ครึ่งปีหลัง 2567 ได้เวลาอัพเดตแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมสู่เกาะสมุย ขยายประตูการท่องเที่ยว ตัวช่วยดึงเม็ดเงินเข้าเศรษฐกิจไทย
โดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะผู้บริหารกระทรวง ประกอบด้วย มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลกรมเจ้าท่า (จท.), ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดคมนาคม พร้อมผู้บริหารกระทรวงเพื่อไปติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาระบบการเดินทางบนเกาะสมุย หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา อดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เคยตรวจเยี่ยมพื้นที่มาแล้ว
ตัดถนนจตุรทิศผ่ากลางเกาะ
ทั้งนี้ เกาะสมุยเป็นเกาะขนาดใหญ่พื้นที่ 2.36 แสนตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับสมญานาม สวรรค์กลางอ่าวไทย เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ น้ำทะเลใสบริสุทธิ์ หาดทรายสวยงาม รวมถึงเสน่ห์ต้นมะพร้าวที่มีจำนวนมากเรียงรายตลอดแนวชายหาด
โดยปี 2566 มีนักท่องเที่ยว 3.5 ล้านคน แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวคนไทยและชาวต่างชาติ สัดส่วนครึ่ง/ครึ่ง สร้างเม็ดเงินรายได้มหาศาลให้กับพื้นที่ 6.08 หมื่นล้านบาท มีการคำนวณการใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25,739 บาทต่อหัว คนไทย 14,140 บาทต่อหัว
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
ทำให้สมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ รองจากเกาะภูเก็ต จึงเป็นเป้าหมายพัฒนาให้เป็นเดสติเนชั่นด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของไทย ตามกลยุทธ์รัฐบาลพรรคเพื่อไทย
สำหรับการแก้ปัญหาการจราจรบนเกาะสมุย รองนายกฯสุริยะ กล่าวว่า เบื้องต้นสั่งให้มีการพัฒนาถนนสายรอง เพื่อลดความแออัดของรถยนต์บนถนนรอบเกาะ ที่มีระยะทาง 52 กิโลเมตร
ปัญหารถติดเกาะสมุยเกิดจากจำนวนรถยนต์และโรงแรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้การจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะตามชุมชน การแก้ปัญหาการจราจรบนถนนรอบเกาะที่มี 2 ช่องจราจร สาย 4169-4170 ระยะ 52 กิโลเมตรนี้ มีแผนทำถนนผ่ากลางเกาะ เชื่อม 4 ทิศทั้งทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก
ปัจจุบันมีเส้นทางเดิมตามชุมชน เป็นพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงไม่ต้องเวนคืนหรือวางแนวเส้นทางถนนใหม่ ทำให้การดำเนินโครงการทำได้เร็วและใช้งบประมาณไม่มาก เริ่มพัฒนาได้ทันทีหลังผ่านกระบวนการศึกษาผลกระทบที่จะเริ่มปี 2569 เนื่องจากต้องรองบประมาณศึกษาโครงการ
ส่วนรูปแบบการพัฒนาถนนผ่ากลางเกาะสมุย เดิมเป็นถนนเลนเดียว หากพัฒนาให้เทียบเท่ามาตรฐานถนนกรมทางหลวงชนบท ต้องขยายเป็น 2 ช่องจราจร ขนาดเลนไป-กลับ 7 เมตร ขอบทางฝั่งละ 2 เมตร รวม 11 เมตร และทำแนวขอบทาง ติดป้ายจราจร เพิ่มสิ่งอำนวยความปลอดภัยต่าง ๆ
จากการศึกษาเบื้องต้น คาดว่าเส้นทางที่มีความเป็นไปได้สามารถดำเนินการได้ก่อน คือพัฒนาถนนแนวจากฝั่งตะวันออก ไปตะวันตกของเกาะสมุย ระยะทาง 17 กิโลเมตร ขณะที่โครงการทางพิเศษหรือทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย อยู่ขั้นตอนการศึกษาของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แต่จากการทำประชาพิจารณ์ เบื้องต้นชาวบ้านตอบรับเป็นอย่างดี ต้องการให้สร้างสะพานจากฝั่งมาเกาะสมุย ขั้นตอนจากนั้นต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และประเด็นอื่น ๆ อย่างละเอียด
หากไม่ติดปัญหาอะไร คาดว่าภายในปี 2570-2571 จะสามารถเริ่มกระบวนการสรรหาผู้รับเหมาออกแบบโครงการได้
เปิดแผนท่าเรือครุยส์ 1.2 หมื่นล้าน
นอกจากนี้ มีเมกะโปรเจ็กต์รัฐศึกษาโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณแหลมหินคม รองรับนักท่องเที่ยวปีละ 1.8 แสนคน รับเรือสำราญขนาดใหญ่ 120 เที่ยวต่อปี ใช้งบฯลงทุน 12,172 ล้านบาท
โดย รมช.มนพร กำกับดูแลกรมเจ้าท่า เปิดเผยความคืบหน้าว่า ครุยส์ เทอร์มินัลจะเป็นโอกาสส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกาะสมุย รองรับได้ทั้งเรือสำราญขนาดใหญ่ และการเดินทางด้วยเครื่องบินทะเล (ซีเพลน) ขณะนี้อยู่ขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงรับฟังเสียงประชาชน
เบื้องต้น กรมเจ้าท่าศึกษาและนำส่งผลศึกษาให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เรียบร้อย เชื่อว่าเมื่อรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เริ่มปฏิบัติหน้าที่ โครงการนี้จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ตามขั้นตอนจะมีการสรรหาบุคคลเข้ามาเป็นประธานโครงการ เพื่อพิจารณาเดินหน้าสรรหาเอกชนผู้ลงทุนในรูปแบบโครงการร่วมทุน PPP หรือโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐต่อไป
ไทม์ไลน์เดิมตามผลศึกษาความเป็นไปได้โครงการครุยส์ เทอร์มินัล นับจากเปิดไซต์ก่อสร้างซึ่งใช้เวลา 3 ปี คาดว่าจะสามารถเปิดบริการได้ปี 2574 บนพื้นที่ 13 ไร่ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวให้เกาะสมุยได้เป็นอย่างมาก
อนึ่ง นอกจากการลงทุนภาครัฐแล้ว ยังพบว่ามีแผนลงทุนพัฒนาสนามบินสมุยของเอกชน ที่ปัจจุบันรองรับเส้นทางการบินในและนอกประเทศ 11 เส้นทาง มี 50 เที่ยวบินต่อวัน แผนอนาคตกำลังจะเพิ่มศักยภาพให้รองรับได้ 73 เที่ยวบินต่อวัน และภายใน 1-3 ปีจะลงทุนปรับปรุงสนามบินให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนเกาะสมุย ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
4/9/2567 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 4 กันยายน 2567 )