตกล่าวต่อว่าปัจจุบันปทุมธานีได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติจราจรเกิดความสูญเปล่าทางพลังงานหากมีรถไฟฟ้าพาดผ่านในจังหวัดนอกจากสร้างความเจริญให้กับเมืองแล้วยังสามารถรองรับคนจำนวนมากเดินทางเชื่อมโยงรถไฟฟ้าสายสีแดงสายสีเขียววิ่งเข้าสู่ใจกลางกทม.ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่ลงทุนระบบรางให้เกิดความคุ้มค่า

รถไฟฟ้ารางเบา 3เส้นทางประกอบด้วย สายที่1 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีรังสิต-ตลาดรังสิต-ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ระยะทาง 2 กิโลเมตร สายที่ 2 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีคูคต-ถนนเสมาฟ้าคราม-ถนนรังสิต-นครนายก-ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ระยะทาง 9.3 กิโลเมตร สายที่ 3 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ตลาดไท-วัดธรรมกาย ระยะทาง 6 กิโลเมตร

ด้านแหล่งข่าวศูนย์ตักศิลารังสิต( Rangsit Knowledge Center)ในฐานะภาคประชาสังคมจังหวัดปทุมธานี แสดงความเห็นด้วยกับ 3 องค์กรธุรกิจ หนุนองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นแกนหลักในการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล ใช้เป็นระบบFeeder เชื่อมกับรถไฟฟ้า 2 สายหลัก(สายสีเขียว -สายสีแดง) โดยเชื่อว่า ภาคธุรกิจในพื้นที่อยากให้อบจ.เป็นแกนนำผลักดัน ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ

1.อบจ. เป็นหน่วยงานราชการในท้องถิ่นมีความต่อเนื่อง ขณะผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นราชการส่วนภูมิภาค อาจมีสลับเปลี่ยนหมุนเวียนตามวาระ และสถานการณ์ จะขาดความต่อเนื่อง 2.ตามพระราชบัญญัติ อบจ.ฉบับปัจจุบัน มาตรา 45 (6/1) ระบุในเรื่องการส่งเสริม สนับสนุนเรื่องการจราจรไว้ชัดเจน ฉะนั้นแปลว่า อบจ.สามารถทำในเรื่องนี้ได้ เหมือนกับที่บางจังหวัดที่เดินหน้าไปไกลมากอย่างจังหวัดขอนแก่น ที่ทำรถไฟฟ้าโมโนเรล ก็เริ่มจากท้องถิ่น

โดย 5 เทศบาลใน อ.เมืองขอนแก่น จับมือกับภาคธุรกิจในจังหวัด จัดตั้งเป็นนิติบุคคลขึ้นมาดำเนินการโมโนเรลโดยเฉพาะมีท้องถิ่นถือหุ้นใหญ่ จนกลายเป็นต้นแบบของประเทศเวลานี้ ประกอบกับ พรบ.เทศบาล 2562 ข้อที่9 ระบุขอบเขตอำนาจท้องถิ่น สามารถดำเนินการในเรื่องแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ได้

“ ปัญหาจราจรกำลังกลายเป็นปัญหาวิกฤติของเมืองใหญ่เวลานี้ หลายจังหวัดพูดถึงรถไฟฟ้าโมโนเรลมานาน แต่ก็ยังไม่เห็นรูปธรรมเกิดขึ้นได้ และวันนี้ ถ้าเรารอรัฐบาลกลางมาดำเนินการให้ ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องการจราจรได้ทันแน่นอน และนับวันปัญหาจะรุนแรง โดยจังหวัดปทุมธานีขณะนี้ปริมาณการจราจรในถนนบางสายหนาแน่นกว่า140,000 -160,000 คัน/วัน หากยังปล่อยไม่เร่งแก้ไขก็จะเป็นมะเร็งร้ายตามมา”

เมื่อท้องถิ่นหลายแห่งมีความพร้อม ภาคธุรกิจในจังหวัดมีความพร้อม ขณะกฎหมายก็ระบุบทบาท อำนาจและหน้าที่ไว้ชัดเจนในเรื่องการส่งเสริม และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจราจร ซึ่งครอบคลุมทั้งการจราจรทางบก ทางราง และทางน้ำ

“ถามว่า แล้วจะไปรออะไรอีก ในเมื่อฟันเฟืองทุกตัวพร้อมหมดแล้ว หากคิดรอรัฐบาลกลางอีก 20 ปีก็เกิดไม่ได้ หมดเวลาแล้วที่มักอ้างเสมอมาว่าท้องถิ่นไม่มีอำนาจและหน้าที่ ทำเรื่องรถไฟฟ้า โดยเฉพาะปทุมธานีในอดีตที่พัฒนาจังหวัดได้ช้า เพราะขาดวิสัยทัศน์ และติดกับดักนโยบายรอ

โดยมักอ้างว่าท้องถิ่นไม่มีอำนาจ เป็นหน้าที่ของส่วนกลาง ทั้งรถไฟฟ้าโมโนเรล ปัญหาน้ำประปาไหลอ่อน หรือแม้กระทั่งการเก็บผักตบชวา เพราะขาดความกล้า เลยไปสร้างกับดักความกลัวขึ้นมาแทน คนที่พลอยรับกรรมคือประชาชน ที่เสียโอกาสการพัฒนาจังหวัด แถมมีความเดือดร้อนเป็นกำไร”

สำหรับ บทบาทของท้องถิ่นในการแก้ปัญหาในพื้นที่ มีทั้งมิติของการประสานงาน การส่งเสริม การสนับสนุน และหรือการแกนกลไกหลักการแก้ปัญหา ภายใต้บทบาท และหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้ง อย่าไปติดกับดัก จนกลายเป็นอุปสรรคการพัฒนาท้องถิ่น

แหล่งข่าวศูนย์ตักศิลายังเสนอแนะว่า การดำเนินการใน 3 เส้นทางที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีผลศึกษา ถือว่าเป็นการแก้จุดที่เป็นหัวใจและเป็นจุดที่มีปัญหาจราจรในปทุมธานีมากที่สุดแต่ในอนาคตอยากให้ขยายเส้นทางสายที่ 2 ที่เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีคูคต-ถนนเสมาฟ้าคราม-ถนนรังสิต-นครนายก-ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ระยะทาง 9.3 กิโลเมตร ช่วงคลอง 2 ถนนรังสิต-นครนายก

อยากให้ลากยาวไปบนเกาะกลาง ถึงคลอง 6-7 และเชื่อมกับสวนสัตว์แห่งใหม่ที่กำลังจะเปิดในปี2570 จะทำให้ประชาชนมีโอกาสใช้บริการมากขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง สอดรับกับนโยบายของจังหวัดที่ต้องการเพิ่มนักท่องเที่ยวจากปัจจุบัน 8 แสนคนต่อปี เป็น 2-3 ล้านคนต่อปีได้ไม่ยากและทำให้รายได้เพิ่มจากปีละ4,000- 5,000 ล้านเป็น 10,000-20,000 ล้านบาทต่อปีไม่ยาก

สำหรับระบบFeeder อื่น เช่น ทางเรือ ทางเลน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้ผลักดันไปพร้อมๆ เพื่อสร้างทางเลือกให้ประชาชนในการเดินทางตามไลฟ์สไตล์ เพราะเรามีท่าเรือที่เคยทำไว้ตั้งแต่คลอง1- คลอง7 มีท่าเรืออยู่แล้ว เหลือแต่จัดหาเรือมาบริการ และปรับปรุงท่าใหม่ที่ชำรุด ส่วนFeeder อีกระบบ คือ เลนจักรยาน เพื่อกลุ่มรักสุขภาพ จากสถานีรถไฟฟ้ารังสิต-คลอง6 ซึ่งปัจจุบันช่วงจากคลอง3-5 มีอยู่แล้วภายใต้การดำเนินการของเทศบาลเมืองบึงยี่โถ

หากเทศบาลนครรังสิตต่อเส้นทางจากคลอง3 ถึงสถานีรถไฟฟ้ารังสิต และเทศบาลตำบลธัญบุรีขยายเส้นทางจากคลอง5 ถึงคลอง 7 จะทำให้มีทางเลือกการเดินทางมากขึ้น และการลงทุนก็ไม่แพงเพียงกิโลเมตรละ 4-5 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากเป็นระบบfeederเสริมยังจะเป็น Landmark แห่งใหม่ของปทุมธานีอีกด้วย

ทั้งนี้มีคำพูดติดตลกว่า คนปทุมธานีเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจากสถานีสาธร มาลงคูคต ใช้เวลา 45 นาที แต่เดินทางจากคูคต ถึงฟิวเจอร์ พาร์ครังสิตใช้เวลา 2 ชั่วโมง เพราะถนนเสมาฟ้าคามรถติดมาก พอ กับรังสิต-นครนายก โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน

ดังนั้น หากเฟสแรก ดำเนินการตามผลศึกษาข้างต้น และเฟส2 ขยายเส้นทางรังสิต-นครนายก ออกไปถึง คลอง 7 และสวนสัตว์เขาดินแห่งใหม่ และสายที่ 3 เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ตลาดไท-วัดธรรมกาย ระยะทาง 6 กิโลเมตร ขยายเส้นทางต่อไปถึงอุทยานวิทยาศาสตร์ คลอง 5 จะช่วยป้อนปริมาณผู้โดยสารผ่านรถไฟฟ้าโมโนเรล เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า2สายหลักได้อย่างคุ้มค่า

“ขอย้ำว่า ใครก็ตามที่คิดนำระบบรถEVBUS มาวิ่งเป็นระบบFeeder บนถนนหลักแทน ขอย้ำว่า ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เพราะยังต้องไปแย่งเลนร่วมกับรถยนต์ปกติ ซึ่งก็หนาแน่นอยู่แล้ว เราต้องคิดแก้แบบระยะยาวและยั่งยืนจะดีกว่านั้น คือ โมโนเรล เพราะถ้าท้องถิ่นอย่างขอนแก่นเขาทำได้ และหลายจังหวัดกำลังจะทำ แล้วทำไมปทุมธานีเราจะทำไม่ได้”

16/2/2565  ฐานเศรษฐกิจ (16 กุมภาพันธ์ 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS