info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.82

“สังคมสูงวัย - ยุคหลังโควิด” รีเซท อสังหาฯไทย บูมตลาดสุขภาพแสนล.

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

อสังหาฯ กทม. - เมืองท่องเที่ยว ลุยตลาดโครงการเพื่อสุขภาพและผู้สูงวัย รับดีมานด์มหาศาล ลงทุนทะลุ แสนล้าน “พฤกษา” ปูพรม 5 ปี เปิด “Wellness Center” พ่วงโครงการ 20 แห่ง “ฟอเรสเทียส์ - ตรีวนันดา” ลุยขายต่างชาติ ขณะกูรูดัง แนะ รัฐอุ้มเอกชน เพิ่มโอกาส เจาะตลาดใหญ่คนระดับกลาง ธุรกิจสุขภาพเป็นเมกะเทรนด์ที่มาแรงทั่วโลก ขณะในภาคอสังหาริมทรัพย์ มีรายงานว่า Wellness Real Estate เติบโตเกือบ 2 เท่าภายใน ระยะ 4 ปี เฉลี่ย 22% ต่อปี หลังจากเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางภาพรวมตลาดหดตัว - 2.5%

พบโครงการอสังหาฯ ที่ผูกโยงกับ คำว่า Health และ Wellness จึงกลายเป็นโอกาสครั้งใหม่ เกิดภาพความร่วมมือของบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัย โรงแรม โรงพยาบาลเกิดขึ้นมากมาย เป็นจังหวะสอดคล้อง ที่มาพร้อมกับการก้าวเข้าสู่”สังคมผู้สูงอายุ” ของไทยอย่างเต็มตัว อย่างน่าจับตามองนับหลังจากนี้

เทรนด์การเปลี่ยนแปลงของที่อยู่อาศัยหลังยุคโควิด ถูกตอกย้ำจากผลวิจัยของ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็ป โดย นางสาว วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิจัย ระบุว่า 1ใน 7 เมกะเทรนด์ของอสังหาฯ คือ โครงการที่ให้ความสำคัญกับ Wellness , Multi Generation Living (การอยู่รวมกันหลายวัย) และ ฟังก์ชั่นเพื่อผู้สูงวัย หลังจาก กลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ต้องการสินค้า และบริการด้านสุขภาพใหม่ๆ เช่น การใช้หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุในบ้าน , บริการฟื้นฟูสุขภาพในบ้านพักและโครงการ ,วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่มีผลต่อสุขภาพ เป็นต้น

ขณะเป้าหมายใหญ่ การที่ประเทศไทย เป็น “เดสซิเนชั่น”ด้านการท่องเที่ยว และอยู่อาศัยหลังวัยเกษียณ (รีไทร์เมนท์โฮม) จะเป็นโอกาสของตลาดโรงแรม และที่พักอาศัย ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมอย่างมาก ซึ่งสิ่งที่จะต้องจับตา คือ แนวกฎหมายและนโยบายระดับประเทศ เพื่อใช้เป็นหลักในการพัฒนาให้ถูกจุด

กระแสความต้องการแง่ Health และ Wellness ในหมู่ผู้บริโภคยังเกิดขึ้นกับความสำเร็จของอภิมหาโปรเจ็กต์ที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่แบบองค์รวมแห่งแรกของเอเชีย “เดอะ ฟอเรสเทียร์” มูลค่า 1.25 แสนล้านบาท ทำเลบางนาตราด กม.7 โดยผู้พัฒนา : บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ซึ่ง นายกิตติพันธุ์ อุยยามะพันธุ์ ผู้อำนวยการโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ เผยว่า ขณะนี้โครงการมียอดขายแล้วกว่า 45% ซึ่งสวนทางกับภาวะตลาด หลังจากเดินหน้าเปิดขายท่ามกลางสถานการณ์โควิด19

ทั้งนี้ คาดมาจาก “บิสสิเนสโมเดล” ของโครงการ เป็นเมืองที่พักอาศัยแห่งอนาคต ที่ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่อย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มคนสูงวัย คนที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ เช่น เปลี่ยนมาตรฐานทางเดิน ,ทางลาดสำหรับวีลแชร์ ,รถพยาบาลเข้าได้ถึงอาคารทุกจุด,โซนออกกำลังกาย,ระบบปรับอากาศท่อน้ำเย็นใต้ดิน และปลูกป่าขนาดใหญ่ เฟสแรก 30ไร่ "ด้วยคอนเซ็ปต์ พื้นที่ก่อสร้าง 9 แสนตร.ม. และป่าขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วย รพ. ,ศูนย์การค้า และโครงการที่พักอาศัย ผ่านโมเดลการออกแบบเพื่อองค์รวมที่ดีของสุขภาวะนั้น พบเพียงแค่ ปีครึ่ง คนไทยตอบรับดีเกินคาด ขณะล่าสุด ไทยเปิดประเทศ เรากำลังทดสอบว่า ต่างชาติจะให้ความสนใจแค่ไหน"

“ตรีวนันดา” 600ไร่ เจาะตลาดต่างชาติ โอกาสสูงสุดของอสังหาฯกลุ่มนี้ ยังถูกพุ่งเป้าไปที่หัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย หลังจากมีนโยบายเปิดประเทศ ยกเลิกมาตรการ Test & Go อย่างเป็นทางการ อานิสงค์การพักอาศัยระยะยาว มองหาบ้านหลัง 2 ในกลุ่มคนต่างชาติ จึงคึกคักอีกครั้ง เจาะโครงการน่าจับตามอง “ตรีวนันดา ภูเก็ต” ที่พักอาศัยรูปแบบ Wellness Community ขนาด 600 ไร่ ยักษ์ระดับอาเซียน ใกล้ หาดลากูน่า ซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา

โดยนายกิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี ผู้บริหาร บริษัท มนทาระ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป เผยว่า โควิด19 ทำให้ประชากรโลก หันมาให้ความสนใจกับการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพ และนับเป็นการรีเซทธุรกิจอสังหาฯไทยครั้งใหญ่ ซึ่งในแง่ของบริษัทนั้น เป็นโอกาส จากการเดินหน้าลงทุนและก่อสร้างสวนสวนวิกฤติก่อนแล้ว ประกอบไปด้วย โซนที่พักอาศัย (วิลล่าเริ่ม 16 ลบ.) รีสอร์ทเพื่อสุขภาพ และสวนพฤกษศาสตร์ - ทะเลสาป โดยเป้าหมายสำคัญ คือ ชาวต่างชาติที่แสวงหาสุขภาพที่ดี โดยคาดจะถูกตอบรับดี แม้การแข่งขันสูงขึ้น

"ต่างชาติจะทำให้อุตสาหกรรมนี้พลิกฟื้น ซึ่งอสังหาฯไทยมีความจำเป็นต้องดึงจุดแข็งด้านบริการสุขภาพมาเป็นแม่เหล็ก หลังแนวโน้มมีนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มากขึ้น พักระยะยาวและใช้จ่ายต่อหัวสูง จะเป็นธุรกิจที่เติบโตดีกว่ากลุ่มอื่น จากดีมานด์มหาศาล"

PSH ลุย “เฮลท์ทูโฮมโมเดล” เจาะกลุ่มกลาง ขณะความได้เปรียบเกิดขึ้นในเจ้าตลาดที่อยู่อาศัย อย่าง กลุ่มบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (PSH)ซึ่งมีโครงข่าย รพ.วิมุต เป็นแขนขาสำคัญ ล่าสุด นายแพทย์ กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รพ.วิมุต เผย ว่า พฤกษา กำลังพัฒนาโมเดล Health to Home ผ่านการจัดตั้ง Wellness Health Care Center ในโครงการบ้านจัดสรร นำร่องปี 2565 จำนวน 2 แห่ง ย่านบางนา และ คู้บอน มูลค่าการลงทุน 50 ล้านบาทต่อแห่ง ขณะระยะ 4-5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าพัฒนารวม 20 แห่ง ครอบคลุมทำเล กทม. - ปริมณฑล รวมถึง ทำเล 3 จังหวัด อีอีซี เช่น เมืองศรีราชา , พัทยา และ ระยอง หลังจากมองเห็นการเติบโตของดีมานด์ที่น่าสนใจ

" โอกาสของธุรกิจนี้ มาจากไม่กี่ปีข้างหน้า คนอายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 25-30% ของประชากรไทย ขณะเด็กแรกเกิดน้อยลง คนวัยทำงานถดถอยนั้น จะดิสรัปชั่นวงการที่อยู่อาศัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "

อย่างไรก็ตาม นพ.กฤตวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีอสังหาฯจำนวนไม่น้อย พยายามผสมผสานบริการด้านสุขภาพ การออกแบบใหม่ๆเข้าไปในโครงการ แต่เป็นเพียงสีสัน ไม่ครอบคลุมมิติความต้องการที่แท้จริง และบางส่วนกระจุกแค่ในโครงการระดับบน ทั้งที่ คนระดับกลาง เป็นกลุ่มใหญ่ของตลาด มีความต้องการสูง โดยโมเดลของพฤกษา ซึ่งจะถูกออกแบบตั้งแต่โครงสร้างบ้านพัก ,การบริหารจัดการทางการแพทย์ , บุคลากร ,เชื่อมระบบประกัน และ ดึงเทคโนโลยีมาใช้ทั้งระบบ ในราคาเหมาะสม จะเข้ามารองรับ รวมถึง โอกาสจากดีมานด์ต่างชาติอีกด้วย

“โสภณ” แนะรัฐอัดเม็ดเงินหนุน ทั้งนี้ นายโสภณ พรโชคชัย นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์สากล ระบุว่า แนวโน้มกำลังซื้ออสังหาฯ ไทยในอนาคต ราว 20% จะเกิดขึ้นจากกลุ่มคนรักสุขภาพ และ ผู้สูงอายุ ซึ่งก่อนหน้า เห็นการตื่นตัวของผู้พัฒนาฯ ในไทยและอาเซียนมากขึ้น ก่อเกิดโครงการผู้สูงอายุ ,บ้านรักสุขภาพจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพบบางบริษัทเริ่มถอย เหลือเพียงไม่ถึง 10% เพราะอาจทำฟังก์ชั่นได้ไม่ตอบโจทย์กำลังซื้อได้เท่าที่ควร เนื่องจาก ตลาดอสังหาฯกลุ่มนี้ ต้องอาศัยความเข้าใจ และการออกแบบเฉพาะ เทียบกลุ่มประเทศที่สำเร็จ เช่น ไต้หวัน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

ซึ่งบ้านว่างในไทย 6 แสนหน่วย จากการพัฒนาที่ไม่ตอบโจทย์ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และ สังคมสุขภาพดี อย่างเต็มตัวของสังคมไทย ถือเป็นความท้าทายของวงการอสังหาฯไทยนับหลังจากนี้ โดยประเมินว่า ทำเลที่เหมาะสม ยังคงจำเป็นต้องใกล้กับสาธารณูปโภคสำคัญ เช่น ห้าง รพ. ขณะเดียวกัน เห็นว่า การผลักดันของรัฐบาล ผ่านเงินอุดหนุน จะทำให้ตลาดนี้ใหญ่และน่าสนใจมากขึ้น

"การทำบ้านผู้สูงอายุในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ ไต้หวัน จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้ราคาต่อหน่วยไม่แพงมาก ขณะไทยส่วนใหญ่ถูกปั้นโดยเอกชน ทำให้ราคาแพงมาก คนระดับกลาง ยากเข้าถึง ฉะนั้น ถ้าทำราคาลดลงให้กลุ่มนี้เข้าได้ ก็จะเป็นโอกาสอย่างมาก "

12/5/2565  ฐานเศรษฐกิจ (12 พฤษภาคม 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS