info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.97.14.91

“การบินไทย” ไม่หวั่นเพิ่มทุนต่ำเป้า พร้อมเทหมื่นล้านลงทุน MRO อู่ตะเภา

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

พลาดเป้าหมายไปพอสมควรสำหรับผลการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 9.822 ล้านหุ้นของการบินไทย ครั้งล่าสุดเมื่อ 6-12 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟู

โดยผู้ถือหุ้นเดิม (ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567) พนักงาน และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ใช้สิทธิไม่เต็มจำนวน ขายออกไปได้เพียง 5.13 ล้านหุ้น ซึ่งที่ประชุมคณะผู้บริหารแผนได้มีมติลดทุนจดทะเบียนบริษัท โดยการตัดส่วนของหุ้นซึ่งยังไม่ได้มีการออกจำหน่ายออกไป

ขายหุ้นเพิ่มทุนต่ำเป้า-หวั่นการบริหารไม่อิสระ

“ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มหลักที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 9.822 ล้านหุ้น ล่าสุดคือ กระทรวงการคลัง ซึ่งยอมรับว่าผลตอบรับผิดจากที่คาดการณ์ไว้พอสมควร แต่หากมองในแง่ของการได้เงินเข้ามาก็ถือว่าไม่ได้พลาดเป้ามากนัก

เนื่องจากเดิมคำนวณว่าการขายหุ้นเพิ่มทุนลอตนี้กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 2.5452 บาทต่อหุ้น จะได้เงินประมาณ 25,000 ล้านบาท แต่ตอนขายจริง เรากำหนดราคาขายที่ 4.48 บาทต่อหุ้น แม้ว่าจะขายหุ้นเพิ่มทุนไปได้เพียง 5 ล้านกว่าหุ้น แต่ก็ได้เงินมาประมาณ 23,000 ล้าน ขาดไป 2,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้ มองว่าเหตุผลของการขายหุ้นเพิ่มทุนพลาดเป้าครั้งนี้เป็นผลจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.การกำหนด Illiquid Period ที่กว่าจะสามารถกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ มีเวลาถึงกว่า 6 เดือน จากปกติหุ้นเข้าตลาดจะรอเพียงแค่ 3-4 วัน และ 2.มีความเป็นห่วงเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน กล่าวคือห่วงว่าการบริหารงานของการบินไทยในอนาคตจะไม่เป็นอิสระ

“แน่นอนว่าการไม่เป็นรัฐวิสาหกิจนั้นจะทำให้การบริหารจัดการคล่องตัวขึ้น แต่ยังมีความกังวลว่า หากภาครัฐถือหุ้นในสัดส่วนที่ใหญ่ ก็ยังมีโอกาสที่จะเข้ามาบริหารจัดการได้ในอนาคต”

เปิดโฉมหน้าบอร์ดบริหารชุดใหม่ เม.ย. 68

เมื่อถามว่า การกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจไม่เกิน 50% และการยืนยันว่าการบินไทยจะเป็นเอกชน 100% ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและนักลงทุนกลุ่ม Private Placement ใช่หรือไม่ ซีอีโอการบินไทยบอกว่า ประเด็นที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้ดีที่สุด คือ รูปร่างหน้าตาของคณะกรรมการบริษัท (บอร์ดบริหาร) ในอนาคตว่าคนที่มาร่วมเป็นคณะกรรมการบริษัทมีคุณสมบัติในการทำธุรกิจหรือไม่

โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการบริษัทนั้น ตามเกณฑ์กำหนดให้ 1 ใน 3 จะต้องเป็นกรรมการอิสระ ซึ่งจำนวนบอร์ดตามข้อบังคับของบริษัทมีได้ตั้งแต่ 5-15 คน หากใช้จำนวนเต็มที่ที่ 15 คน กรรมการอิสระจะต้องมี 5 คน หากกรรมการอิสระมีความคิดที่เป็นอิสระจริงก็จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้

ส่วนกรรมการอื่น ๆ ประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (DD) 1 คน ซึ่งเป็นโดยตำแหน่ง เนื่องจากต้องมีความต่อเนื่องในการบริหารงาน ที่เหลือตามหลักการคือแบ่งตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นวันนี้ออกมาแล้ว ภาครัฐมีสัดส่วนกว่า 40% ที่เหลือก็จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เช่น สถาบันการเงิน หุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นรายย่อย

ทั้งนี้ ผู้บริหารแผนจะกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2568 นี้ หลังจากประชุมอนุมัติงบการเงินในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์เรียบร้อยแล้ว

พร้อมระบุว่า โฉมหน้าของบอร์ดบริหารชุดใหม่จะมีผลโดยตรงต่อการกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน 2568 ฉะนั้นประเด็นนี้ผู้ถือหุ้นซึ่งมีสิทธิโหวตต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

โดยการบินไทยจะใช้บทเรียนในอดีตมาเป็นตัวพิจารณาด้วยว่า การที่มีคณะกรรมการที่ความรู้ความสามารถไม่ตรงกับการบริหารสายการบินนั้น ทำให้การเคลื่อนตัวของธุรกิจช้าลง และอาจเปลี่ยนทิศทางได้

“ผู้บริหารแผนจะตั้งคณะทำงานสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนกรรมการ และกำหนดหลักเกณฑ์ ปรับปรุงกฎบัตรว่าคุณสมบัติของกรรมการควรจะมีอะไรบ้าง และไม่ควรจะมีอะไรบ้าง เช่น ต้องไม่เป็นบุคคลที่มาจากหน่วยงาน หรือองค์กร ที่ให้คุณให้โทษการบินไทย เป็นต้น”

เตรียมหมื่นล้านเดินหน้าลงทุน MRO อู่ตะเภา

ต่อคำถามว่า การขายหุ้นเพิ่มทุนลอตล่าสุดที่พลาดเป้า 2,000 ล้านบาทนั้น ส่งผลกระทบในแง่ของเป้าหมายการดำเนินงานหรือไม่ “ชาย” บอกว่า แม้ว่าจะได้เงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนมาเพียง 23,000 ล้านบาท จากเป้าหมาย 25,000 ล้านบาท แต่ถือว่าเพียงพอสำหรับการดำเนินงาน เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยมีกระแสเงินสดในมือเกินกว่าที่ประมาณการไว้

ที่สำคัญ วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุนครั้งนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า จะนำไปใช้ใน 3 ด้านหลัก ๆ ประกอบด้วย 1.การจัดหาเครื่องบินฝูงใหม่ที่ได้ทำการจัดหาไปแล้ว 45 ลำ ซึ่งบริษัทได้จ่ายเงินมัดจำงวดแรกไปก่อนหน้านี้แล้ว 2.การปรับปรุงเครื่องบิน โดยเฉพาะเครื่องบินลำตัวกว้าง (Wide-body Aircraft) คือ โบอิ้ง 777-300 ER และลงทุนภายในเครื่องบินของเครื่องบินฝูงใหม่ (Basic Flight Equipment : BFE) และ 3.ศูนย์ซ่อม (Maintenance, Repair and Operating : MRO) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อู่ตะเภา ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

และตามแผนเบื้องต้นคาดว่าโครงการแรกที่จะใช้เงินส่วนนี้ คือ การลงทุนศูนย์ซ่อม หรือ MRO ที่อู่ตะเภา (ระยอง) ซึ่งคาดว่าทั้งโครงการจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท

“วันนี้การบินไทยมีความพร้อมสำหรับการเดินหน้าลงทุนมาก และก็วางดีไซน์แล้วว่า พื้นที่ 212 ไร่นี้จะทำอะไรบ้าง เงินลงทุนเท่าไหร่ และได้คุยอยู่กับพาร์ตเนอร์คือ กลุ่มบางกอกแอร์เวย์สแล้ว ซึ่งก็เห็นตรงกันว่าผู้ดำเนินการควรจะเป็นผู้ประกอบการในประเทศ แต่ยังไม่ได้ลงลึกว่าใครจะถือหุ้นในสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งตอนนี้อยู่ที่อีอีซีว่าจะให้สิทธิการใช้พื้นที่เมื่อไหร่”

ฝูงบินใหม่ 45 ลำทยอยเข้ากลางปี 2027

สำหรับฝูงบินใหม่จำนวน 45 ลำ (โบอิ้ง 787) ตามแผนการจัดซื้อจัดหานั้นมีระยะเวลารับมอบ 9 ปี คือจากปี 2024 เครื่องลำสุดท้ายคือปี 2033 โดยจะทยอยรับมอบตั้งแต่กลางปี 2027 เป็นต้นไป พร้อมทั้งทำการปรับปรุงฝูงบินเก่าในช่วงกลางปี 2027 อีกจำนวน 14 ลำ

นั่นหมายความว่า ตั้งแต่กลางปี 2027 การบินไทยจะมีเครื่องบินที่มีภายในเหมือนกันทั้งหมดจำนวน 44 ลำ ซึ่งจะทำให้โปรดักต์มีความนิ่งมากขึ้นในอนาคต

สำหรับปี 2568 นี้ การบินไทยจะมีเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมฝูงบินอีก 4 ลำ เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ (Narrow-body Aircraft) จำนวน 1 ลำ (A321) และเครื่องบินลำตัวกว้าง (Wide-body Aircraft) จำนวน 3 ลำ (A330) โดยจะทยอยเข้ามาในช่วงไตรมาส 3 และ 4 เพื่อรองรับไฮซีซั่น

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบิน A330 ที่อยู่ระหว่างการเจรจาขอเช่าอีกจำนวน 8 ลำ ซึ่งหากเป็นไปตามแผนจะทยอยรับมอบเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 เช่นกัน

โดยเครื่องบินที่จะทยอยเข้ามานั้น เป้าหมายหลักคือ 1.เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต (Capacity) และ 2.เพื่อนำมาลดภาระของฝูงบินปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Aircraft Utilization) เฉลี่ยอยู่ประมาณ 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งสูงมาก โดยเฉพาะเครื่องโบอิ้ง 777-300 ER ที่ใช้บินไปลอนดอน (อังกฤษ) ญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินสูงถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน

“เครื่องที่จะทยอยเข้ามาในช่วงกลางปีหน้านั้น ส่วนหนึ่งจะถูกนำ Capacity มาทดแทนเพื่อให้เครื่องบินมีเวลาซ่อมบำรุงเพื่อให้โปรดักต์มีความสมบูรณ์และทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้น”

จ่อเพิ่มความถี่-เส้นทางบินใหม่สู่ “จีน-อินเดีย-ญี่ปุ่น”

ขณะเดียวกัน การบินไทยก็มีแผนนำเครื่องบินมาใช้สำหรับเพิ่มความถี่และเพิ่มเส้นทางบินใหม่ในภูมิภาคนี้ด้วย เนื่องจากเครื่องบินที่มีแผนรับมอบเข้ามาให้เป็นเครื่องสำหรับการบินระยะกลาง (Middle-haul Flight) พิสัยการบินประมาณ 6-7 ชั่วโมง อาทิ จีน ซึ่งปัจจุบันการบินไทยทำการบินอยู่แค่ 5 เมืองหลัก จากจำนวน 8-9 เมืองในช่วงก่อนโควิด

รวมถึงเพิ่มความถี่สู่อินเดีย ที่ปัจจุบันให้บริการอยู่จำนวน 9 เมือง รวมถึงเพิ่มความถี่และเพิ่มเส้นทางบินสู่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ การบินไทยจะพิจารณาเปิดเส้นทางสู่เมืองรอง และเลือกเปิดเส้นทางการบินในตลาดที่เป็นบลูโอเชี่ยนเป็นหลัก

นอกจากนี้ จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มพันธมิตรการบิน (โค้ดแชร์) ให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งสายการบินที่อยู่ในกลุ่มของ?สตาร์อัลไลแอนซ์และนอกกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์

ขณะที่ตลาดในประเทศและเส้นทางบินระยะใกล้ (Short-haul Flight) นั้น ปัจจุบันมีเครื่องบิน A320 อยู่จำนวน 20 ลำ และจะมีเครื่อง A321 ทยอยเข้ามาเสริมอีก 32 ลำ โดยจะทยอยเข้ามาตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป

โดยการบินไทยได้นำนโยบายการขายจากอินเตอร์คอนเข้ามาในประเทศมากขึ้น จากในอดีตที่เน้นการขายแบบ Point to Point ทำให้มีศักยภาพในการสร้างรายได้และไม่ต้องแย่งตลาดในประเทศมากนัก

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2568 นี้ การบินไทยจะมีจำนวนผู้โดยสารทั้งในประเทศและระหว่างประเทศรวมที่ 16.5 ล้านคน

พร้อมย้ำว่า การเดินทางของคนทั่วโลกยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะยังขาดแคลนเครื่องบิน (Capacity) แบบนี้ไปอีกอย่างน้อย 3-4 ปี เนื่องจากปัจจุบันบริษัทแอร์บัสและโบอิ้งผู้ผลิตเครื่องบิน 2 ค่ายใหญ่ มีออร์เดอร์สั่งผลิต (แบ็กล็อก) ทั่วโลกอยู่ในมือราว 15,000 ลำ ที่ต้องใช้เวลาส่งมอบไม่ต่ำกว่า 10 ปี

4/1/2568  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 4 มกราคม 2568 )

ช่องยูทูปของ iCONS